ไม่พบผลการค้นหา
ปิดฉาก 9 ปี 4 รัฐบาล รถเมล์-รถไฟฟรี เปลี่ยนจากประชานิยมทุกคนเข้าถึง มาเป็นผู้ถือบัตรจนเท่านั้นถึงจะมีสิทธิใช้บริการ  ด้านนักวิชาการทีดีอาร์ไอชี้ รัฐช่วยเฉพาะกลุ่ม แต่ไปไม่ถึงพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ

ปิดฉาก 9 ปี 4 รัฐบาล รถเมล์-รถไฟฟรี เปลี่ยนจากประชานิยมทุกคนเข้าถึง มาเป็นผู้ถือบัตรจนเท่านั้นถึงจะมีสิทธิใช้บริการ  ด้านนักวิชาการทีดีอาร์ไอชี้ รัฐช่วยเฉพาะกลุ่ม แต่ไปไม่ถึงพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ

ปิดฉาก 9 ปี นโยบายรถเมล์-รถไฟฟรี  นับจากวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 ในยุคสมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีที่เสนอมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชน ที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า "6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน" หลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ หรือ แฮมเบอร์เกอร์ไครซิส ที่เกิดขึ้นกับสหรัฐฯ ในปี 2551

มาตรการ 6  ฟรีในยุคนั้น มีทั้ง ค่าน้ำค่า ไฟฟรี และก๊าซหุงต้มฟี แต่ทั้งหมดถูกยกเลิกไปแล้ว แต่มีเพียง นโยบาย รถเมล์ฟรี –รถไฟฟรี ที่อยู่นานที่สุดถึง 9 ปี   

นับจากรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช รัฐบาลถัดมายังดำเนินการต่อเนื่องไม่มีใครกล้ายกเลิก ไม่ว่าจะเป็น รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์, รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ   
มาถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กระทั่งรัฐบาลทหารของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังเดินหน้าต่อมาอีกหลายปี

ต่ออายุรถเมล์-รถไฟฟรีเกิน 13 ครั้ง

ตลอดระยะเวลา 9 ปีของมาตรการขึ้นรถเมล์-รถไฟฟรีมีความพยายามยกเลิกหลายครั้ง แต่ทำไม่ได้ ทำให้ทุกรัฐบาลต้องต่ออายุมาตรการนี้เกินกว่า 13  ครั้ง ซึ่งการต่ออายุในแต่ละครั้งพบว่ามีทั้งระยะ 6 เดือน 5 เดือน 4 เดือน 3 เดือน และน้อยที่สุดคือ 2 เดือน 

ครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2551-31 มกราคม 2552 รวม 6 เดือน มีผู้ได้รับประโยชน์รวม 90.07 ล้านคน ใช้เงินงบประมาณสนับสนุนทั้งสิ้น 1,706.57 ล้านบาท ครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552-31 กรกฎาคม 2552 รวม 6 เดือน มีผู้ได้รับประโยชน์ 92.81 ล้านคน  ใช้เงินงบประมาณสนับสนุน 1,712.27 ล้านบาท

ครั้งที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2552- 31 ธันวาคม 2552 รวม 5 เดือน มีผู้ได้ประโยชน์ 77.35 ล้านคน ใช้เงินสนับสนุนทั้งสิ้น 1,544.28 ล้านบาท

ครั้งที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553-31 มีนาคม 2553 รวม 3 เดือน มีผู้ได้ประโยชน์ 45.36 ล้านคน ใช้เงินสนับสนุน 855.44 ล้านบาท 

ครั้งที่ 5  ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553-30 มิถุนายน 2553 รวม 3 เดือน มีผู้ได้ประโยชน์ 43.52 ล้านคน ใช้เงินสนับสนุน 878.34 ล้านบาท

ครั้งที่ 6 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2553-31 ธันวาคม 2553 รวม 6 เดือน มีผู้ได้ประโยชน์ 95.34 ล้านคน ใช้เงินสนับสนุน 1,768.27 ล้านบาท 

ครั้งที่ 7 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554-28 กุมภาพันธ์ 2554 รวม 2 เดือน มีผู้ได้ประโยชน์ 29.96 ล้านคน ใช้เงินสนับสนุน 590.64 ล้านบาท 

ครั้งที่ 8 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554-30 มิถุนายน 2554 รวม 4 เดือน มีผู้ได้ประโยชน์ 61.71 ล้านคน ใช้เงินสนับสนุน 1,260.05 ล้านบาท

ครั้งที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554-15 มกราคม 2555 รวม 6.5 เดือน มีผู้ได้ประโยชน์ 88.43 ล้านคน ใช้เงินสนับสนุนทั้งสิ้น 1,838.54 ล้านบาท 

ครั้งที่10 ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555-30 เมษายน 2555 รวม 3.5 เดือน มีผู้ได้ประโยชน์ทั้งสิ้น 54.77 ล้านคน ใช้เงินสนับสนุน 1,349.16 ล้านบาท 

ครั้งที่ 11 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2555-30 กันยายน 2555 รวม 5 เดือน มีผู้ได้รับประโยชน์ 73.22 ล้านคน ใช้เงินสนับสนุน 1,574.64 ล้านบาท 

ครั้งที่ 12 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555-31 มีนาคม 2556 รวม 6 เดือน มีผู้ได้ประโยชน์ 70.87 ล้านคน ใช้เงินสนับสนุน 1,946.67 ล้านบาท 

ครั้งที่ 13 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556-30 กันยายน 2556 รวม 6 เดือน มีผู้ได้รับประโยชน์ 68.20 ล้านคน ใช้เงินสนับสนุน 1,907.41 ล้านบาท

ครั้งที่ 14 รัฐบาลประยุทธ์  จันทร์โอชา มีมติต่ออายุมาตรการขึ้นรถเมล์-รถไฟฟรีออกไปอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์-31 กรกฎาคม 2558

รวมแล้วรัฐบาลใช้เงินสนับสนุนไปแล้วกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมอีก 4 ระยะที่ต่ออายุมาอีก 6 เดือน 3 ครั้ง และ 3 เดือน 3 ครั้ง หากประมาณคร่าวๆ น่าจะเป็นการใช้เงินอีกกว่า 6,000 ล้านบาท และคาดว่ามีผู้ได้ประโยชน์อีกกว่า 250 ล้านคน โดยสรุปแล้ว รัฐบาลปิดฉากโครงการนี้ด้วยการใช้เงินไปมากกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท และมีผู้ได้ประโยชน์ไปกว่า 1,140 ล้านคน

เปิดฉากใหม่บัตรคนจนนั่งรถเมล์ - รถไฟ

หลังปิดฉากนั่งรถเมล์-รถไฟ ฟรี วันนี้ (1 พ.ย.)ถือเป็นวันแรกที่ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 จำนวน 11.4 ล้านคน โดยครั้งนี้รัฐควักเงินทั้งสิ้น 41,940 ล้านบาท
ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม จะสามารถใช้บัตรสวัสดิการฯ ในการเดินทางด้วยรถเมล์ ขสมก. และรถไฟ เดือนละ 500 บาท ความพร้อมในการใช้ พบว่า สถานีรถไฟทุกแห่งทั่วประเทศ ติดตั้งเครื่องรูดบัตรอัตโนมัติ หรือ EDC (อีดีซี) เรียบร้อยแล้ว  

ส่วนรถเมล์ติดตั้งเครื่้อง EDCจำนวน 800 คัน พร้อมรับบัตรสวัสดิการฯ เช่นกัน โดยมีรถเมล์ร้อน 100 คัน ติดตั้งระบบ E-Ticket สมบูรณ์แล้ว อีก 250 คัน จะใช้ระบบสมาร์ทโฟน ให้ใช้บัตรแตะ ที่เหลือ 450 คัน จะใช้วิธีจดบันทึกด้วยพนักงาน โดยข้างรถจะติดสติกเกอร์สีเขียว ระบุว่า "รถคันนี้รองรับระบบ E-Ticket และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ"  

 

ทีดีอาร์ไอ ชี้กระจายงบแก้ไม่ถูกจุด

การยกเลิกนโยบาย รถเมล์-รถไฟฟรี แล้วเปลี่ยนมาใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แตกต่างจากเดิมมากน้อยแค่ไหน คุ้มค่าหรื อไม่

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ยกเลิกนโยบายรถเมลล์ –รถไฟฟรี เนื่องจากใช้มานานกว่า 9 ปี แต่มีคำถามมาตลอดว่าฟรีเพื่ออะไร และคุ้มหรือไม่ เพราะในต่างประเทศการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการบริการรถสาธารณะ แบ่งออกเป็น 2 วัตถุประสงค์ คือการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อย เช่น ผู้สูงอายุ นักเรียน ผู้พิการ และเพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการสาธารณะ โดยในต่างประเทศจะสนับสนุนเพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งมวลชนจำนวนมาก เช่นในแถบยุโรป รัฐจะช่วยประมาณ 40 % ของค่าบริการรถสาธารณะ

ทั้งนี้ที่ผ่านมาประเทศไทยดำเนินการนโยบายรถเมล์-รถไฟฟรี แบบกระจายประชาชนทุกกลุ่มใช้บริการได้ แต่ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนทำให้งบประมาณที่ใช้ไปจำนวนมากไม่ได้ส่งผลให้เกิดการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ดีเพียงพอ "ผมอยากให้เลิกนโยบายรถเมล์ฟรี และรถไฟฟรีมาตั้งนานแล้วครับเพราะเป็นนโยบายที่มีจุดอ่อนมากในเรื่องความคุ้มของงบประมาณที่ดำเนินการไป"

การเปลี่ยนจากรถเมล์-รถไฟฟรี มาเป็นใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ดร.สุเมธ มองว่าได้ตามวัตถุประสงค์แรกคือการสนับสนุนเฉพาะกลุ่ม ซึ่งจะมีความชัดเจนว่าคนที่ถือบัตรสวัสดิการจึงจะสามารถใช้บริการได้จากเดิมที่คนทุกกลุ่มใช้บริการได้ทั้งหมด

แต่อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐเพื่อจูงใจให้เกิดการพัฒนารถสาธารณะและประชาชนหันมาใช้ขนส่งมวลมากขึ้นยังมีความจำเป็น โดยควรจะมีงบประมาณ พัฒนาควบคู่ไปกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog