ไม่พบผลการค้นหา
จักษุแพทย์ ไม่ฟันธงเด็กเล่นสมาร์ทโฟน ไอแพดเป็นเวลานานแล้วตาเข เหตุไม่พบข้อมูลในไทยแต่เคยมีรายงานในเกาหลีใต้ 12 ราย ด้านหมอเด็กเตรียมร่วม7ค่ายมือถือออกข้อความเตือนผู้ปกครองไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า2ปีเล่นมือถือเพราะส่งผลพฤติกรรมผิดปกติไม่เติบโตตามวัย 

จักษุแพทย์ ไม่ฟันธงเด็กเล่นสมาร์ทโฟน ไอแพดเป็นเวลานานแล้วตาเข เหตุไม่พบข้อมูลในไทยแต่เคยมีรายงานในเกาหลีใต้ 12 ราย ด้านหมอเด็กเตรียมร่วม7ค่ายมือถือออกข้อความเตือนผู้ปกครองไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า2ปีเล่นมือถือเพราะส่งผลพฤติกรรมผิดปกติไม่เติบโตตามวัย 
 
หลังผู้ใช้เฟชบุ๊ก Fahsai Winnie โพสต์เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับ ‘น้องวินนี่’ ลูกสาววัยกำลังน่ารัก ซึ่งเล่นโทรศัพท์มือถือและไอแพดเป็นเวลานาน จนทำให้อาจทำลายกล้ามเนื้อตา ก่อนต้องเข้ารับการผ่าตัดดวงตา โดยฝากเป็นอุทาหรณ์ สำหรับผู้ปกครอง เพราะแสงจากโทรศัพท์ ภาพเคลื่อนไหวต่างๆ ทำลายกล้ามเนื้อหัวตา ทำให้เด็กๆ ตาเหล่ โดยไม่รู้ตัว ปล่อยไว้นานๆ เด็กๆ จะสูญเสียภาพ 3 มิติ บางคนอาจตาบอดได้ 
 
กองบรรณาธิการวอยซ์ทีวีออนไลน์ได้สัมภาษณ์ พ.อ.นพ.ยุทธพงษ์ อิ่มสุวรรณ เลขาธิการราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า อาการตาเขในเด็กจากการเล่นสมาร์ทโฟน ไอแพด สามารถเกิดขึ้นได้ แต่โอกาสเกิดขึ้นมีน้อยมาก เนื่องจากเกิดได้หลายสาเหตุ ได้แก่ โรคทางกรรมพันธุ์ กล้ามเนื้อตาผิดปกติ อาการทางสมอง เป็นต้น  
 
นอกจากนี้ในประเทศไทยยังไม่เคยมีข้อมูลใดออกมารับรองว่าการดูสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ จะทำให้เกิดอาการตาเขหรือผิดปกติต่อกล้ามเนื้อตาได้ 
 
ส่วนในต่างประเทศ พ.อ.นพ.ยุทธพงษ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยมีรายงานจากประเทศเกาหลีใต้ สำรวจตั้งแต่ปี 2009-2014 พบว่ามีเด็กอายุ 7-16 ปี เล่นสมาร์ทโฟนแล้วตาเขเข้าในเฉียบพลันเพียง 12 ราย ในจำนวนนี้ เล่นสมาร์ทโฟนเกิน 4 ชั่วโมงต่อวัน เป็นระยะเวลากว่า 4 เดือน ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ 
 
พ.อ.นพ.ยุทธพงษ์ กล่าวอีกว่า ไม่อยากให้ผู้ปกครองเกิดความตื่นตระหนกจากเคสดังกล่าว แต่การเล่นสมาร์ทโฟนของเด็กต้องอยู่ในระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน และในระหว่างดูควรหยุดพักสายตา เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อเกร็งเป็นเวลานาน หากผู้ปกครองพบว่าเด็กมีอาการตาเขให้รีบพามาพบจักษุแพทย์ เพื่อหาสาเหตุการเกิด และหาทางรักษา ซึ่งมีการรักษาทั้งที่ไม่ต้องผ่าตัด และผ่าตัด 
 
เช่นเดียวกับ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์' ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก กล่าวเช่นกันว่า ยังไม่แน่ใจว่าการผ่าตัดตาของน้องวินนี่เกิดจากผลการเล่นสมาร์ทโฟนและไอแพดเป็นเวลานานหรือไม่ ซึ่งเป็นได้ว่าน้องมีอาการตาเขอยู่แล้ว เมื่อเล่นสมาร์ทโฟนนานๆทำให้ไปซ้ำเติมปัญหาจนตาแย่ลง 

อย่างไรก็ตาม รศ.นพ.อดิศักดิ์ เห็นว่า การปล่อยให้เด็กเล็กเล่นสมาร์ทโฟน ไอแพด ไม่เป็นผลดีและมีปัญหาสำคัญที่ส่งผลให้พฤติกรรมผิดปกติในด้านอื่นๆจำนวนมากอยู่แล้ว โดยข้อมูลล่าสุดพบว่าเด็กเล็กที่สุดที่ผู้ปกครองปล่อยให้อยู่กับโทรศัพท์มีอายุเพียงแค่ 9 เดือน และส่งผลให้พฤติกรรมผิดปกติจนต้องได้รับการรักษา 

“ตอนนี้เราพบว่าเด็กแค่9 เดือนสามารถใช้นิ้วสไลด์โทรศัพท์มือถือเลือกเข้าไปดูการ์ตูนในช่องยูทูปได้เอง และนั่งเล่นโทรศัพท์ได้นานเกิน1ชั่วโมง ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมแน่นอน” 

ผลจากการเล่นโทรศัพท์มือถือ และไอแพดเป็นเวลานานๆ ทำให้เด็กเล็กมีพฤติกรรมผิดปกติตั้งแต่การพูดช้า แยกตัวออกมาไม่สบตาไม่สามารถเข้าสังคมกับเด็กวัยเดียวกันได้ มีปัญหาการสื่อสารแม้จะพูดภาษาอังกฤได้ แต่ได้เป็นคำๆไม่สามารถสื่อสารได้ และกระทบต่อการกิน การนอนมีปัญหา ส่งผลให้การเจริญเติบโตตามวัยผิดปกติ  
 
รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเ จ็บในเด็กได้ร่วมกับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)และ7 ค่ายมือออกสติงเกอร์รณรงค์ให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีใช้มือถือ และเด็กที่มีอายุ 2-5ปี ให้ดูมือถือได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง  
 
“ตอนนี้7ค่ายมือถือตอบรับแล้วที่จะนำเอาข้อความเตือนเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปีใช้มือถือ โดยจะฝังลงไปซิมมือถือ ทำให้ทุกครั้งที่เปิดเครื่องจะได้รับข้อความนี้เพื่อให้ผู้ปกครองตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมเด็กเล็ก”

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog