ไม่พบผลการค้นหา
การตรวจสอบ ป.ป.ช. ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่และกรรมการเอง กลับเป็นไปได้ยาก-ยากที่สุด ซึ่งหากว่าในมุมของสื่อมวลชน ปัญหาสำคัญคือ “อุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูล”

แม้จะเป็นข่าวเล็กๆ ที่น้อยคนจะสนใจ เพราะเป็นเรื่องเชิงเทคนิคทางกฎหมาย แต่การที่ ป.ป.ช. คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน มาตรา 7 วรรคสาม ที่ให้อำนาจผู้ว่าฯ สตง. เข้ามาไต่สวนเบื้องต้น กรณีเห็นว่าเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ แล้วแจ้งต่อ ป.ป.ช. ให้ลงโทษ หากเห็นว่ามีมูลความผิด 

ซึ่งที่สุด คณะกรรมาธิการวิสามัญของ สนช. ก็เห็นคล้อยตาม ป.ป.ช. จึงมีมติ “ตัด” เนื้อหาในส่วนนี้ซึ่งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เขียนมา ออกไป

ก็ชวนให้เกิดคำถามในเชิงหลักการที่ว่า “แล้วใครจะตรวจสอบ องค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบคนอื่น” ?

แม้ท้ายที่สุด หลังการประชุม สนช. เมื่อวันที่ 19 ต.ค. มาราธอนกว่า 9 ชั่วโมง ที่มีการโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อน จะมีการนำเนื้อหานี้ใส่กลับเข้ามาใหม่ แต่ก็เพิ่มเงื่อนไขห้อยท้ายไว้ว่า “ให้ ป.ป.ช. สั่งผู้ว่าฯสตง. ยุติการไต่สวนนั้นได้ หากเห็นว่ากระทบกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.”

ในการประชุม สนช. ดังกล่าว นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ผู้เห็นด้วยกับการตัดเนื้อหาดังกล่าวออกไป อภิปรายว่า ป.ป.ช.ไม่ได้อยู่เหนือการตรวจสอบ ยังมีสิทธิถูกยื่นฟ้องต่อศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งที่ผ่านมามีการยื่นฟ้องไปแล้ว 25 คดี และ ป.ป.ช. เองก็เคยมีมติลงโทษเจ้าหน้าที่ระดับ 9 ด้วยการไล่ออก นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดโทษไว้เป็นสองเท่า หากละเว้นปฏิบัติหน้าที่ และยังสามารถยื่นให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบได้อีกทาง

หากพิจารณาคำพูดของนายกล้านรงค์ผ่านๆ เหมือนว่า ป.ป.ช.ยุคนี้จะสามารถตรวจสอบได้อยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติ การตรวจสอบ ป.ป.ช. ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่และกรรมการเอง กลับเป็นไปได้ยาก-ยากที่สุด ซึ่งหากว่าในมุมของสื่อมวลชน ปัญหาสำคัญคือ “อุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูล”

ที่ผ่านมา เคยมีสื่อฯ หลายแห่งใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ยื่นขอเหตุผลที่กรรมการ ป.ป.ช. มีมติ “ยกคำร้อง” คดีสำคัญหลายคดี ไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นทหารหรือพลเรือน เกี่ยวข้องกับรัฐบาลชุดนี้หรือชุดก่อนหน้า หรือเกี่ยวกับนักการเมืองหรือไม่ เช่น คดียื่นบัญชีทรัพย์สินของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา คดีการประมูลคลื่นมือถือ 3 จี คดีจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ คดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 ฯลฯ 

แต่ท้ายที่สุด ผลก็ออกมาคล้ายๆ กัน คือ ป.ป.ช.ปฏิเสธการให้ข้อมูลดังกล่าว อ้างว่าจะกระทบกับรูปคดี ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาเสียหาย หรือทำให้พยานได้รับอันตราย 

หรือดีที่สุดก็ให้เอกสารประชาสัมพันธ์ หรือ “ข่าวแจก” ที่ใช้เวลาแถลงข่าว ซึ่งไม่มีรายละเอียดใดๆ และสื่อฯ เองก็มีอยู่แล้ว

แน่นอนว่า เหตุผลที่ไม่เปิดเผยที่อ้างถึงความเสียหายของผู้ถูกกล่าวหา หรือความเสี่ยงของพยาน ก็พอจะฟังขึ้น แต่ก็เคยมีผู้เสนอว่า ถ้าเช่นนั้นใช้นามสมมุติ เช่น นาย ก. นาย ข. หรือป้ายดำปกปิดชื่อไว้ก็ได้ เพราะสิ่งที่สื่อฯ ต้องการจริงๆ คือ “เหตุผลในการยกคำร้อง” ของกรรมการ ป.ป.ช. ต่างหาก ทว่าข้อเสนอดังกล่าวก็ไม่ได้รับการตอบสนอง

เท่าที่สังเกต ผู้มีอำนาจในการตรวจสอบทุจริตบางคนจะมีทัศนคติเชิงลบต่อการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ของสื่อฯ ทั้งอ้างว่าเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน สร้างความลำบากให้เจ้าหน้าที่ ชี้นำผลของคดี ไปจนถึงทำให้ความลับรั่วไหล

แต่ในยุคที่คนพูดถึงเรื่องความโปร่งใส หน่วยงานที่ทำหน้าที่สร้างความโปร่งใส จะหลีกเลี่ยงการ “ทำเป็นตัวอย่าง” ด้วยการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ให้สาธารณชนรับทราบและตรวจสอบ ไปได้อย่างไร และที่บอกว่าตรวจสอบ ก็ไม่ใช่แค่จับผิดเท่านั้น ยังรวมถึงการหาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ที่สำคัญ หากวางกลไกดีๆ ก็อาจดึงพลังมวลชนเข้ามาช่วยหน่วยงานนั้นๆ ทำงานเสียด้วยซ้ำ

นั่นเป็นที่มาของคำว่า open data และ open government ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลกยุคปัจจุบัน และเป็นหนึ่งในเกณฑ์ประเมินดัชนีภาพลักษณ์ความโปร่งใสนานาชาติ หรือ CPI ซึ่งไทยตั้งเป็นเป้าในการพิสูจน์ว่า ประเทศนี้ใสสะอาดมากขึ้น

ไม่ว่าท้ายที่สุด ผู้ว่าฯสตง.จะได้ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.หรือไม่ หรือ ป.ป.ช.จะได้วางกลไกในการตรวจสอบตัวเองไว้อย่างรัดกุมแล้วจริงหรือเปล่า แต่ถ้าว่ากันตามตรงแล้ว อีกหนึ่งผู้ที่จะมาช่วยตรวจสอบการทำงานขององค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบผู้อื่นได้อย่างทรงประสิทธิภาพที่สุด ไม่น่าจะพ้น “ประชาชน” ที่มีตานับล้านๆ คู่คอยช่วยจับตาดู

ความดีไม่เกิดจากการยกยอตัวเองฉันใด ความโปร่งใสก็ไม่ได้เกิดจากการตรวจสอบกันเองฉันนั้น

มาเปิดข้อมูลกันให้มากขึ้นเถอะครับ นี่คือเสียงเรียกร้องไปยังหน่วยตรวจสอบทุจริตทั้งหลาย แล้วประชาชนจะช่วยตรวจสอบพวกคุณอีกทางหนึ่ง

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog