ว่ากันว่าหมอเลี้ยบเป็น 1 ในมันสมองของทักษิณ เป็นคนวางนโยบายฝ่ายก้าวหน้าที่ช่วยสร้างความเท่าเทียมให้สังคม หมอเลี้ยบเข้าสู่เส้นทางการเมือง ในปี 2544 สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยรับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงสาธารณสุข ปีถัดมาย้ายไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสืื่อสาร และเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในช่วงก่อนรัฐประหาร 2549
หลังรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ชนะเลือกตั้งในปี 2551 หมอเลี้ยบเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน หมอเลี้ยบหายไปจากการเมืองไทย
ทว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้ประชาชนรู้จักหมอเลี้ยบดีคงหนีไม่พ้น นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ได้ทำหน้าที่โอบอุ้มชีวิตคนไทยกว่า 50 ล้านคนมาตลอด 15 ปี นโยบายนี้ได้เปลี่ยนวิธีคิดจากส่วนบุญในระบบสังคมสงเคราะห์ จากสินค้าในระบบตลาด มาเป็นสิทธิของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ที่สำคัญ นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยังคอยย้ำให้สังคมไทยเห็นว่า ประเทศไทยสามารถปฏิรูปเรื่องยาก ๆ ได้สำเร็จภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
Voice TV ชวนหมอเลี้ยบมาคุยเรื่องหนังสือที่เป็นแรงบันดาลใจ สาบานได้ว่าบทสัมภาษณ์ต่อจากนี้มีแต่เรื่องหนังสือ จริงจริ๊ง(เสียงสูง)
ความฝันในวัยเด็ก
“หนังสือคือแรงบันดาลใจในแต่ละช่วงของชีวิต มันค่อย ๆ หล่อเลี้ยงเรา ค่อย ๆ ก่อรูปเรา จนเราเป็นเรา เช่นทุกวันนี้” เป็นประโยคแรกที่หมอเลี้ยบกล่าว
หมอเลี้ยบเป็นคนนครสวรรค์ เขาจำได้ว่าร้านหนังสือที่นครสวรรค์เมื่อ 50 ปีที่แล้วมีเพียงสองร้าน ส่วนใหญ่จะขายแมกกาซีนและนิตยสาร ส่วนหนังสือเล่มแทบจะไม่มี
“ในช่วงวัยเด็ก มีอยู่สองเล่มที่ผมจำได้จนถึงทุกวันนี้คือ วารสารเด็กก้าวหน้า กับ วารสารวีรธรรม”
“เด็กก้าวหน้าจะเป็นสไตล์แบบไทย ๆ มีการ์ตูนที่วาดโดยนักเขียนการ์ตูนไทยรุ่นแรก ๆ อย่างยอดมนุษย์ ที่พูดถึงเรื่องมนุษย์อวกาศ และการพิทักษ์โลก ส่วนวีรธรรมจะเป็นแบบสากล แปลมาจากของฝรั่ง เช่น Flash Gordon ที่พูดถึงการเดินทางระหว่างดวงดาว การต่อสู้ระหว่างอธรรมกับธรรมะ มันเป็นความฝันของเด็ก ๆ มันเป็นแรงบันดาลใจในเรื่องความกล้าหาญ รักพวกพ้อง ผดุงคุณธรรม”
นครสวรรค์ กรุงเทพฯ และนิยายวิทยาศาสตร์
“โตขึ้นมาหน่อย ช่วงที่เรียนมัธยมต้น ผมเรียนที่โรงเรียนโชติรวี นครสวรรค์ ผมอ่าน ชัยพฤกษ์ เป็นนิตยสารเกี่ยวกับ การใช้ชีวิตของวัยรุ่น มีการเอาเพลงตะวันตกมาแปลเป็นคำกลอนภาษาไทย ทำให้เรียนรู้ภาษาอังกฤษจากเพลง และนอกจากชัยพฤกษ์ยังมี ชัยพฤกษ์ วิทยาศาสตร์ ที่เน้นเนื้อหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์”
ทั้งสองเล่มมี อนุช อาภาภิรม เป็นบรรณาธิการ ซึ่งถือได้ว่าเป็นนักคิด นักเขียน ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อวัยรุ่นในยุคนั้น
“ตอนม.ศ.4 - ม.ศ.5 ผมเรียนที่เตรียมอุดมศึกษา ที่พญาไท ผมอ่าน มิติที่ 4 นิยายเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ ที่เล่าเรื่องการเดินทางในกาลเวลา และต่อเนื่องมาถึงนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องยาวของไอแซค อาซิมอฟ” หมอว่าพลางมองดูโพยที่ถือติดมือมา
จันตรี ศิริบุญรอด คนทำหนังสือวิทยาศาสตร์-มหัศจรรย์ เป็นอีกคนที่หมอบอกว่าไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะเป็นบิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ไทย ซึ่งเป็นอีกคนที่จุดประกายไอเดียวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็กรุ่นหมอ
“ยุคนั้นมีความตื่นตัวเรื่องวิทยาศาสตร์สูงมาก นิยายวิทยาศาสตร์จึงเป็นรากฐานที่ทำให้นักเรียนยุคนั้นสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น ยุคที่ผมเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีการจัดงานวิทยาศาสตร์ มีกลุ่มของสวนกุหลาบ-เทพศิรินทร์ เขาจะจับกลุ่มกันจัดงานวิทยาศาสตร์สัมพันธ์ มีประกวดโครงการวิทยาศาสตร์”
Voice TV ถามว่าการที่วิทยาศาสตร์เฟื่องฟูในยุคนั้น เป็นเพราะเศรษฐกิจของไทยในช่วงนั้นกำลังพัฒนาด้วยหรือเปล่า
“จริง ๆ วันนี้เราต้องการวิทยาศาสตร์มากกว่ายุคนั้นอีกนะ” เป็นคำตอบพร้อมเสียงหัวเราะ
“แต่อาจเป็นเพราะนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลไม่ชัดเจน บวกกับสื่อมวลชนยุคนี้ที่ให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์น้อย”
พ็อกเก็ตบุ๊คที่วังบูรพา
“ผมมาเริ่มอ่านพ็อกเก็ตบุ๊คจริงๆจังๆ ก็ตอนเข้ากรุงเทพฯ ผมเริ่มสนใจวรรณกรรมจีน สามก๊กผมเคยอ่านหลายฉบับ แต่ที่ชอบมากคือ สามก๊ก ของยาขอบ เพราะยาขอบร้อยเรียงเรื่องราวของตัวละครออกมาได้อย่างครอบคลุม แล้วมีศิลปะในการนำเสนอ เวลาที่ผมต้องเขียนหนังสือก็จะพยายามเชื่อมโยงกับสิ่งที่ยาขอบเขียน สำนวนของยาขอบรุ่มรวย ภาษางดงามมาก”
หมอเลี้ยบเล่าชีวิตช่วงนั้นให้ฟัง พอถึงวันหยุดหมอจะชอบไปเดินแถววังบูรพาเพื่อเดินหาซื้อหนังสือ เมื่อก่อนวังบูรพาเป็นคลังความรู้ขนาดใหญ่ สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ในประเทศไทยจะอยู่ที่วังบูรพาหมด สนามหลวงก็เป็นอีกแหล่งที่หมอเลี้ยบชอบไปเดิน บริเวณหน้าศาลอาญา เมื่อก่อนจะมีซุ้ม หน้ากว้างสองเมตรคูณสองเมตร เหมือนป้อมอะไรสักอย่าง มีทั้งหนังสือใหม่ หนังสือเก่า เขาหยุดไปชั่วอึดใจ ก่อนจะพูดต่อไป
“...ก็เป็นวัฒนธรรมการอ่านที่ดีนะ แต่มันหายไปแล้ว เดี๋ยวนี้เราหาอ่านที่ไหนก็ได้”
อีกปัจจัยที่พอเข้ากรุงเทพฯ แล้วทำให้หมอได้อ่านหนังสือ คือ หอสมุดแห่งชาติ “ผมไปหอสมุดแห่งชาติเป็นประจำ มันเป็นแหล่งความรู้ของผมในยุคนั้น มันเป็นอีกจุดที่พัฒนาได้ช้ามากหากเทียบกับกาลเวลาที่ผ่านไป จริง ๆ มันทำอะไรได้มากกว่านี้ มันน่าจะไปได้ไกลกว่านี้”
หนังสือแปล และ แรงบันดาลใจ
“เราควรจะมีทีเคปาร์คทั่วประเทศ และไม่ใช่มีทีเคปาร์คอย่างเดียวแล้วจบ ควรจะมีที่อื่น ๆ ที่ร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น หรือร่วมมือกับเอกชน ผมว่าทุกห้างควรจะมีห้องสมุด”
ระยะหลังมีร้านกาแฟอย่าง Too Fast To Sleep ซึ่งเขามองว่าถ้าเอาหนังสือใส่ไปด้วย แล้วเวียนให้คนมานั่งอ่าน นอนอ่าน ตะแคงอ่าน เสร็จแล้วก็มีอาหารให้หาซื้อกินได้ น่าจะเป็นบรรยากาศที่ทำให้คนได้ใช้เวลาว่างนอกเหนือจากการไปศูนย์การค้า ไปดูหนัง ไปกินข้าว ถ้ามันกระจายไปทั่วกรุงเทพฯ สัก 20-30 แห่ง น่าจะเป็นการจุดไฟแห่งความฝันให้กับเด็กจำนวนไม่น้อย
“ผมมีหนังสือเล่มหนึ่งที่ชอบมาก” หมอพูดขึ้นมา “เอกภพ และ ดร.ไอน์สไตน์ เป็นตัวจุดประกายความชอบเรื่องวิทยาศาสตร์ของผม แปลโดยสภาวิจัยแห่งชาติ จัดพิมพ์ในราคาถูกมาก ขายโดยคุรุสภา เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยเห็นว่ามีหนังสือนอกเวลาของหน่วยงานรัฐที่ส่งเสริมให้มีการจัดพิมพ์ เราไม่ค่อยเห็นการจัดพิมพ์หนังสือแปลในราคาถูกให้คนได้อ่าน”
มีอะไรในนิยายจีน
“ดาบมังกรหยก ชอลิ้วเฮียง เล็กเซียวหงส์” หมอเลี้ยบร่ายรายชื่อนิยายกำลังภายในออกมา
“แน่นอนเล่มที่อยู่ในใจของผม คือ ฤทธิ์มีดสั้น ลักษณะการเขียนของโกวเล้งสะท้อนถึงปรัชญาชีวิตของนักสู้ที่ชืดชาต่อชื่อเสียง เก็บงำประกายของตน อ่อนน้อม แต่ในขณะเดียวกันก็มีฝีมือ สิ่งที่ผมได้จากฤทธิ์มีดสั้นคือ สนใจทำไมชื่อเสียง สนใจทำไมเรื่องคำสรรเสริญ คำนินทา เพราะสุดท้ายแล้วทั้งหมดอยู่ที่ตัวเรา อยู่ที่เราเป็นคนอย่างไร เรามีฝีมืออย่างไร แล้วเราจะทำสิ่งที่เราเชื่อให้ดีที่สุดได้อย่างไร เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมได้กลับไปอ่านอีกรอบหนึ่ง ก็ยังชอบ ได้มีโอกาสรื้อฟื้นถึงวันวานที่เคยอ่านครั้งแรก”
เพียงแต่อ่านรอบนี้ ความทรงจำคงเป็นอีกแบบ
14 ตุลา 2516 สังคมเปิด และประกายแห่งชีวิต
ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง
ฉันจึง มาหา ความหมาย
ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย
สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว
“ตอนผมอยู่เตรียมอุดม ม.ศ.5 (ม.6 ปัจจุบัน) เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 มันเปิดบรรยากาศใหม่ในสังคม มันจุดประกายการแสวงหาความหมายของชีวิต เราอยู่ไปทำไม เราจะใช้ชีวิตไปเพื่ออะไร ฉันจึงมาหาความหมาย ของ วิทยากร เชียงกูล จึงกลายเป็นหนังสือที่คนรุ่นผมได้อ่าน และบทกวี เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน ชิ้นนี้ จึงกลายเป็นบทกวีที่คนรุ่นผมท่องกันได้ขึ้นใจ”
คนหนุ่มแสวงหา
“รุ่นผมคือรุ่นที่เข้ามหาวิทยาลัยปี 2517 ตอนปี 3 คือ 6 ตุลา 2519 เราใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยด้วยการทำกิจกรรมนักศึกษามากกว่าการเรียน บรรยากาศประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในยุคนั้น ทำให้นักศึกษารู้สึกว่าต้องสนใจโลกภายนอกมากขึ้น” หมอเลี้ยบเล่าบรรยากาศช่วงนั้นให้ฟัง
“ช่วงนั้นมีหนังสือหลายเล่มที่ฝ่ายก้าวหน้าอ่านเรียนรู้กัน หนังสือ ชีวทัศน์เยาวชน เป็นแรงบันดาลใจให้ผมในการปฏิบัติตัว”
หมอเล่าว่าตอนนั้นทัศนคติของหมอมีสองด้าน ด้านหนึ่งคือโลกทัศน์ เรามองโลกอย่างไร โลกควรจะเป็นอย่างไร สังคมควรจะเป็นอย่างไร สังคมควรจะเป็นประชาธิปไตย เราจะต้องมีระบบเศรษฐกิจที่ทำให้คนมีโอกาสเท่าเทียมกัน ไม่เหลื่อมล้ำมากเกินไป
“อีกด้านคือชีวทัศน์ ในหนังสือพูดถึงเรื่องที่ว่า เราควรจะมีลักษณะของความคิดอย่างไร เราควรจะมีจิตใจแบบไหน เราควรจะมองปัญหาที่เข้ามาเผชิญเราอย่างไร ผมได้อ่านแล้วรู้สึกว่าอยากจะพัฒนาตัวเองไปให้ถึงจุดนั้น”
“เช่นคำพูดในเรื่องของงาน ให้เปรียบกับคนที่เขาทำได้ดีกว่า ในเรื่องของความเป็นอยู่ การใช้ชีวิต ให้เปรียบเทียบกับคนที่เขาด้อยกว่า ถึงวันนี้ผมก็ยังรู้สึกอย่างนั้นนะ ว่าเวลาเราทำอะไร ดูสิคนอื่นเขาทำงานทุ่มเท เสียสละ เอาจริงเอาจัง ทุ่มสุดตัวขนาดนี้ เราจะนั่งเฉย ๆ ได้ยังไง ขณะเดียวกันหากเราใช้ชีวิตแบบหายใจทิ้งไปวัน ๆ ใช้ชีวิตสบาย ๆ เราควรกลับไปดูไหมว่า คนที่เขาลำบากยังมีอีกเยอะนะ เขาต้องทำงานโดยไม่รู้อนาคตว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้ยังไง เขาจะอยู่ยังไง เราสามารถทำให้คนอื่นมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ไหม”
จากครรภ์มารดาถึงสถาบันหนังสือแห่งชาติ
“สันติประชาธรรม ของ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เล่มนี้ พูดถึงตัว อ.ป๋วย บทบาทการทำงาน และที่สำคัญคือพูดถึงความฝันของ อ.ป๋วย ข้อเขียน จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ได้กลายมาเป็นหลักไมล์ของผม เป็นความใฝ่ฝันที่อยากจะเห็นสังคมที่เราอยู่ มีหลักประกันแก่ทุกคนตั้งแต่เกิดจนถึงตาย ใฝ่ฝันอยากจะเห็นสังคมที่ให้โอกาส สังคมที่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างผาสุก”
จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน มีท่อนหนึ่งที่พูดถึงหนังสือ ใจความว่า - ในฐานะที่ผมเป็นมนุษย์ ผมก็ต้องการอ่านหนังสือพิมพ์ และหนังสืออื่น ๆ ที่ไม่แพงนัก
“เดี๋ยวนี้เข้าร้านหนังสือ แต่ละเล่มต้องยอมรับว่าแพง จะซื้อทีต้องคิดแล้วคิดอีกว่าควรจะซื้อไหม ซื้อไปจะได้อ่านไหม ทำไมมันต้องแพงขนาดนี้ มันต้องมีกระบวนการส่งเสริมใช่ไหม”
“ตอนผมเป็นนักศึกษาแพทย์ เราซื้อตำราแพทย์ที่พิมพ์จากอินเดีย ถูกกว่าตำราแพทย์ที่พิมพ์จากฝรั่ง 3 - 4 เท่าตัว ทำไมเขาพิมพ์ได้”
2544 ขณะที่หมอเลี้ยบเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข หมอได้อ่านบทสัมภาษณ์คุณมกุฏ อรฤดี เจ้าสำนักผีเสื้อ เกี่ยวกับการพัฒนากระบวนการอ่านหนังสือให้เป็นสถาบันหนังสือแห่งชาติ
“ผมชอบความฝันของคุณมกุฏ” หมอกล่าว
ปีถัดมา หมอย้ายมารับตำแห่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
“ผมเลยเข้าไปเจอคุณมกุฏ ผมบอกว่าผมอยากทำสถาบันหนังสือแห่งชาติ”
สถาบันหนังสือแห่งชาติ มองระบบการอ่านทั้งระบบ นับตั้งแต่ระบบห้องสมุด ทำอย่างไรให้มีห้องสมุดตามที่ต่าง ๆ ให้มากที่สุด การสร้างมาตรฐานการบริการ การสร้างเครือข่ายฐานข้อมูล ระบบยืมคืนด้วยบัตรประชาชน ระบบการทำหนังสือ ทำอย่างไรให้หนังสือไม่แพง ภาษีกระดาษ การสนับสนุนจากภาครัฐ ระบบการจัดพิมพ์หนังสือ ระบบสนับสนุนการแปลหนังสือ
“ตอนนั้นเราทำการบ้านกันพอสมควร มีการทำประชาพิจารณ์ เชิญนักเขียน นักอ่าน มานั่งพูดคุย ประจวบกับมีนโยบายเรื่องทีเคปาร์ค ก็เลยส่งมอบต่อให้ทีเคปาร์ค คุณมกุฏเข้าไปช่วยอยู่พักหนึ่ง แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง รวมทั้งเกิดการสะดุดทางการเมือง ที่เราคุยกันมาทั้งหมดมันเลยไม่เกิดอย่างเต็มที่ เกิดเป็นเพียงทีเคปาร์คที่เซ็นทรัลเวิลด์เท่านั้น”
หนังสือพุทธทาส
“ตอนอ่านครั้งแรกเหมือนตัวอักษรผ่านตา ถามว่าอ่าน ตัวกูของกู เข้าใจไหม … ไม่เข้าใจ ” หมอเลี้ยบสารภาพถึงครั้งแรกที่ได้อ่านความคิดท่านพุทธทาส
“ล่าสุด กลับไปอ่านเมื่อปีที่แล้ว เป็นช่วงที่เรารู้เลยว่า ถ้าเราปล่อยวางไม่ได้ เราจะทุกข์แน่ ๆ เขาถึงบอกว่าเมื่อเห็นทุกข์ถึงจะเห็นธรรม ถ้าไม่มีทุกข์เราก็ไม่เข้าใจธรรม”
สิงหาคม 2559 หมอเลี้ยบถูกตัดสินจำคุก 1 ปี ฐานแก้สัญญาสัมปทานไทยคมเอื้อประโยชน์ชินคอร์ป คำพิพากษาวันนั้นบอกว่า เขาทำให้รัฐเสียหาย
ย้อนกลับไปปี 2547 ชินคอร์ปขอแก้สัญญาสัมปทานลดสัดส่วนถือหุ้นไทยคมจาก 51% เหลือ 40% เพื่อระดมทุนยิงดาวเทียม หลังผ่านการหารือกับหลายฝ่าย หมอเลี้ยบในฐานะรัฐมนตรีไอซีทีทำหน้าที่ลงนาม การปรับสัดส่วนถือหุ้นครั้งนั้น ทำให้ดาวเทียมถูกส่งขึ้นฟ้า รัฐได้ค่าสัมปทาน ประชาชนได้ประโยชน์
นานวันเข้า ความเสียหายที่ว่า ไม่เคยเกิดขึ้นจริง
“ความไม่เข้าใจในตอนนั้น มาถึงตอนนี้เวลาและประสบการณ์มันจะสอนเราเอง” หมอเลี้ยบเล่าถึงตัวกูของกู
ทักษะชีวิตช่วงบ่ายแก่ ๆ
“หนังสือธรรมะ ไม่เพียงเรียนรู้โลกเท่านั้น แต่เรียนรู้ตัวเองและจุดหมายสุดท้ายที่เราควรจะมี”
“พอคนอายุ 50 - 60 ก็จะหันมาสนใจธรรมะมากขึ้น ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องเห่อตามกัน แต่ว่ามันเป็นการตกผลึกของการใช้ชีวิตที่ผ่านมา”
“พุทธธรรม ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประยุทธ์ ปยุตฺโต ท่านประยุทธ์ จัดระบบความคิดทั้งหมดของพระพุทธองค์ออกมาเป็นหนังสือ เหมือนกับทำตำราเล่มใหญ่เล่มหนึ่งเกี่ยวกับชีวิตของเรา ชีวิตคืออะไร ชีวิตเกิดมาทำไม ชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร เราจะใช้ชีวิตอย่างนี้ไปได้ถึงจุดไหน ไปอย่างไร ทั้งหมดนี้เหมือนกับคู่มือของชีวิตที่ถ้าอ่านอย่างให้เวลาวิเคราะห์ มันจะทำให้เราเข้าใจสารัตถะของชีวิตได้ดี”
“เดี๋ยวคุณอายุ 50 - 60 คุณจะสนใจเอง เพราะคนเรามักจะอ่านหนังสือเพื่อแสวงหาคำตอบให้กับตัวเอง ผมถึงวัยนี้ ผมก็สนใจทักษะการใช้ชีวิตในช่วงบ่ายแก่ ๆ (หัวเราะ)”
สาบานได้เราคุยกันเรื่องหนังสือ: คุณปลื้ม อ่านอะไร