หลายคนรู้จักเขาในฐานะอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ขณะที่บทสัมภาษณ์นี้ ‘ไชยันต์’ บอกว่าไม่ได้พูดในฐานะข้าราชการจุฬาฯ แต่พูดในฐานะ ‘นายไชยันต์ ไชยพร’ ที่คุณพ่อและคุณแม่เคยเป็นผู้เช่าอาคารพาณิชย์จากสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในราวๆ ปี 2511 ขณะนั้นครอบครัวได้ต่อสู้กับจุฬาฯ เป็นเวลา 20 กว่าปี
มาย้อนฟังเรื่องราวเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้วของครอบครัว ‘ไชยพร’ ผู้เช่าที่มีฐานะไม่รวยไม่จน แต่ได้รับผลกระทบจากการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมในยุคที่ ‘ทรัพย์สินจุฬาฯ’ เริ่มปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการโดยเพิ่มรายจ่ายให้กับผู้เช่า เรียกว่า “ค่าอุดหนุนการศึกษา” หรือ “ค่าแป๊ะเจี๊ย”
‘ไชยันต์’ เล่าว่า ก่อนหน้านั้น ครอบครัวเช่าที่อยู่อาศัยแถววงเวียน 22 ใกล้พลับพลาชัย เยาวราช ต่อมาราวๆ ปี 2511 ก็ย้ายมาเช่าที่จุฬาฯ เป็นห้องแถวที่ใหญ่ขึ้นกว่าที่เคยอยู่ คุณพ่อมาเปิดคลีนิคบริเวณ ถ.บรรทัดทอง ช่วงติดกับฝั่งพระราม 4 ใกล้ตลาดสะพานเหลือง
“ตอนนั้นผมน่าจะอยู่ ป.5 อยู่ไปประมาณ 5 ปี ราวๆ ชั้น มศ.2 ผมก็ได้ยินคุณพ่อคุณแม่ปรับทุกข์กันเรื่องการต่อสัญญา จุฬาฯ จะคิดค่าเช่าแพงมากขึ้น และมีค่าต่อสัญญาแต่สัญญาสั้นลง
จากที่เราคิดว่าจะมีความมั่นคง ก็เจอปัญหา เราไม่ได้เปิดเป็นคลีนิคอย่างเดียว แต่ด้านบนเป็นที่อยู่อาศัยด้วย ครอบครัวมีพ่อแม่และลูกทั้งหมด 4 คน มีคนประสบชะตากรรมแบบนี้หลายครัวเรือน
คุณแม่ผมกลายเป็นหัวหน้าขบวนเป็นตัวแทนผู้เช่าในการต่อรองคุยกับจุฬาฯ แล้วมีอีกผู้เช่าอีกหลายบ้านที่เขามาแจมกัน
เท่าที่ผมจำได้ การต่อสู้ของผู้เช่าที่จุฬาฯ สมัยนั้นมันก็ยืดเยื้อ บางบ้านเขาเช่าเป็นที่อยู่อาศัยเฉยๆ ไม่ได้ใช้ทำมาหากิน แล้วเขาไม่รู้จะหาทางออกยังไง เขาก็ผูกคอตาย
ไม่มีใครเข้าใจ ไม่มีใครเห็นใจเขาและเขาไม่รู้จะไปบอกอะไรกับใคร สังคมไทยขณะนั้นเป็นสังคมที่เห็นใจแต่ชนชั้นล่างจัดๆ สมัยก่อนสื่อไม่ยอมเล่นข่าวเรื่องเรา เราอยู่ตึกแถว เราไม่ใช่สลัม เราไม่ใช่คนจนที่จะเป็นจะตาย จึงไม่มีใครเห็นใจเราเลย ตอนนั้นสื่อจะเล่นแต่ข่าวเผาไล่ที่สลัม ไม่เล่นข่าวชนชั้นกลาง
คือคนเช่าที่จุฬาฯ ก็มีหลายชนชั้นนะ เช่น เป็นเถ้าแก่ขายอะไหล่ก็มี เป็นคนที่เช่าเพื่ออยู่อาศัยเฉยๆ ก็มี จริงๆ แล้วมันต้องได้รับความคุ้มครองทุกชนชั้นนั่นแหละ
ฉะนั้น จะไปเล่นแต่เรื่องอำมาตย์-ไพร่ อย่างเดียวไม่ได้ มันมีชนชั้นอื่นๆที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมอยู่ ความไม่เป็นธรรมจะต้องได้รับความดูแลทั่วถึง การคุ้มครองสิทธิ์ต้องคุ้มครองรวมถึงคนที่เป็นอำมาตย์ในฐานะพลเมือง คนที่เป็นไพร่ก็ต้องได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน แต่ตอนนี้จะมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่มีใครสนใจ ลองไปร้อง “ลุงตู่” ลุงตู่อาจจะบอกว่า เฮ้ย แบบนี้ยังไม่เดือดร้อนมาก... โธ่ ชีวิตมันเดือดร้อน ก็เดือดร้อนทั้งนั้น
การต่อสู้ก็ยืดยาวมาก ต่อสู้มาตั้งแต่ 2516-2517 กว่าจะลงเอยก็ พ.ศ. 2530 กว่าๆ ตอนผมเรียนหนังสือจบปริญญาเอกจากต่างประเทศกลับมา แ��้วก็มีหมายศาลติดไว้อยู่ข้างหน้าบ้าน ปี 34-35
กลับบ้านปี 2535 ตอนนั้น เราแพ้คดีในชั้นศาลฎีกา สู้ตั้งแต่ศาลชั้นต้น อุทธรณ์ ถึงฎีกา เราแพ้เราก็ยอมยอมจ่ายค่าปรับ ยอมจ่ายค่าเช่าย้อนหลัง ยอมจ่ายค่าต่อสัญญา แต่ผู้บริหารจุฬาฯ ขณะนั้นไม่ยอมให้ต่อสัญญา เขาบอกต้องเด็ดหัวบ้านนี้เป็นตัวอย่าง เพราะบ้านนี้มันเป็นตัวปัญหา
ขณะที่ผู้เช่าบางราย ไม่รู้ไปต่อรองกับจุฬาฯ อีท่าไหน ก็หนีจากการต่อสู้ ไปยอมจุฬาฯ เพื่อจะให้จุฬาฯ ต่อสัญญาให้ คือไม่ผนึกกำลังเป็นพวกเดียวกันที่จะต่อสู้กันยาวๆ
ด้วยความเสียใจที่แพ้คดี แม่ผมอินกับเรื่องนี้มาก แม่ผมจบ ป.2 เป็นชาวบ้าน แล้วรู้สึกว่าเป็นตัวแทนของความเดือดร้อนทุกระดับชั้น พอแม่เสียใจก็เกิดอาการประสาทเสีย ก็ต้องเข้าโรงพยาบาลบ้า
พ่อผมก็แก่ ก็อยู่คนเดียว ผมกลับไปที่บ้าน บ้านรก แล้วมีหมายศาลมาแปะให้ออก แล้วตำรวจจะมาไล่พ่อผมด้วย ผมมารู้ตอนที่ผมกลับมาจากเรียนต่างประเทศแล้วนะ
แล้วผมก็กลับมาเป็นอาจารย์จุฬาฯ พ่อแม่ผมเสียความรู้สึกมากเลย เขาบอก ทำไมไม่ไปอยู่ธรรมศาสตร์
แต่ผมมาเป็นอาจารย์จุฬาฯ ก็เพราะผมคิดว่า สาขาที่ผมจบมา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็มีท่าน อ.สมบัติ จันทรวงศ์ ท่านอ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ มีธเนศ วงศ์ยานนาวาอยู่แล้ว แต่ที่จุฬาฯ ขณะนั้นยังไม่มีคนที่จบมาทางด้านปรัชญาการเมืองโดยตรง
ปัญหาทั้งหมดที่เรากำลังพูดถึงเป็นเรื่องการบริหารจัดการเรื่องการเช่าที่
เราไม่ได้พูดเรื่องวิชาการของจุฬาฯ
-ความเป็นอยู่หลังแพ้คดี
ใครๆ จะชอบคิดว่าบ้านผมรวย… ไม่จริง... แม่ผมอยู่โรงพยาบาลบ้า ส่วนพ่อผม อยู่ซอยนางลิ้นจี่ เป็นห้องแถวเล็กๆ ของลูกศิษย์พ่อที่เป็นพยาบาลตั้งแต่สมัยพ่อสอนที่หัวเฉียว เขาก็เมตตาให้พ่อไปซุกหัวนอนตรงนั้น
ผมกลับมาผมก็ไม่มีที่อยู่นะ ผมลงสนามบินหลังจบปริญญาเอก เพื่อนที่รัฐศาสตร์จุฬาฯ ไปรับผม ไปเข้าพักที่จารุวรรณอพาร์ตเมนท์ โด่งดัง เป็นห้องพักเล็กๆ ที่รัชโยธิน ก็ไปซุกหัวนอน ตื่นเช้ามาขึ้นรถเมล์มาจุฬาฯ ใช้ชีวิตอยู่ตรงนั้น จนกระทั่งบ้านเสร็จ ก็ย้ายไปอยู่บ้าน
โชคดีที่แม่ซื้อที่ตรงพัฒนาการไว้นานแล้ว ตั้งแต่ 30 ปีที่แล้วมันคือป่า ตอนนั้นเขาประสาทไม่ดีแล้ว แต่สุดท้ายก็ให้พี่ชายไปปลูกบ้านที่นั่น
-ประเด็นที่ต่อสู้ในอดีต
ประเด็นคือ ตกลงแล้วเนี่ย ค่าอุดหนุนการศึกษาตอนนั้นมันเก็บได้ไหม แล้วถ้าเก็บค่าอุดหนุนการศึกษาได้ มันหมายถึงแป๊ะเจี๊ยใช่ไหม ซึ่งทุกวันนี้ผมก็ยังไม่เข้าใจ ยังไม่รู้เรื่องดีว่าทุกวันนี้เจ้าของที่จะเรียกค่าแป๊ะเจี๊ยจากผู้เช่าได้ไม่จำกัดใช่ไหม เช่น สมมุติว่าผมให้คุณเช่ามาสัก 5 ปี ถึงเวลา ผมอยากให้คุณออก ผมก็เก็บค่าแปะเจี๊ยสักแสนนึง(แพงขึ้น)เวลาจะต่อสัญญา ผิดกฎหมายไหม ผมไม่รู้
ถ้าสมมุติว่ากฎหมายอนุญาตให้เก็บค่าต่อสัญญาหรือค่าแป๊ะเจี๊ย แปลว่าจะเก็บเท่าไหร่ก็ได้ใช่ไหม กฎหมายไม่ได้มีเพดานที่จะคุ้มครองหรือเปล่า อันนี้ผมไม่ทราบ
ส่วนคนเช่าก็มองว่า เรามาเช่าที่ แล้วทำไมต้องจ่าย “ค่าอุดหนุนการศึกษา” เราไม่ได้เอาลูกเข้าโรงเรียน คำคำนี้หมายความว่าอะไร ผมว่า จุฬาฯ ทุกวันนี้เหมือนกับเสือนอนกิน เพราะที่ดินพระราชทานบริเวณนี้เป็นทำเลทอง แม้อาจารย์ที่เข้ามาบริหารจะพัฒนาอสังหาไม่เก่งเท่ากับมืออาชีพของเอกชน ก็ยังเก็บค่าเช่ากินได้สบายๆ
ที่พูดนี่ในฐานะครอบครัวที่ประสบกับปัญหาแบบนี้มา แล้วตกลงแล้วมันมีมาตรฐานไหม แล้วสามารถบอกอะไรให้ผู้เช่ารู้ล่วงหน้ายาวๆ แค่ไหน
หรือผู้เช่าทุกวันนี้ต้องเจอปัญหาว่า ถ้าเป็นคนหัวแข็ง ผู้บริหารก็ไม่เอา ... แบบนี้แปลว่าจุฬาฯ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลยสิ
-ปัญหาสัญญาระยะสั้น ระยะยาว และการทราบล่วงหน้า
ปัญหาวันนั้น คือเราอยากอยู่ยาว แต่เขาก็อ้างว่า เขาจะเวนคืนที่แล้วล่ะ เขาอ้างนะ ผมจำได้ พวกเราก็ถามว่า ทำไมไม่เวนคืนเซียงกงก่อนล่ะ เพราะทำให้พื้นที่สกปรกเต็มไปด้วยน้ำมันเครื่อง แล้วเวลาฝนตกมา ทั้งเด็กทั้งคนแก่ล้มหัวฟาด สมัยก่อนก็ไม่รู้จะไปเรียกร้องใคร
ทางจุฬาฯสมัยนั้น ก็บอกว่า เดี๋ยวก็จะไม่ต่อสัญญาเซียงกง(ริมถ.บรรทัดทอง)เหมือนกัน แต่นี่มัน 40 กว่าปีแล้ว เซียงกงยังอยู่เลย แล้วหมายความว่าอะไร ตกลงเซียงกงยังอยู่มาตลอด ผมไม่รู้ว่าเขาต่อสัญญาหรือเปล่า
แต่ทุกวันนี้ถ้าขับรถเข้าไป ยังเห็นเซียงกง และรถยกอะไรต่างๆ ยังมีน้ำมันเครื่องกองดำมืด เป็นสภาวะที่น่าเกลียดมาก ถ้าอาจารย์ที่เป็นผู้บริหารบอกว่าไม่รู้เรื่องเรื่องเซียงกงตลอด 40 ปีมานี้ ก็แปลกอยู่ หรือไม่สนใจจะยุ่งกับ “เซียงกง” หรือจะเป็นอย่างที่เขาลือๆกันว่า มีนอกมีในกันอยู่ และเจ้าหน้าที่ที่อยู่ประจำไม่เปลี่ยนวาระเหมือนผู้บริหารเป็นกุญแจสำคัญ ถ้าไม่ใช่เรื่องจริง ก็ควรมีคำอธิบายตรงนี้ให้สาธารณะเข้าใจ จุฬาฯจะได้ไม่เสียชื่อ
ถ้าจุฬาฯ บอกว่าจะปรับเป็นชุมชนใหม่ๆ ไลฟ์สไตล์อะไรต่างๆ แล้วเก็บอันนี้ไว้ทำไม เป็นฟันหลอ ขณะที่ ที่อื่นถางหมดแล้ว เหลือแต่เซียงกงไว้ตรงนี้ คนเช่าตึกจริงๆทำเซียงกงก็ไม่ได้อาศัยอยู่ตรงนั้นแล้ว เพราะเขารวย เอาที่นั่นเป็นที่เก็บของที่จะขายหรือรับมาจากท่าเรือ
ตกลงจุฬาฯ จะให้เช่าก็ต้องจัดระเบียบสิว่า เช่าบ้าน เช่าอาคารพาณิชย์ หรือคุณจะให้เช่าเป็นแบบโกดัง แต่นี่เละไปหมด ถ้าบ้านติดกันก็หายใจเป็นกลิ่นน้ำมันเครื่อง เซียงกงเป็นห้องแถวจำนวนมากที่เต็มไปด้วยเครื่องยนต์เก่า ถึงเวลาก็มากอง แงะ น้ำมันเครื่องไหลท่วมดำปื้ด เดินก็ไม่ได้
แล้วบ้านผมที่บอกว่าจะเอาที่กลับคืนไปเพื่อการศึกษา ทุกวันนี้บ้านผมที่ติดบรรทัดทอง ยังเป็นร้านห่านพะโล้ท่าดินแดง ตกลงมันคืออะไรกันแน่ นโยบายไม่มีความมั่นคง ไม่มีมาตรฐาน มันอยู่ที่อะไรก็ไม่รู้
40 กว่าปีมานี้ ถ้าปัญหาของที่โครงการอื่นอาจจะอีกแบบหนึ่ง แต่สิ่งที่มันซ้ำคือ ตกลง จุฬาฯ เอาระบบอะไรไปจัดการกับเขา นี่ผมไม่ได้พูดว่าวิชาการจุฬาฯ นะ
แต่ผมจำได้ ตอนนั้นที่คุณแม่ผมและผู้เช่าที่จุฬาฯ บริเวณถนนบรรทัดทอง แถวๆ สามย่าน กำลังต่อสู้สมัยโน้น ผู้บริหารจุฬาฯ บอกว่า จุฬาฯ จะไม่มีวันแพ้ ถ้าเราแพ้คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน ผมคิดว่า เออ ฟังแล้วก็น่ากลัวจริงๆ .... ถ้าเราบอกว่าการที่จุฬาฯ แพ้คดี จะทำให้คณะนิติศาสตร์ต้องเสียหายเนี่ย อาจจะไม่เกี่ยวกัน
-ความเป็นคนสามย่าน
เมื่อโลเคชั่นได้ คุณกลับใช้มันในฐานะที่คุณมัดมือชก คุณใช้มันอย่างเสือนอนกิน ผมไม่แน่ใจว่านี่มันทำให้คนอื่นเกิดความรู้สึกที่ดีกับจุฬาฯ หรือเปล่า
แล้วคุณวาดฝันว่าคอมมูนิตี้แถวนี้ต้องสุดยอด ขอโทษ คุณกำลังไล่คนออกไปข้างนอกใช่ไหม ถ้าคนไม่สมาร์ท ไม่ได้เป็นนักออกแบบ คนที่ไม่เก่งอยู่แถวนี้ไม่ได้ใช่ไหม ตกลงแถวนี้ต้องมีคนแบบพวกคุณใช่ไหม ผมคิดว่าแบบนี้มันไม่ใช่
ผมนึกถึงซีรีย์เรื่อง Daredevil มันก็จะมีพวกเจ้าพ่อที่มันจะเปลี่ยนนิวยอร์ก มันจะทำให้เมืองสุดยอด สุดยอดก็ต่อเมื่อต้องไล่ที่คนกระจอกๆ ออกไปก่อน แล้วก็จะมี Daredevil ที่พยายามรักษาผลประโยชน์ของผู้เช่า
ผมเป็นคนสะพานเหลืองมาก่อน ผมเป็นคนบรรทัดทอง ผมเป็นคนสามย่านมาก่อน แต่มันไม่มีความหมายสำหรับผมแล้วล่ะ เพราะต่อไปนี้ก็จะมีคนที่มีตังค์ คนที่ฉลาด เป็นนักออกแบบ คุยกันด้วยเรื่องสมาร์ทๆ ทั้งหลาย แล้วก็ไล่พวกเราออกไปข้างนอก ฉะนั้น คนที่บอกว่าจะสร้างจุฬาฯ ให้สมาร์ท ผมคิดว่าไม่ใช่
ผมไม่สามารถพูดแทนคนอื่นได้ ผมพูดในฐานะที่บ้านเราเช่ามาแล้วจะถูกลดช่วงระยะเวลาเช่าให้น้อยลง แล้วเก็บเงินแพง ผมว่า 5 ปี ไม่เป็นธรรม นี่พูดกรณีผม
เพราะเราคาดว่าจุฬาฯ ไม่ใช่นายทุนหน้าเลือด เราคิดว่า จุฬาฯจะมีความเมตตา.... เราต้องการมาพึ่ง เราเป็นเจ๊กแป๊ะมา เราต้องการอยู่ยาว นอกจากคุณจะบอกตั้งแต่แรกว่า ให้ทำเป็นร้านค้านะ แล้วก็ไม่ให้อยู่อาศัย อย่างนั้นเราก็พอเข้าใจได้ แต่นี่เราสร้าง 3 ชั้นครึ่ง แล้วลูกๆ ก็อยู่กันเต็มหมดเนี่ย เอาไงอะ
คือแม่ผมจบ ป.2 แต่แม่ผมสู้เหมือนกับคนที่ไปเรียนเรื่องปรัชญาการเมืองมา เรื่องสิทธิทางการเมือง เสรีภาพความเสมอภาค สู้กันเต็มที่ สู้กันยิบตาเลย
มันต้องให้เกิดความเป็นธรรม ตรงที่ต้องให้เรารู้ว่าคุณจะทำยังไงกับเรา หรือว่าตกลงแล้ว นโยบายเกี่ยวกับการบริหารแบบนี้ เปลี่ยนไปทุกๆ 4 ปี หรือ ทุกๆ 8 ปี ขึ้นอยู่กับทีมบริหารหรือเปล่า ถ้าอย่างนั้นผู้เช่าก็ตายสิ
ปัญหาสำคัญคือ อาจารย์ที่เข้ามาบริหารก็มาเป็นวาระ แล้วก็จากไป ขาดความต่อเนื่อง และมักจะต้องการแสดงผลงานใหม่ๆ ของทีมตัวเองเสมอ ถึงเวลาถ้ามีปัญหาจากชุดก่อน ชุดใหม่ก็บอกว่าเพิ่งเข้ามา ไม่เกี่ยว หรือถ้าชุดใหม่จะมีนโยบายใหม่ ก็บอกว่านโยบายก่อนหน้า ไม่เกี่ยวกัน พูดได้เหมือนคนที่เข้าไปทำงานการเมืองจริงๆ
เวลา ผอ.ทรัพย์สินจุฬาฯ คนใหม่ หรือรองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สินฯ คนใหม่มาอยากจะฝากฝีมือ อยากจะไอเดียบรรเจิดก็เปลี่ยนแปลง อยากจะสร้างผลงานว่าจะหาเงินให้กับจุฬาฯ งั้นผู้เช่าก็ตายสิ
คณะผม ตอนนี้ไม่มีปัญญาจ่ายค่าน้ำค่าไฟ สร้างตึกใหม่ขึ้นมา การสร้างตึกใหม่ จุฬาฯบอกไงรู้ป่าว คณะต้องจ่ายเองด้วยส่วนหนึ่ง อ้าวแล้วไหนบอกมี ค่าอุดหนุนการศึกษา
คณะแต่ละคณะต้องจ่ายเงินตัวเอง แล้วทุกวันนี้สร้างตึกใหญ่โตมโหฬาร ถึงเวลาไม่มีตังค์จ่ายค่าไฟ โดยเฉพาะไฟลิฟต์ ตอนหลังต้องจัดให้เด็กมาเรียนตึกเก่าบ้าง ตอนแรกบอกว่า จะไม่ใช้ตึกเก่า ถึงเวลาต้องปิดห้องสมุด เปิดแอร์ได้แป๊บเดียว ห้องสมุดออกแบบมาสำหรับให้คนใช้แอร์แล้วใช้แอร์ได้นิดเดียวเพราะไม่มีปัญญาจ่ายค่าไฟ
ตกลงมันอะไรกันแน่เนี่ย ถึงเวลาก็บอกว่าคณะต้องเลี้ยงตัวเอง อ้าวนี่ก็ไปแย้งว่า ตกลงค่าอุดหนุนการศึกษามายังไง
คณะต้องเลี้ยงตัวเองหมายความว่าไง คุณก็ต้องเปิดโครงการพิเศษ โครงการปริญญาโท โครงการปริญญาตรีภาคภาษาอังกฤษ ต้องขายปริญญาในระดับหนึ่ง คุณภาพทางวิชาการก็ต้องหย่อนยานไปบ้าง เอ้าไหนบอกว่า มีค่าอุดหนุนการศึกษา มันอยู่ตรงไหน
อันนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวิชาการนะ ผมก็ยังพอใจกับวิชาการที่จุฬาฯ ผมก็ไม่คิดไปไหนอยู่แล้ว แต่ผมกำลังพูดถึงประเด็นที่คุณถามเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อหากำไร เพื่อช่วยบำรุงการศึกษา
อย่าทำให้ผู้เช่าเกลียดจุฬาฯ ได้ไหม เช่น คุณจะเช่า คุณต้องจ่ายค่าอุดหนุนการศึกษา แล้วลูกคุณเข้าสาธิตจุฬาฯ ได้ไหม ก็ต้องไปสอบแข่งกันจนตาย เออถ้าเขามาเช่าที่จุฬาฯ แล้วเขาจะให้สิทธิพิเศษในฐานะจ่ายค่าอุดหนุนการศึกษา มีที่พักอยู่ใกล้โรงเรียนมีโควตา อาจจะได้รับพิจารณาพิเศษเข้าสาธิตจุฬาฯ ความรู้สึกของความเป็นคนในชุมชนก็จะเกิดขึ้น เขาก็จะรักที่ของเขา เขาจะได้ดูแลที่ของเขา แต่ถ้าคุณเอาแต่เงินจากเขาอย่างเดียว มันไม่ได้... หน้าเลือด คือ กฎหมายอาจจะให้ แต่คำว่าหน้าเลือดยังมีอยู่ โหดอะ
ทุกวันนี้ผมยังไปจอดรถแถวตลาดสะพานเหลือง ก็เดินไปดูเพราะผมโตมา เคยอยู่บ้านนั้น มีอยู่วันหนึ่ง ผมเข้าไปร้านห่านพะโล้ เลขที่ 1977-1979 ถนนบรรทัดทอง ตอนนี้คุณไปดูสิ เป็นร้านห่านพะโล้ท่าดินแดง เมื่อสัก 10 ปีที่แล้ว ผมไปกินข้าว ผมยังระลึกถึงความหลัง ขอเข้าไปดู เจ้าของร้านเขาก็ให้ผมเข้าไปนะ ไม่รู้เจ้าของร้านจำได้หรือเปล่า
ผมเคยอาศัยอยู่ที่นี่มาก่อน ก่อนที่จะเป็นร้านห่านพะโล้เคยเป็นร้านทำผมร้านอะไรมาเยอะแยะเลย เขาก็เซ้งต่อๆ กันมา ผมเห็นพื้นหินขัด บันไดที่แม่ผมคัดไม้มาแต่ละแผ่นเพื่อจะทำบันได เพราะคิดว่าจะอยู่กันถาวร แต่อย่างว่านะ ทุกอย่างมันต้องมีการเปลี่ยนแปลง
ไม้ที่คุณแม่เลือกมาเอง เวลาจะจ้างเขาทำบันได ไม้ต้องสวย เวลาลงแลคเกอร์จะได้เงางาม ไม้ก็ยังอยู่ แม่ผมเป็นคนทำความสะอาดบ้านเอง วงกบหน้าต่างก็ยังเหมือนเดิม อยู่ตั้งแต่ ป.5 จบปริญญาตรีก็ยังอยู่ จบปริญญาเอกกลับมา แล้วก็มีหมายศาลติดไว้อยู่ข้างหน้า ปี 34-35
พูดง่ายๆ ตั้งแต่ 2511 ถึง 2530 กว่าๆ คือประมาณอีก 20 ปีที่ต่อสู้ยืดเยื้อ ทุกวันนี้ถ้าไปสัมภาษณ์คนที่อายุเยอะหรืออายุเท่าผม ถ้าเขาเคยอยู่บรรทัดทองเขาต้องรู้ว่าเราเคยต่อสู้มา แต่ทุกวันนี้ไม่มีใครกล้าพูดหรอก พูดแล้วเดี๋ยวจุฬาฯ ก็ไม่ต่อสัญญาให้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วิบากกรรมผู้ค้า เช่าที่ 'ทรัพย์สินจุฬาฯ' เจอคำโฆษณาสวนทางความจริง?
ทวงหนี้ 4.0’ จุฬาฯ แจงหลังผู้ค้าโวยผิดหวังลงทุนเช่าที่สวนหลวงสแควร์
สร้างเมืองใหม่ ‘8 หมื่นล้าน’ โรดแมป ‘จุฬาฯ’ ธุรกิจเพื่อการศึกษา
เรื่องของผู้ใหญ่ไม่เกี่ยวนิสิต ‘เนติวิทย์’ เผยจุฬาฯ ห้ามฟังเสียงผู้ค้า
หนึ่งในเหตุที่‘เนติวิทย์’ถูกสอบ!! ชมคลิปเวทีรับฟังผู้ค้าเช่าที่ ‘ทรัพย์สินจุฬาฯ’
'สามย่าน' ในความทรงจำคน 2 วัย บนที่ดิน 'ทรัพย์สินจุฬาฯ'
รับใช้ 'จุฬาฯ' มา 100 ปี ร้านรองเท้าในตำนานสามย่าน ประวัติศาสตร์คนธรรมดา