ไม่พบผลการค้นหา
เปิดหลักฐานหักล้างความเชื่อเดิม ‘ลอยกระทง’ ไม่ได้เริ่มสมัยสุโขทัย ชมภาพสลักนูนต่ำในปราสาทบายน นครธม กัมพูชา เก่าแก่กว่าสุโขทัยนับร้อยปี

เปิดหลักฐานหักล้างความเชื่อเดิม ‘ลอยกระทง’ ไม่ได้เริ่มสมัยสุโขทัย ชมภาพสลักนูนต่ำในปราสาทบายน นครธม กัมพูชา เก่าแก่กว่าสุโขทัยนับร้อยปี

 

 

ภาพปราสาทบายน ส่วนหนึ่งระหว่างเดินทางกับ อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในงานตามรอย จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิด นักเขียน นักปฏิวัติ จากบ้านหนองกุง สกลนคร สยาม ประเทศไทย สู่อังกอร์ นครวัด นครธม ยโศธรปุระ กัมพุชเทศ 5-9 พ.ค.59 จัดขึ้นเพื่อเป็นมรณาณุสติ รำลึก 50 ปีการเสียชีวิตของ จิตร ภูมิศักดิ์ 2509-2559 (จิตร เกิดปี 2473 เสียชีวิตปี 2509) โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ 

 

 

ลอยกระทงปีนี้ ตรงกับวันที่ 3 พ.ย. 60 ลองมาดูภาพสลักนูนต่ำในกัมพูชาที่บอกเล่าเรื่องราวการลอยกระทง ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่าสมัยสุโขทัย สวนทางกับที่หลายคนเข้าใจว่าการลอยกระทงเริ่มมาแต่สมัยสุโขทัยโดยนางนพมาศ 

 


 
อ.ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี ให้สัมภาษณ์ Voice TV เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 60 ถึงภาพลอยกระทงที่ปรากฏในปราสาทบายน นครธม ว่า ภาพดังกล่าวเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์เก่าแก่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่บันทึกถึงประเพณีการลอยกระทง ในขณะที่ตามความเชื่อของไทยเชื่อว่าประเพณีลอยกระทงมีมาแต่สมัยสุโขทัย แต่ความจริงปราสาทบายนสร้างในราว พ.ศ.1750 คือก่อนสุโขทัยเป็นร้อยปี ดังนั้น คำอธิบายว่า นางนพมาศ หรือ "ท้าวศรีจุฬาลักษณ์" เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นมาจึงเป็นความเชื่อที่สมควรถูกยกเลิกได้แล้ว แม้แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเองก็เคยตั้งข้อสังเกตว่า นางนพมาศน่าจะถูกแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 

 

อ.ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
 

สำหรับตำแหน่งภาพลอยกระทงที่ปรากฏในปราสาทบายน จะอยู่ตรงระเบียงคต ชั้นนอกสุดของปราสาท ซึ่งจุดนั้นจะเล่าเรื่องสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อยู่ร่วมกับฉากสงครามระหว่างเขมรกับจาม ระหว่างมีภาพต่างๆ ในสงคราม ก็มีฉากนางสนม นางใน มาลอยกระทง 

 

 

“การลอยกระทงเป็นประเพณีที่มีอยู่ทั่วไป รวมถึงพม่า เขมร จีน ขณะที่ตำนานลอยกระทงของไทยเป็นคำอธิบายที่ค่อนข้างใหม่ เพราะไทยบอกว่า ลอยเพื่อขอขมาเจ้าแม่คงคา ส่วนเขมรบอกว่าลอยกระทงเพื่อบูชาดวงจันทร์ ซึ่งสัมพันธ์กับน้ำขึ้นน้ำลงในช่วงน้ำหลาก ส่วนที่ลาวก็มีประเพณีแข่งเรือช่วงลอยกระทง จะเห็นได้ว่า ประเพณีเหล่านี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะสัมพันธ์กับกับช่วงน้ำหลาก เป็นพิธีเชิงสัญลักษณ์ในการจัดการน้ำ เป็นการระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพื่อรองรับการเกษตร เช่นเดียวกับพิธีโล้ชิงช้าก็เป็นการใช้ลมมาไล่น้ำเช่นกัน” อ.ศิริพจน์กล่าว

 

ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ


ผู้ช่วยศาสตราจารย์อัครพงษ์ ค่ำคูณ ผู้อำนวยการหลักสูตรไทยศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงภาพลอยกระทงที่ปรากฏในปราสาทบายนว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพสลักนูนต่ำ อยู่ที่ผนังระเบียงคตด้านทิศใต้ ฝั่งตะวันออกของปราสาทบายน เป็นรูปสลักของสตรีหลายคนนั่งเรียงรายกันอยู่ และในมือของสตรีแต่ละคนกำลังถือสิ่งของคล้ายภาชนะใส่ของ มีการประดับด้วยอะไรบางอย่างที่ดูแล้วคล้ายใบไม้ทั้งด้านบนและด้านล่าง ทำให้ตีความได้ว่าอาจจะเป็นสิ่งที่คนไทยเรียกว่า “กระทง” 

 

 

ในรูปสลักนี้ หากพิจารณาดูให้ดี จะพบว่าสิ่งของที่สตรีแต่ละคนถืออยู่ในระดับอกนั้นมีขนาดใหญ่พอสมควรหากเปรียบเทียบกับช่วงแขนของคนที่ถือ 

 

 

ในรูปแสดงกิริยาท่าทางของสตรีกำลังยก “กระทง” ขึ้นจบที่หัว เหมือนกำลังจะอธิษฐานอะไรบางอย่าง และหากพิจารณารูปภาพเรียงลำดับการเคลื่อนไหวของภาพสลัก ก็จะพบว่า เมื่อมองจากทางขวาไปซ้ายจะเป็นภาพที่เล่าเรื่องต่อกัน กล่าวคือ ถือกระทง ยกกระทงขึ้นจบที่หัว แล้วก็ลอยกระทงนั้นลงในน้ำ ดังนั้น การตีความในเบื้องต้นที่ว่า เป็นภาพสลักนูนต่ำเล่าเรื่องการลอยกระทง ก็อาจจะไม่ผิดไปจากสิ่งที่เห็นในภาพนี้

 

 

จะว่าไปแล้วคำว่า “กระทง” ที่ใช้กันอยู่ในภาษาไทยก็เป็นคำยืมมาจากภาษาแขมร์ว่า “กอนโตง (กนฺโทง / ขฺทง่)” แปลว่า ภาชนะใส่อาหารทำจากใบตอง ดังนั้น ประเพณีการลอยกระทงก็เป็นการ “เลือกรับปรับใช้” ทางวัฒนธรรมระหว่างกันและกันในภูมิภาคอุษาคเนย์ 

 

 

จริงๆ แล้ว ในช่วงเวลาที่ทางไทยเรามีประเพณีลอยกระทง ทางกัมพูชาเองก็มีประเพณี “บุญอมโตก” หรือ บุญแข่งเรือ ด้วย และทางแขมร์กรอมแถวสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงมีการลอยกระทง โดยใช้คำว่า “บอนแดดประทีป” มีการ “ดุดเพลิง” หรือ “อุจเพลิง” ก็คือ เผาเทียนเล่นไฟนั้นแหละครับ ดังนั้น ภาพสลักของปราสาทบายนที่เห็นนี้จึงเป็นหลักฐานว่าประเพณีลอยกระทงมีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หรือ ก่อนสมัยสุโขทัยประมาณร้อยปี 

 

 

“หากเราอยากจะเชื่อว่า ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือ นางนพมาศ เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นเป็นคนแรกในอาณาจักรสุโขทัย ก็อาจจะต้องอาศัยการตีความอย่างใช้จินตนาการว่า พระนางคงจะเคยไปศึกษาดูงานการทำกระทงที่อาณาจักรพระนครมาก่อน จึงนำเอาการประดิษฐ์กระทงเข้ามาในอาณาจักรสุโขทัย” ผศ.อัครพงษ์ กล่าวติดตลก   

 

 

ผศ.อัครพงษ์ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า ไม่ว่าใครจะมีลอยกระทงก่อนหรือลอยกระทงหลังก็ไม่น่าจะเป็นประเด็นใหญ่ เพราะ สิ่งสำคัญคือต้องพิจารณาให้เห็นให้ได้ว่าเมื่อเรามีการจัดงานประเพณีลอยพระทงขึ้นมาแล้วเรามีความรู้ มีวิชาอะไรมากขึ้นหรือไม่ เราจะเพิ่มพูน “วุฒิภาวะทางวัฒนธรรม” ได้หรือไม่ เพราะไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดก็ตาม ก็ควรสร้างความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชนชาติตนเองได้ โดยมีความเข้าใจทั้งชนชาติตนเองและคนอื่น “เรารักชาติเพราะชาติน่ารัก” 

 

 

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog