ไม่พบผลการค้นหา
หลังอยู่คู่สถาบันปรีดี พนมยงค์ มานาน 10 ปี โรงละครพระจันทร์เสี้ยวของพระจันทร์เสี้ยวการละคร จำต้องย้ายออก พร้อมกับอีกสองโรงละครในเดือนนี้ สะท้อนถึงความถดถอยของชุมชนศิลปะการแสดงในไทย

หลังอยู่คู่สถาบันปรีดี พนมยงค์ มานาน 10 ปี โรงละครพระจันทร์เสี้ยวของพระจันทร์เสี้ยวการละคร จำต้องย้ายออก พร้อมกับอีกสองโรงละครในเดือนนี้ สะท้อนถึงความถดถอยของชุมชนศิลปะการแสดงในไทย

แม้ย่านทองหล่อ ในซอยสุขุมวิท 55 จะคึกคักด้วยร้านอาหารและแหล่งท่องเที่ยวยามค่ำคืน แต่ถนนที่ทอดยาวกว่าสามกิโลเมตรในซอยนี้ยังถือเป็นพื้นที่สำคัญของชุมชนศิลปะการแสดงในไทย เพราะมีโรงละครและพื้นที่สร้างสรรค์กว่าห้าแห่งในย่านนี้

น่าเสียดายที่ภาพนั้นกลับกลายเป็นอดีต เมื่อ Syrup The Space ที่อาคารลิเบอร์ตี้พลาซ่า ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วได้ปิดตัวลงในเดือนกรกฎาคมด้วยเหตุผลทางธุรกิจ ตามด้วยการปิดปรับปรุงของสถาบันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งส่งผลให้ละครโรงเล็กถึงสามแห่งที่ตั้งอยู่ภายในจำต้องปิดตัวในเดือนนี้ ไม่ว่าจะเป็น ละครโรงเล็ก Crescent Moon Space หรือโรงละครพระจันทร์เสี้ยว ที่เปิดแสดงครั้งแรกในปี 2550 รวมถึงห้องฝั่งตรงข้ามของบีฟลอร์ เธียเตอร์ ซึ่งอยู่เคียงคู่กันมาตั้งแต่ปี 2552 และ FoFo Hut ที่เปิดตัวในปี 2557

สมาชิกพระจันทร์เสี้ยวการละคร รวมถึงผู้ที่เคยร่วมงานและผูกพันกับโรงละครพระจันทร์เสี้ยวได้มารวมตัวอย่างอบอุ่น เพื่อบอกลาพื้นที่แห่งนี้เป็นครั้งสุดท้ายในวันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา
 

อยากให้เข้าใจว่ากลุ่มละครทางเลือก หรือละครโรงเล็กแบบเรา มันมีคุณค่าด้านอื่นที่ไม่ใช่เม็ดเงิน จำนวนผู้ชม มันมีคุณค่าตรงที่เราได้สื่อสารระหว่างมนุษย์กับมนุษย์


สินีนาฏ เกษประไพ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ ของพระจันทร์เสี้ยวการละคร

 

แม้ได้รับเลือกให้เป็นศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 2551 แต่สินีนาฏ เกษประไพ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ (Artistic Director) ของพระจันทร์เสี้ยวการละคร ต้องดิ้นรนเพื่อสิ่งที่รักไม่ต่างจากนักการละครทั่วไทย โดยสินีนาฏเล่าว่า ทราบนโยบายปิดปรับปรุงสถานที่เป็นเวลาหกเดือนเมื่อเดือนกรกฎาคม และตัดสินใจย้ายออกในเวลากระชั้นชิด จึงปิดตัวด้วยละคร ‘มนต์แห่งจันทรา’ ของ New Theatre Society และเวิร์กชอปการออกแบบแสงช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

“ตอนแรกก็ตั้งตัวไม่ทัน บอกได้ว่าน่าเสียดายมากกับสิ่งที่มันจะเกิดขึ้น แต่ไม่เกิด” สินีนาฏกล่าว

สำหรับคนในวงการศิลปะการแสดง การมีโรงละครถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนอกจากจะไม่ต้องเสียเงินเช่าพื้นที่แสดงแล้ว ยังทำให้คนละครมีที่ทางในการรวมตัวกันเพื่อพูดคุย ฝึกซ้อม และสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างอิสระ โดยสินีนาฏเล่าย้อนว่า เมื่อ 10 ปีก่อนแทบไม่มีโรงละครขนาดเล็กในไทย แต่คนในแวดวงหลายคนได้พยายามเปิดละครโรงเล็กขึ้นมาบ้าง แต่จำนวนไม่น้อยก็ต้องปิดตัวไปอย่างน่าเสียดาย ขณะที่พระจันทร์เสี้ยวการละครเริ่มใช้พื้นที่ห้อง 203 ของสถาบันปรีดี พนมยงค์ เพื่อใช้ประชุมและเตรียมงานตั้งแต่ปี 2541 ก่อนจะเปิดเป็นโรงละครอย่างเป็นทางการในปี 2550 โดยเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มละครมาใช้พื้นที่ได้อย่างเท่าเทียม

“นักทำละครก็ต้องมีที่แสดง มีที่ได้ฝึกฝน ฝึกซ้อม สร้างงาน กระบวนการพวกนี้พอเราไม่มีที่ มันก็ทำให้ยากลำบากมากขึ้น ทำให้ความต่อเนื่องในการสร้างงานน้อยลง การมีที่มันย่อมดี เราไม่ต้องโยกย้าย เรามีสมาธิ สามารถบริหารเวลาได้มากขึ้น การมีพื้นที่ช่วยให้คนรู้ว่าเราอยู่ตรงนี้ จะมาหาก็มาที่นี่ อีกเรื่องที่สำคัญคือ ค่าใช้จ่ายหรืองบประมาณที่เราเสียไปในการทำละครสักเรื่อง มันเสียไปเยอะมาก มากกว่าครึ่งหมดไปกับการเช่าโรงละคร มันขาดแคลนตรงนี้ เราขาดแคลนกันมานานแล้ว ถึงจุดที่ว่าเราต้องมีห้องแล้ว ถึงจะเล็กมากก็ตาม” เธอกล่าว

ตลอดสิบปีของโรงละครพระจันทร์เสี้ยว มีการแสดงและละครที่เคยจัดแสดงทั้งหมด 116 เรื่อง นับเป็น 828 รอบ เฉลี่ยเดือนละเรื่อง มีเสวนาหลังละครจบ 59 ครั้ง นอกจากนั้นยังเป็นพื้นที่จัดเทศกาลมาแล้ว 11 ครั้ง ทำโปรเจกต์แลกเปลี่ยนกับต่างชาติ 2 ครั้ง โชว์เคส 29 ครั้ง เวิร์กชอป 55 ครั้ง และฉายหนัง 10 ครั้ง โดยคาดว่ามีผู้เข้ามาใช้พื้นที่โรงละครเฉลี่ยปีละประมาณ 4,000 คน

 

 

การมีพื้นที่ช่วยให้คณะละครสามารถสร้างสรรค์งานได้อย่างอิสระ และท้าทายความสามารถยิ่งขึ้นด้วยการทำโปรเจกต์ทดลองหลากหลาย เริ่มตั้งแต่การเปิดโรงละครด้วย ‘ผู้หญิงในดวงจันทร์: เทศกาลนักเขียนบทและผู้กำกับละครเวทีหญิง’ ซึ่งเน้นนำเสนอผลงานของนักทำละครหญิง และจัดอบรม เสวนา พูดคุยแลกเปลี่ยนไปพร้อมกัน นอกจากนั้นยังมีการจัดเทศกาล 10-Minute Play ที่เปิดให้ผู้ที่ไม่เคยเขียนบทได้จัดแสดงผลงานเป็นครั้งแรก และเทศกาลละคร 24 ชั่วโมง ที่ให้ผู้กำกับ คนเขียนบท และนักแสดง มารวมตัวกันทำละครและเปิดแสดงให้ได้ภายในหนึ่งวัน

“การมีโรงละครแบบนี้ทำให้ไม่ว่ารุ่นเก่า รุ่นกลาง รุ่นใหม่ หรือน้อง ๆ ที่ยังเรียนไม่จบ มันมีพื้นที่แสดงงานตัวเอง มีพื้นที่ให้ได้แสดงฝีมือ ได้ฝึกฝน ฝึกทักษะ” สินีนาฏอธิบาย “นาดเชื่อว่าตรงนี้มันขับเคลื่อน เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ชม เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทำละคร พอมีสเปซก็เป็นการขยายฐานผู้ชมมากขึ้น ถึงห้องจะเล็กมาก นั่งได้ 30 - 40 คน บางรอบอัดได้ 60 คน มันทำให้ผู้ชมเข้าใจหรือเห็นความแตกต่างที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นวิธีการเล่าเรื่อง เนื้อหา มันหลากหลายได้มากกว่าที่เขารับรู้ว่าละครเวทีต้องเล่นบนเวทีใหญ่อย่างเดียว แต่นี่ไม่ใช่ เล่นมุมไหนก็ได้ เล่นแบบผู้ชมมีส่วนร่วมก็ได้ เล่นแบบอยู่ระหว่างผู้ชมก็ได้ สำหรับนาดมันทำให้ทะลุขีดจำกัดไป”

พระจันทร์เสี้ยวการละคร เป็นคณะละครสะท้อนสังคมที่ก่อตั้งในปี 2518 โดยกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่สนใจด้านวรรณกรรม แม้สมาชิกต้องแยกย้ายหลังความรุนแรงในเดือนตุลาคม 2519 แต่หลังจากนั้นพระจันทร์เสี้ยวการละคร ซึ่งนำโดยคำรณ คุณะดิลก ได้สร้างสรรค์ผลงานที่น่าสนใจมากมาย รวมถึง ‘คือผู้อภิวัฒน์’ ที่นำเสนอชีวิตของปรีดี พนมยงค์ ในปี 2530 และนำมาแสดงอีกครั้งในปี 2538 ก่อนสินีนาฏจะนำมารีเสตจในปี 2553

ปัจจุบันพระจันทร์เสี้ยวการละครมีสมาชิกประจำประมาณ 12 คน และมีอาสาสมัครมาร่วมงานราว 10 คน แม้ละครโรงเล็กแห่งนี้ต้องปิดตัวลง แต่สมาชิกตั้งใจจะสร้างสรรค์ผลงานต่อไป พร้อมหาบ้านหลังใหม่ที่เหมาะสมต่อไป

“พวกเรายังมีแรง passion ยังไม่ได้เลิกทำละครไป แต่ความยากลำบากก็มากขึ้น การปรับตัวก็ต้องคิดหาที่ทางใหม่ เรียกว่าพเนจรร่อนเร่กันมากขึ้น ต้องฉีกข้อจำกัด มันมีข้อจำกัดใหม่ ๆ มา เราก็ต้องดิ้นไปกับมัน ทะลุข้อจำกัด ถือเป็นการเปิดประตูบานใหม่ เปิดข้อจำกัดใหม่” สินีนาฏกล่าวอย่างมีความหวัง
 

 

กว่า 20 ปีในวงการศิลปะการแสดง สินีนาฏเล่าว่า นักการละครต้องทำงานภายใต้ข้อจำกัดหลายอย่างและต้องยืนหยัดให้ได้ด้วยตัวเอง เพราะแทบไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากองค์กรใด

“อยากให้เข้าใจว่ากลุ่มละครทางเลือก หรือละครโรงเล็กแบบเรา มันมีคุณค่าด้านอื่นที่ไม่ใช่เม็ดเงิน จำนวนผู้ชม มันมีคุณค่าตรงที่เราได้สื่อสารระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ เราได้สื่อสารสิ่งที่อยู่ตรงหน้ากับคนที่อยู่ตรงหน้า เราได้สื่อสารความคิด ได้แลกเปลี่ยนความคิด ได้เห็นปูมหลังตัวละคร ได้เข้าใจวิธีการสร้างงาน นี่แหละค่ะ เป็นคุณค่าที่ทำให้เราเติบโตได้ กระบวนการละครแบบนี้นอกจากจัดแสดงแล้ว เรายังเอาไปทำเวิร์กชอป กิจกรรมศิลปะใดๆ ก็ตาม มันเป็นการเชป ขัดเกลา บ่มเพาะวิธีคิดแล้วส่งต่อกันด้วยการแลกเปลี่ยน นาดคิดว่ามีคุณค่าและอยากให้เห็นคุณค่าในแง่นี้เพิ่มขึ้น” เธอกล่าว

อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอีกคนที่ไปร่วมบอกลาโรงละครพระจันทร์เสี้ยว สถานที่ที่เขาเคยแวะเวียนในฐานะผู้ชมและนักแสดง โดยอรรถพลมองว่า พื้นที่การแสดงที่หายไปสะท้อนถึงการพัฒนาเมืองที่ขาดความใส่ใจมิติความเป็นมนุษย์

“หน้าที่ของศิลปินคือการสร้างงานศิลปะ แต่ตอนนี้เขาต้องมาบริหารจัดการ หาสเปซทำงาน ซึ่งจริง ๆ แล้วควรได้รับการอุ้มชูโดยรัฐ ทุกประเทศที่มีความก้าวหน้าของการพัฒนาเมืองให้ความสำคัญของพื้นที่สาธารณะเหล่านี้” อรรถพลกล่าว พร้อมเสริมว่าผู้ดูแลทั้งโรงละครพระจันทร์เสี้ยว และบีฟลอร์ เธียเตอร์ (จารุนันท์ พันธชาติ) ต่างเป็นศิลปินศิลปาธร ด้านศิลปะการแสดงที่กระทรวงวัฒนธรรมให้การยอมรับ แต่ทั้งสองโรงละครกลับต้องปิดตัวในเวลาไล่เลี่ยกัน “เราจะให้เมืองเราเติบโตมาเป็นเมืองที่เน้นแต่เรื่องการจับจ่ายใช้สอยอย่างนั้นหรืออย่างไร เพราะในมิติความเป็นมนุษย์ มันต้องการงานศิลปวัฒนธรรม และศิลปะก็เป็นเครื่องสะท้อน เป็นเครื่องเช็กสังคม เรามีคนทำงาน แต่คนทำงานไม่มีพื้นที่ทำงาน”

 


ปลดป้ายพระจันทร์เสี้ยวการละครออกจากห้องที่เคยอยู่มา 10 ปี


โรงละครของบีฟลอร์ เธียเตอร์ ที่ปิดตัวไปไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้า
 


สมาชิกพระจันทร์เสี้ยวการละคร รวมถึงผู้ที่เคยร่วมงานและผูกพันกับโรงละครพระจันทร์เสี้ยว มารวมตัวกันอำลาละครโรงเล็ก
 


คนละครร่วมถ่ายภาพที่สระน้ำ


ด้านหน้าของสถาบันปรีดี พนมยงค์

 

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog