ไม่พบผลการค้นหา
รวมบทเพลงทีถ่ายทอดถึงความรักและความจงรักภักดีต่อในหลวงรัชกาลที่9 ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 จนถึง 26 ตุลาคม 2560

นับจากวันสวรรคตเมื่อปีที่แล้วมีกิจกรรมทำเพื่อพ่อเกิดขึ้นมากมาย ในหมู่แวดวงบันเทิงเอง หนึ่งในกิจกรรมที่เกิดขึ้นบ่อยๆ คือ การประพันธ์เพลงถวาย จากการเก็บข้อมูลชุดนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 จนถึง 26 ตุลาคม 2560 พบว่ามี “เพลงเฉลิมพระเกียรติหลังการสวรรคต” ถูกประพันธ์ขึ้นร่วม 300 เพลง ขณะนี้อยู่ระหว่างการสังเคราะห์ข้อมูลก่อนเลือกประเด็นสำคัญมาทยอยเขียนเล่าสรุป ในโอกาสต่อไป  

ในจำนวนร่วมสามร้อยเพลงที่ถูกประพันธ์ขึ้น นี่คือ 10 อันดับเพลงเฉลิมพระเกียรติหลังสวรรคตที่ถูกเปิดฟังบ่อยที่สุด

1. เล่าสู่หลานฟัง –(Ver.ต่าย อรทัย ดู 16,456,123 ครั้ง) (Ver.สลา คุณวุฒิ ดู 9,251,230 ครั้ง) (Ver.รวมศิลปินหญิง ศิริพร อำไพพงษ์ , ต่าย อรทัย , หญิงลี ศรีจุมพล , ตั๊กแตน ชลดา , รัชนก ศรีโลพันธุ์ , เปาวลี พรพิมล , ดอกอ้อ ทุ่งทอง , ข้าวทิพย์ ธิดาดิน เวอร์ชั่น 1 ดู 5,135,378 ครั้ง) (Ver.ป๊อปปี้ ปรัชญาลักษณ์ ดู 3,932,770 ครั้ง) (Ver.ไม้เมือง ดู 3,080,707 ครั้ง)

2. พระราชาในนิทาน – เสถียรธรรมสถาน (ดู 24,820,006 ครั้ง)

3.พ่อภูมิพล – คาราบาว (ดู 15,504,099 ครั้ง)

4.ฟ้าร้องไห้ – ศิลปินลูกทุ่ง (ดู 10,258,112 ครั้ง)

5.เหตุผลของพ่อ – ธงไชย แมคอินไตย์ (ดู 9,823,879 ครั้ง)

6.รักพ่อ...ไม่มีวันพอเพียง – RS (ดู 8,481,491 ครั้ง)

7. ลูกขอสัญญา –   Big Ass | ตูน Bodyslam | เมธี Labanoon | Vietrio (ดู 8,274,279 ครั้ง) 

8.ยามเย็น - วิโอเลต วอเทียร์ Ost.พรจากฟ้า (ดู 7,003,479 ครั้ง)

9.ลำภูไทด้วยหัวใจที่ฮักพ่อ – ไมค์ทองคำหมอลำฝังเพชรดู (6,450,029 ครั้ง)

10.เรื่องเล่าของพ่อ – ไหมไทย หัวใจศิลป์ดู (ดู 4,981,577 ครั้ง)

“เล่าสู่หลานฟัง” เป็นผลงานการประพันธ์ของครูเพลงนักปั้นชื่อดัง “สลา คุณวุฒิ” ชื่อชั้นของสลา คือชื่อชั้นของนักประพันธ์ลูกทุ่งและหมอลำที่มีเครือข่ายในวงการเป็นจํานวนมาก เพราะนอกจากเขาจะนั่งเป็นผู้บริหารแกรมมี่โกล ก็ยังนั่งเป็นกรรมการในอีกหลายรายการ เช่น ชิงช้าสวรรค์,ไมค์ทองคํา,ไมค์ทองคําหมอลําฟังเพชร หลังการสวรรคต เมื่อสลาแต่งเพลงนี้และร้องไกด์เสร็จสิ้น เขาได้ชวนลูกศิษย์ของเขาจำนวนมาก ทั้งจากในค่าย และในรายการต่างๆ มาร่วมกันขับร้องเพลงนี้ รวมแล้วเป็นจำนวนหลายสิบเวอร์ชั่น นี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เพลงนี้ได้รับความนิยม เพราะมันถูกขับร้องด้วยศิลปินชื่อดังเท่าที่มีในวงการลูกทุ่ง

เล่าสู่หลานฟังมียอดวิวรวมกัน เฉพาะสี่เวอร์ชั่นยอดนิยมกว่า 36 ล้านวิว จุดเด่นของเพลงอยู่ที่ “การเล่าเรื่องแบบชาวบ้าน สื่อแทนความรู้สึกของชาวบ้าน”  เพลงดังกล่าวถ่ายทอดเรื่องเล่า ของลุงกับหลานคู่หนึ่ง ลุงที่ได้เห็นในหลวงทรงทำงานหนักเพื่อคนไทย ลุงน้ำตาไหลเมื่อรู้ว่าในหลวงสวรรคตแล้ว และหลานที่สงสัยว่า ลุงของเขาร้องไห้เพราะอะไร ?      

คำตอบของลุงถูกเล่าอยู่ในเพลง ลุงที่ “ชาตินี้เกิดมาก็ท่องคําว่า ทรงพระเจริญ แม่พ่อพาเอิ้น พระเจ้าอยู่หัว กราบไหว้ เด้อหล่า” ลุงซึ่งมีปฏิกิริยาต่อการสวรรคตว่า “เช็ด น้ําตาบ่ทัน จั๊กสิบอกหลานว่าจั่งใด๋ ตั้งแต่ในหลวงจากไป หัวใจก็จุกน้ําตา” เนื้อเพลงยังย้ำถึงการทำความดีตอบแทนในหลวงว่า “เล่าสู่หลานฟังบอกรักดังๆ ด้วยการทําดี รักพ่อแบบนี้ ช่วยดึงใจพาไทยข้ามผ่าน ที่ในหลวงท่านทรงห่วงใย คืออยากให้คนไทยรักกัน หากเรารักพระองค์ท่าน ก็ต้องช่วยกันตามรอยความดี”

“พระราชาในนิทาน” อำนวยการผลิตโดย “เสถียรธรรมสถาน” ขับร้องโดย “เด็ก” เพราะตั้งใจที่จะให้ “เป็นบทเพลงที่เด็กไทยทั่วโลกได้ร้องเพื่อแทนความรู้สึกของตัวเองที่ส่งไปถึงพระองค์ ได้ระลึกถึงพระองค์” จุดเด่นในเพลงนี้ อยู่ที่เนื้อเพลงซึ่งเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างของพระราชาในนิทาน และพระราชาของคนไทย เช่น “เขาบอกพระราชา ที่อยู่ในนิทาน จะใส่มงกุฎอันแสนสวยงาม แต่ว่าราชาของฉัน เวลาออกไปทำงาน มีเพียงหมวกเล็กๆ แค่หนึ่งใบ...เขาบอกพระราชา นั่งอยู่บนบังลังก์ ใส่เสื้อคลุมหนัง บนยอดปราสาทเสียดฟ้าแต่ว่าราชาของฉัน ทรงเดินอยู่บนผืนหญ้า เก้าอี้ของพระราชาคือพื้นดิน”

    

ในโอกาสสำคัญนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ยังร่วมกับ “เสถียรธรรมสถาน” จัดทำเพลงที่เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อีกจำนวน 4 บทเพลง/4 ภูมิภาค เช่น เพลง “งานของป้อ” (ภาคเหนือ), “สี่น้ำ สามรส” (ภาคใต้), “อีสานยิ้ม” (ภาคอีสาน), “ที่เห็นและเป็นอยู่” (ภาคกลาง)

“พ่อภูมิพล” ขับร้อง ประพันธ์คำร้องและทำนองโดย “ยืนยง โอภากุล” (แอ๊ด คาราบาว) ศิลปินที่มีผลงานการประพันธ์เพลงเฉลิมพระเกียรติมากที่สุดคนหนึ่งของไทย หนึ่งในเพลงที่เป็นหมุดหมายสำคัญของคาราบาวคือ “ผู้ปิดทองหลังพระ” เพลงซึ่งถ่ายทอดพระนามเต็มของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยในหลวง ร.9 ทรงมีรับสั่งหลังฟังเพลงนี้ว่า “แอ๊ด คาราบาว เก่งมากที่เอาชื่อเราใส่เป็นเนื้อเพลงได้”     

สำหรับพ่อภูมิพล ตัวเนื้อเพลงเน้นเล่าเรื่องพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนา และใช้คำเรียกในหลวง ร.9 ด้วยคำที่หลากหลายเช่น  “พ่อเจ้าอยู่หัว” “พ่อภูมิพล” “จอมกษัตริย์นักปราชญ์  ผู้หยาดเหงื่อหลั่งรดโลมดิน”   

 

เมื่อใกล้พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แอ๊ด คาราบาว ได้ร่วมกับ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ประพันธ์บทเพลงเฉลิมพระเกียรติขึ้นอีกสองเพลง โดยแอ๊ดรับหน้าที่ประพันธ์ทำนอง และ ว.วชิรเมธี รับหน้าที่เขียนกวีนิพนธ์(คำร้อง) ได้แก่ เพลง “คืนสู่สวรรค์” และ เพลง“พ่อผู้เป็นนิรันดร์”  แอ๊ดยังได้ประพันธ์คำร้องและทำนองเพิ่มอีกหนึ่งเพลง คือ เพลง “พระราชาโพธิสัตว์” โดยเปรียบในหลวง ร.9 เปรียบเสมือนพระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร ซึ่งบำเพ็ญเพียร “มาเพื่อดับทุกข์โศก บนแผนที่ประเทศไทย” จากบทเพลงแรกหลังการสวรรคต จนถึงเพลงล่าสุด แอ๊ด คาราบาวได้เปลี่ยนสถานะของในหลวง ร.9 อย่างน่าสนใจ

“ฟ้าร้องไห้” เป็นผลงานการผลิตของ เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนต์ ร่วมกับ ชลธี ธารทอง ศิลปินแห่งชาติ โดย ชลธี ซึ่งนั่งเป็นกรรมการให้รายการชิงช้าสวรรค์ที่เวิร์คพอยท์เป็นผู้ผลิตมาอย่างยาวนาน รับหน้าที่ประพันธ์เนื้อร้องและทำนอง เพลงนี้มีจุดเด่นอยู่ที่การระดมพลศิลปินชั้นครู เช่น แม่ผ่องศรี วรนุช, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ, ชินกร ไกรลาศ, สดใส รุ่งโพธิ์ทอง, สุนารี ราชสีมา, สุรชาติ สมบัติเจริญ, มนต์สิทธิ์ คำสร้อย, ดาว มยุรี, ศิรินทรา นิยากร และยังโดดเด่นในแง่การบรรยายถึงความเศร้า ทุกข์ระทมของคนไทย "แล้วพ่อก็จากลูกไป จากไปไม่เอ่ยคำลา แม้ทำใจเอาไว้ล่วงหน้า ถึงเวลากลั้นน้ำตาไม่ไหว เสียงครวญคร่ำไปทั่วขวานทอง ความหม่นหมองครอบคลุมอยู่ทั่วไทย แม้แต่ฟ้าก็ยังร้องไห้ เหมือนรู้ใจคนไทยอาลัยอาวรณ์”   

 

เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนต์ เป็นหนึ่งในองค์กรที่ผลิตเพลงเฉลิมพระเกียรติหลังการสวรรคตมากที่สุดองค์กรหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น การผลิตเพลง “บทเพลงของพ่อ”  ซึ่งมี “บุรินทร์ บุญวิสุทธิ์” รับหน้าที่เป็น Executive Producer และร่วมขับร้องโดยศิลปินชั้นนำของไทยกว่า 20 ชีวิต ,การผลิตซ้ำเพลง “ความฝันอันสูงสุด”  โดยการผลิตเพลงดังกล่าว เป็นแนวคิดของ “ประภาส ชลศรานนท์” ที่ต้องการเห็นศิลปินเด็กจากรายการต่างๆรวม 12 คน ที่เวิร์คพอยท์เป็นผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นรายการไมค์ทองคำเด็ก, ละครเวทีนิทานหิ่งห้อย และ The Voice Kid มาร่วมร้องเพลงกับ ศิลปินเพลงปลุกใจ "สันติ ลุนเพ่” คลิปดังกล่าวตั้งชื่อคลิปด้วยการเรียนสันติ ว่า “คุณตาสันติ” ไม่บ่อยครั้งนักที่เพลงความฝันอันสูงสุด จะถูกขับร้องโดยศิลปินเด็ก ทั้งหมดนี้คงเป็นแนวคิดที่ต้องการให้เห็นการสืบสานปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 9      

การผลิตเพลง “ลำภูไทด้วยหัวใจที่ฮักพ่อ”  เพลงดังกล่าวเป็นการอาศัยทรัพยากรบุคคลจากรายการ ไมค์ทองคำหมอลำฝังเพชร ที่เวิร์คพอยท์เป็นผู้ผลิตรายการ มาร่วมจัดทำ เช่น “สลา คุณวุฒิ” รับหน้าที่ประพันธ์คำร้องและทำนอง ขณะที่ “แม่บานเย็น รากแก่น”, “อึ๊ด โปงลาง” และ “ตุ๊กกี้ สุดารัตน์” รับหน้าที่ขับร้อง

“เหตุผลของพ่อ” เผยแพร่ในวันที่ 11 ตุลาคม 2559 หรือก่อนการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพียงสองวัน เดิมทีเพลงดังกล่าว บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน) ประพันธ์ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสทรงครองราชย์ครบ 70 ปี แต่แล้วเพลงดังกล่าวก็ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ในฐานะ “เพลงเฉลิมพระเกียรติเพลงสุดท้ายก่อนการสวรรคต” เพลงนี้ขับร้องโดยศิลปินที่มีผลงานการขับร้องเพลงเฉลิมพระเกียรติมากที่สุดคนหนึ่งของไทย “เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์”     

เหตุผลของพ่อ ได้รับแรงบัลดาลใจจากเหตุการณ์จริง เมื่อ 19 สิงหาคม 2489 ในวันนั้นท่ามกลางพสกนิกรชาวไทยจำนวนมากที่มาส่งเสด็จในหลวง ร.9  กลับไปทรงศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์ มีประชาชนคนหนึ่งตะโกนขึ้นมาว่า “ในหลวง อย่าละทิ้งประชาชน”      

เหตุผลของพ่อ เริ่มต้นท่อนแรกด้วยประโยคเดียวกันนี้ “ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน มีบางคนตะโกนบอกพ่อวันนั้น” เพลงนี้ยังยกย่องการครองราชย์ตลอด 70 ปี ว่าเป็น “70 ปี พ่อไม่เคยทิ้งประชาชน 70 ปี ที่พ่อทำงานมานานหนักหนา 70 ปี ที่ลูกสำนึกตลอดมา เป็นบุญหนักหนาที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย” และแม้พระราชาจะเป็นสถานะที่สถิตย์อยู่ในที่สูง แต่ก็ได้ยินเสียงความเดือดเนื้อร้อนใจของคนเล็กคนน้อยอยู่เสมอ “เสียงเล็กเล็กของประชาชน สำหรับใครหลายคนคงไม่มีความหมาย แต่ใครกันที่ได้ยิน แต่ใครกันที่เข้าใจ คิดถึงพ่อทีไรก็ตื้นตันใจทุกที” เพลงนี้บอกเล่าถึงชุดความสัมพันธ์ และระยะห่างของความสัมพันธ์ระหว่างในหลวง ร.9 กับ คนไทยได้เป็นอย่างดี      

คนไทยคุ้นกันว่า เพลงเฉลิมพระเกียรติที่เบิร์ดร้อง มักถูกประพันธ์โดย “ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค” แต่ในเพลงนี้ ประพันธ์คำร้อง/ทำนองโดย  “กมลศักดิ์  สุนทานนท์” และ “ปิติ  ลิ้มเจริญ”  ซึ่งเคยฝากผลงานไว้ในเพลง “พระราชาผู้ทรงธรรม” เพลงซึ่งโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เลือกใช้เปิดเป็นเพลงแรกหลังการอ่านแถลงการณ์สำนักพระราชวัง เรื่องการเสด็จสวรรคต เมื่อปีที่แล้ว เพลงนี้ยกเอา พระปฐมบรมราชโองการบรรจุลงในเพลง “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม คือถ้อยคำที่พระองค์ทรงให้ไว้” ในหลวงทำเพื่อคนไทยด้วย “ธรรมะของพระราชา” ทรงเป็น “นิยามแห่งความดี” และทรงเป็น “ราชาผู้ทรงธรรม”      

สัปดาห์หน้า เราจะมาทำความรู้จักกับอีก 5 อันดับเพลงเฉลิมพระเกียรติหลังการสวรรคตที่เหลือ ....

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog