ไม่พบผลการค้นหา
ชาวเมียนมาเดินขบวนครั้งใหญ่ในนครย่างกุ้งเพื่อสนับสนุนกองทัพเมียนมา หลังถูกประชาคมโลกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเรื่องการใช้กำลังล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นกระแสที่สวนทางกับความหวาดกลัวกองทัพในสมัยที่รัฐบาลเผด็จการทหารยังปกครองประเทศ

ชาวเมียนมาเดินขบวนครั้งใหญ่ในนครย่างกุ้งเพื่อสนับสนุนกองทัพเมียนมา หลังถูกประชาคมโลกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเรื่องการใช้กำลังล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นกระแสที่สวนทางกับความหวาดกลัวกองทัพในสมัยที่รัฐบาลเผด็จการทหารยังปกครองประเทศ

กลุ่มชาวพุทธ พระสงฆ์ และผู้มีแนวคิดชาตินิยมราว 2,000 คน เดินขบวนครั้งใหญ่ในนครย่างกุ้งของเมียนมา เมื่อวานนี้ (29 ตุลาคม) เพื่อแสดงพลังสนับสนุนพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและกองทัพเมียนมา ซึ่งถูกโจมตีอย่างหนักจากสหประชาชาติ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และตุรกีรวมถึงองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรณีกองทัพใช้กำลังล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมา จนทำให้ชาวโรฮิงญากว่า 600,000 คนลี้ภัยข้ามฝั่งไปยังชายแดนบังกลาเทศตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา

สำนักข่าวดอยช์เวลล์ของเยอรมนีเผยแพร่บทสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมเดินขบวนในครั้งนี้ โดยส่วนใหญ่ระบุว่ากองทัพมีความสำคัญต่อประเทศ เพราะเป็นผู้ปกป้องกลุ่มชาติพันธุ์ เผ่าพันธุ์ และศาสนา พร้อมทั้งระบุว่า ชาวมุสลิมโรฮิงญาไม่ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมของเมียนมา

ดอยช์เวลล์รายงานว่ากระแสความนิยมของกองทัพเมียนมากำลังมีความเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ขัดแย้งกับช่วง 50 ปีก่อนหน้านี้ที่เมียนมายังปกครองในระบอบเผด็จการทหาร เพราะในช่วงดังกล่าว กองทัพถือเป็นสถาบันที่ผู้คนหวาดกลัวมากที่สุด และความไม่พอใจในกองทัพทำให้พรรคการเมืองที่ก่อตั้งโดยรัฐบาลทหารเมียนมาพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2015 และพรรคเอ็นแอลดีของนางอองซานซูจี สัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเมียนมา สามารถเอาชนะการเลือกตั้งได้อย่างถล่มทลาย และจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้นได้เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี

ด้านลอตเต ลีทช์ ผู้อำนวยการองค์กรระหว่างประเทศด้านการปกป้องสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำสหภาพยุโรป เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์ วิจารณ์การเดินขบวนสนับสนุนพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายและกองทัพเมียนมา โดยระบุว่ามินอ่องหล่ายคือผู้ที่จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำอันโหดร้ายทารุณและการล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษรายงานว่าผู้สื่อข่าวชาวต่างชาติ 2 คน ได้แก่ ชาวมาเลเซียและชาวสิงคโปร์ ซึ่งทำงานให้กับสำนักข่าว TRT ของตุรกี พร้อมด้วยผู้สื่อข่าวและล่ามชาวเมียนมาอีก 2 คน ถูกตำรวจเมียนมาจับกุมที่กรุงเนปิดอว์เมื่อวานนี้ เนื่องจากมีการใช้โดรนบินถ่ายภาพทางอากาศใกล้กับอาคารรัฐสภาโดยไม่ได้ขออนุญาต และทั้งหมดจะถูกควบคุมตัวเพื่อรอการพิจารณาคดีในชั้นศาล หากถูกตัดสินว่าผิดจริงอาจถูกลงโทษจำคุก ซึ่งมีบทลงโทษสูงสุด 3 ปี

ผู้บริหารของทีอาร์ทีระบุว่ากำลังเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐบาลเมียนมาเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกจับกุมทั้งหมด ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของเมียนมาได้ประสานกับสถานทูตมาเลเซียและสถานทูตสิงคโปร์ในประเทศ เพื่อแจ้งข่าวที่พลเรือนของทั้งสองประเทศถูกควบคุมตัว

ทั้งนี้ ความรุนแรงในรัฐยะไข่ระลอกใหม่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม หลังจากที่กองกำลังกู้ชาติโรฮิงญาอาระกัน (ARSA) นำกำลังโจมตีด่านตรวจ สถานีตำรวจ และค่ายทหารรวมกว่า 30 จุดในเมืองหม่องดอว์ของรัฐยะไข่ ทำให้กองทัพเมียนมาตอบโต้กลับ โดยมีการนำกำลังกวาดล้างจับกุมชาวโรฮิงญาในพื้นที่ต่างๆ ของรัฐยะไข่ในฐานะผู้ต้องสงสัยว่าร่วมมือกับกลุ่มก่อเหตุ และเจ้าหน้าที่ยังเพิกเฉยต่อกรณีที่ชาวพุทธสุดโต่งบางกลุ่มนำกำลังเผาบ้านเรือนและขับไล่ชาวโรฮิงญาออกจากพื้นที่

เจ้าหน้าที่ขององค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุว่าการใช้กำลังกวาดล้างชาวโรฮิงญาโดยไม่เลือกเป้าหมาย รวมถึงการปล่อยให้มีการใช้ความรุนแรงกับชาวโรฮิงญาโดยไม่ห้ามปรามหรือจับกุมผู้ก่อความรุนแรง ถือเป็นความพยายามล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาออกจากพื้นที่ และนายอันโตนิอู กูแตร์รีช เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้กล่าวเอาไว้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่คือการล้างเผ่าพันธุ์ และไม่อาจหาคำอื่นมาเรียกแทนได้

ก่อนหน้านี้ พุทธณี กางกั้น นักวิจัยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนโรฮิงญา จากกลุ่ม Fortify Rights ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ทำวิจัยและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชาวโรฮิงญา ระบุว่าโรฮิงญาเคยถูกยอมรับว่าเป็นหนึ่งใน 140 กลุ่มชาติพันธุ์ของเมียนมามาก่อน จนกระทั่งปี 1982 อดีตรัฐบาลเนวินของเมียนมาได้มีคำสั่งยกเลิกการรับรองกลุ่มชาติพันธุ์ไป 5 กลุ่ม จนเหลือเพียง 135 กลุ่ม และโรฮิงญาเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ถูกตัดออกไป

การไม่ยอมรับการดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญาว่าเป็นส่วนหนึ่งของเมียนมา ทำให้ชาวโรฮิงญาไม่ได้รับสถานะพลเมือง จึงถูกจำกัดพื้นที่ ไม่สามารถเดินทางออกนอกภูมิลำเนาได้ และไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิหรือสวัสดิการในด้านต่างๆ เหมือนพลเมืองเมียนมาที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ทั้งยังมีเหตุขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาวพุทธและชาวโรฮิงญาครั้งใหญ่ในปี 2012 ทำให้เกิดการปะทะ จลาจล และโจมตีกันอย่างรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตและผู้ที่ต้องอพยพลี้ภัยไปยังบังกลาเทศเป็นจำนวนมาก

หลังจากปี 2012 สถานการณ์ในรัฐยะไข่ยังตึงเครียด เพราะกลุ่มชาวพุทธสุดโต่งและชาวมุสลิมที่ใช้กำลังต่อสู้มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ทำให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายในพื้นที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด จนกระทั่งเกิดเหตุรุนแรงรอบใหม่เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา และนางอองซานซูจี ซึ่งเป็นผู้นำพรรครัฐบาลพลเรือนชุดปัจจุบัน ถูกวิจารณ์จากสหประชาชาติและผู้ที่เคยรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งระบุว่านางซูจีควรแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงกับกลุ่มโรฮิงญา และต้องแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในรัฐยะไข่โดยไม่เลือกปฏิบัติ

เรียบเรียงโดย ตติกานต์ เดชชพงศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog