อดีตกษัตริย์นโรดม สีหนุ ผู้เสด็จสวรรคตเมื่อเช้าวันจันทร์(15ต.ค.55) ขณะมีพระชนมายุ 89 พรรษา ทรงก้าวจากวิถีชีวิตเยี่ยงเพลย์บอย กลายเป็นประมุขของกัมพูชา นำพาประเทศฝ่าวิกฤตหลายครั้ง
สมเด็จพระนโรดม สีหนุ เคยเสด็จนิราศไปพำนักยังต่างประเทศ 2 ครั้ง และทรงกลับขึ้นครองราชย์ 2 ครั้งตลอดพระชนม์ชีพอันระหกระเหินเช่นเดียวกับชีวิตของประเทศของพระองค์
ในปี 2547 ทรงสละราชสมบัติอย่างปุบปับ เพราะวัยชราและสุขภาพย่ำแย่
แต่การสละบัลลังก์อย่างกระทันหันเช่นนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่พระองค์ทรงตัดสินใจแบบเหนือความคาดหมาย กษัตริย์สีหนุเคยเล่นการเมืองอย่างโลดโผน ครั้งหนึ่งเคยสนับสนุนระบอบคอมมิวนิสต์เขมรแดงด้วยซ้ำไป
"สีหนุ คือ กัมพูชา" จูลิโอ เจลเดรส ผู้เขียนชีวประวัติอย่างเป็นทางการของพระองค์ เคยพูดถึงอดีตกษัตริย์ผู้นี้
@ อดีตกษัตริย์สีหนุ รับไหว้นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน
ขณะกลับจากรักษาตัวที่กรุงปักกิ่ง ถึงกรุงพนมเปญ
เมื่อเดือนเมษายน 2554
พระองค์ทรงถูกรุมเร้าด้วยโรคสารพัดในบั้นปลายชีวิต อาทิ มะเร็ง และเบาหวาน และมักเสด็จฯไปพำนักรักษาพระอาการประชวรในกรุงปักกิ่งครั้งละนานๆ จนกระทั่งเสด็จสวรรคตในวันจันทร์
อดีตกษัตริย์พระองค์นี้เคยเรียกตัวเองว่า "เด็กแก่น" ทรงชื่นชอบการสำราญพระราชหฤทัย และงานศิลปะ เคยสร้างภาพยนตร์กว่า 10 เรื่อง
กษัตริย์เจ้าสำราญพระองค์นี้เคยอภิเษกสมรส 6 ครั้ง มีพระราชบุตรพระราชธิดา 14 พระองค์ นอกจากสร้างหนังแล้ว พระองค์ยังเขียนบทกวี และแต่งเพลงด้วย
แต่พระองค์ไม่ใช่คนเหลาะแหละ ทรงเอาตัวรอดผ่านวิกฤตหลายระลอก ด้วยพระปรีชาสามารถในกลเกมการเมือง
เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสได้จัดให้เจ้าสีหนุขึ้นครองราชย์ในปี 2484 ตอนที่ทรงมีพระชนมายุแค่ 18 พรรษา ด้วยหวังว่าพระองค์จะเป็นกษัตริย์ที่หัวอ่อนว่าง่าย
แต่ใน 12 ปีให้หลัง ทรงนำพากัมพูชาเป็นเอกราชจากฝรั่งเศส แล้วทรงสละราชบัลลังก์ เพื่อลงเล่นการเมือง โดยให้พระราชบิดา เจ้านโรดม สุรามฤติ เป็นกษัตริย์แทน
สีหนุเคยเป็นนายกรัฐมนตรี 6 ครั้ง ก่อนที่จะกลับขึ้นเป็นกษัตริย์อีกครั้ง หลังจากพระราชบิดาเสด็จสวรรคตในปี 2503
ตลอดทศวรรษต่อมา พระองค์ทรงครองราชย์ท่ามกลางภาวะความมีเสถียรภาพอันหาได้ยากยิ่งของกัมพูชา ทรงนำพาประเทศสู่ความทันสมัย
ทรงปรากฏพระองค์ในที่สาธารณะบ่อยครั้ง เสด็จฯตามถิ่นทุรกันดารเพื่อดูแลโครงการพัฒนาชนบทต่างๆ ทำให้พสกนิกรมีความรักผูกพันกับพระองค์
เมื่อถูกนายพลลอนนอลยึดอำนาจด้วยการสนับสนุนจากสหรัฐในปี 2513 ขณะลี้ภัยอยู่ในกรุงปักกิ่ง พระองค์ได้ตัดสินใจหันไปผูกมิตรกับพวกคอมมิวนิสต์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นรัฐบาลเขมรแดง นำกัมพูชาไปสู่การประหัตประหารและทำล้ายล้างครั้งใหญ่
ในช่วงที่ยังเคลื่อนไหวต่อสู้กับรัฐบาลลอนนอลเป็นเวลา 5 ปีนั้น กองโจรคอมมิวนิสต์ได้ใช้สีหนุเป็นหุ่นเชิด อาศัยความนิยมในหมู่ประชาชนของพระองค์เป็นเครื่องมือขยายแนวร่วม
เมื่อพวกคอมมิวนิสต์ยึดกรุงพนมเปญได้ในปี 2518 กลุ่มเขมรแดงได้กวาดต้อนคนนับล้านออกสู่ระบบนารวม หวังจะสร้างสังคมเกษตรในอุดมคติ
สีหนุกลับจากจีน ทรงดำรงตำแหน่งประมุขในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ถูกเขมรแดงกดดันให้สละราชสมบัติในอีกหนึ่งปีให้หลัง แล้วกักบริเวณพระองค์กับพระบรมวงศานุวงศ์ไว้ในพระบรมมหาราชวัง
พระองค์ไม่สามารถหยุดยั้งการล้มตายของผู้คนถึง 2 ล้านคน รวมทั้งลูกๆ 5 คนของพระองค์เองได้ จนกระทั่งทหารเวียดนามและพวกเขมรแดงแปรพักตร์ได้โค่นล้มระบอบเขมรแดงในปี 2522
สีหนุรอดชีวิตมาได้เพราะจีน ซึ่งหนุนหลังเขมรแดง ต้องการให้พระองค์รอด ทรงหนีไปลี้ภัยในกรุงปักกิ่งหลังจากระบอบเขมรแดงสั่นคลอน ทรงพำนักในคฤหาสน์ที่กรุงปักกิ่ง และในกรุงเปียงยางตลอดเวลา 13 ปีต่อมา โดยพระราชินีองค์ที่ 6 ของพระองค์ โมนิก ลูกครึ่งอิตาเลียน-กัมพูชา ที่ทรงอภิเษกในปี 2495 ได้อยู่เคียงข้างพระองค์
@ อดีตกษัตริย์สีหนุ ประทับเคียงข้างประธานาธิบดีจีน หูจิ่นเทา
ในงานเลี้ยงฉลองวันชาติจีน ที่มหาศาลาประชาชน เมื่อ 30 กันยายน 2553
แม้ทรงชิงชังเขมรแดง แต่ในช่วงทศวรรษ 1980 พระองค์ก็เป็นผู้นำหุ่นเชิดของกลุ่มเขมร 4 ฝ่ายที่มีพวกเขมรแดงร่วมอยู่ในพันธมิตรนี้ด้วย
พระองค์ทรงผลักดันการเจรจาสันติภาพ เปิดการเจรจากับรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน หลังจากกองทัพเวียดนามได้ถอนตัวออกจากกัมพูชาในปี 2532
สีหนุได้รับการยอมรับที่ได้ทำให้เกิดข้อตกลงสันติภาพที่สหประชาชาติให้การสนับสนุนในปี 2534 ซึ่งนำไปสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตยครั้งแรกของกัมพูชาในอีก 2 ปีต่อมา
ในปี 2536 นั้นเอง สีหนุได้กลับขึ้นครองราชย์อีกครั้งหลังจากได้สละบัลลังก์มานานเกือบ 4 ทศวรรษ
แม้ได้ทรงสละราชสมบัติอีกรอบในปี 2547 พระองค์ก็ยังทรงเป็นมิ่งขวัญของชาวกัมพูชา และมักใช้เว็บไซต์ของพระองค์แสดงความเห็นทางการเมืองอยู่เนืองๆ
Source : AFP