ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาด้วยพระองค์เอง 33 ครั้ง และพระราชทานรัฐธรรมนูญจำนวน 16 ฉบับ
รัฐธรรมนูญนับเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญยิ่ง เป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการบริหารประเทศ นับตั้งแต่ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อปีพุทธศักราช 2475 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในการปกครองประเทศในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงลงพระปรมาภิไธยและพระราชทาน มี 16 ฉบับ
- จัดเป็นพระราชพิธี 2 ฉบับ
1.ฉบับ พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495
2.ฉบับ พ.ศ. 2511
- ทรงลงพระปรมาภิไธยและพระราชทาน แต่มิได้จัดเป็นพระราชพิธี 12 ฉบับ
1.ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502
2.ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2515
3.ฉบับ พ.ศ.2517
4.ฉบับ พ.ศ.2519
5.ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520
6.ฉบับ พ.ศ.2521
7.ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2534
8.ฉบับ พ.ศ.2534
9.ฉบับ พ.ศ.2540
10.ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549
11.ฉบับ พ.ศ.2550
12.ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557
- ประกาศใช้ในพระปรมาภิไธย ร.9 โดยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 2 ฉบับ
1.ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2490 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร) ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นผู้ลงพระนามในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490
2.ฉบับ พ.ศ.2492 คณะอภิรัฐมนตรีในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จำนวน 5 คน เป็นผู้ลงพระนามและลงนามในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2492
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับรัฐสภา
พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่เกี่ยวเนื่องด้วยรัฐสภาโดยตรง ตั้งแต่การพระราชทานรัฐธรรมนูญอันเป็นพระราชประเพณีสืบต่อมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 กระทั่งรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมสภาที่เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานและพระราชทานพระราชดำรัสเปิดประชุมสภา ที่เป็นเสมือนคำแนะนำและเตือนสติให้สมาชิกสภาทำหน้าที่อันสำคัญต่อประชาชนให้สมบูรณ์พร้อม
รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา
ภายหลังจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งสมาชิกเพื่อทำหน้าที่ของรัฐสภาจะมีการเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรกการประชุมในครั้งแรกนี้ถือเป็นพิธีการที่มีความสำคัญยิ่งของรัฐสภา เนื่องจากพระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมา ทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไปครั้งแรกด้วยพระองค์เอง(หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทน พระองค์) เป็นรัฐพิธีที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณของประเทศไทยที่มีการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย
ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงประกอบรัฐพิธี เปิดประชุมรัฐสภาด้วยพระองค์เองมีทั้งหมด 33 ครั้ง
พระราชดำรัสพิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2493 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในพิธีเปิดประชุมรัฐสภา สมัยประชุมวิสามัญ ความว่า
"ท่านทั้งหลายคงจะตระหนักใจอยู่ว่า เหตุการณ์ของโลกกำลังอยู่ในระยะอันจะผันแปรไปสู่ทางร้ายหรือทางดีก็หามีผู้ใดอาจพยากรณ์ได้ไม่ เท่าที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้มีการขัดแย้งกันในทางลัทธิการเมือง แม้ใกล้ประเทศเรานี้เองก็ถึงกับประหัตประหารกันด้วยอาวุธ ด้วยมีความเห็นแตกแยกกัน สถานการณ์เช่นนี้ย่อมจะก่อให้เกิดความวิตกอยู่บ้างว่าจะเป็นการกระทบกระเทือนถึงประเทศไทยเพียงใด แต่ข้าพเจ้ามีความพอใจที่เห็นประเทศชาติของเรายังสามารถรักษาความสงบสุขไว้ได้ดี"
ขณะที่พระราชดำรัสพิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งสุดท้ายในรัชสมัย รัชกาลที่ 9 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2548 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ความว่า
"การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคราวนี้ ประชาชนต่างตระหนักถึงความสำคัญของการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เพื่อให้การปกครองประเทศดำเนินเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ต่อแต่นี้ไป จึงเป็นภาระและความรับผิดชอบโดยตรงของท่านทั้งหลาย ที่จะต้องร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติหน้าที่โดยเต็มกำลังความสามารถ ให้งานของแผ่นดินดำเนินก้าวหน้าไปโดยถูกต้อง เที่ยงตรง และบังเกิดผลที่พึงประสงค์ทุกด้าน ดังนั้น เรื่องราวและปัญหาใดๆ ที่เข้ามาสู่สภาแห่งนี้ จึงควรจะได้พิจารณาปรึกษาตกลงกันด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความสามัคคีปรองดอง และด้วยความสุจริตบริสุทธิ์ใจ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นเป้าหมายสูงสุด ขออวยพรให้การดำเนินงานของรัฐสภาเป็นไปโดยเรียบร้อย ปราศจากอุปสรรคทั้งปวง บรรลุผลสำเร็จอันดีงามตามวัตถุประสงค์ทุกอย่าง ทั้งขอให้ทุกคนที่มาประชุมร่วมกันอยู่ ณ ที่นี้ มีความสุขสวัสดีทุกเมื่อไป"
อ้างอิง ภาพ - ข้อมูล จากสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร