ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล เสนอให้รัฐรับภาระโครงข่ายภาคพื้นดิน (MUX) ปีละ 170 ล้านบาทต่อช่อง พร้อมขอให้ยุติการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่เหลือ ขณะที่ นายกรัฐมนตรี โยน กสทช.แก้ปัญหาค่าเช่าทีวีดิจิตอลแพง เพราะถือเป็นเรื่องการลงทุนธุรกิจ 

ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล เสนอให้รัฐรับภาระโครงข่ายภาคพื้นดิน (MUX) ปีละ 170 ล้านบาทต่อช่อง พร้อมขอให้ยุติการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่เหลือ ขณะที่ นายกรัฐมนตรี โยน กสทช.แก้ปัญหาค่าเช่าทีวีดิจิตอลแพง เพราะถือเป็นเรื่องการลงทุนธุรกิจ 

นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมทีวีดิจิตอลและตัวแทนได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการปฏิรูปสื่อฯ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณานำข้อเสนอปรับโครงสร้างอุตสาห กรรมทีวีดิจิตอลไปอยู่ในแผนปฏิรูปสื่อของประเทศ ได้ยื่นหนังสือด่วนมากถึง นายจิรชัย มูลทองโร่ย ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ เกี่ยวกับเรื่องการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเสนอแนวทางปรับโครงสร้างสื่อสารมวลชนให้สอดคล้องกันทั้งระบบ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและพฤติกรรมการรับสื่อของประชาชนในปัจจุบัน 

นายสุภาพ ระบุว่า การประมูลทีวีดิจิตอลปลายปี 2556 ซึ่งประมูลกันสูงถึง 5 หมื่นล้านบาท จากที่ตั้งเป้ารายได้ 1.5 หมื่นล้านบาท และปัจจุบันจ่ายเงินไปแล้ว 3.4 หมื่นล้านบาท แต่ผู้ประกอบการประสบปัญหาจากภัยคุกคามของเทคโนโลยี จึงเสนอให้ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลด้วยการรีฟาร์มมิ่งคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ จากที่ใช้งานในทีวีดิจิตอล มาใช้ฝั่งโทรคมนาคมให้เร็วขึ้นจากที่กสทช.กำหนดว่าจะเรียกคืนคลื่นและประมูลในปี 2563คลื่นใหม่ที่จะให้ทีวีดิจิตอลใช้งาน  

นอกจากนี้แล้วผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ได้ยื่นข้อเสนอไปในครั้งนี้ว่าต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการใช้บริการเช่าโครงข่ายทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน (MUX) ต้องชำระให้แก่ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอลภาคพื้��ดิน (MUX) สำหรับทีวีดิจิตอลในระบบความคมชัดสูง (HD) ปีละ 170 ล้านบาทต่อช่อง และสำหรับทีวีดิจิตอลในระบบความคมชัดปกติ (SD) ปีละกว่า 60 ล้านบาทต่อช่อง ซึ่งสวนทางกับจำนวนผู้ชมผ่านโครงข่ายทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินที่มีจำนวนน้อยมาก รายได้จากค่าโฆษณาลดลงตามไป ดังนั้นหากดำเนินการเปลี่ยนผ่านเช่นเดิมต่อไป โดยให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลยังต้องแบกรับภาระค่าโครงข่ายทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินเป็นการสร้างภาระ เมื่อไม่คุ้มทุนผู้ประกอบการยุติประกอบกิจการก่อนครบระยะเวลาใบอนุญาต 15 ปี 

"งบประมาณการแจกคูปองก็ยังคงเหลืออีกจำนวนมาก การที่รัฐเป็นผู้รับภาระค่า MUX แทนผู้ประกอบ การจึงมีความชอบธรรม และไม่ได้ทำให้รัฐต้องเสียประโยชน์แต่อย่างใด" 

นอกจากนี้ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมารัฐได้รับเงินค่าธรรมเนียมคลื่นความถี่ไปแล้วประมาณ 33,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 65 ซึ่งได้ชำระค่าธรรมเนียมไปแล้วรวมกันมีมูลค่ามากกว่ามูลค่าคลื่นที่ใช้ในกิจการทีวีดิจิตอลในปัจจุบันทั้งหมด จึงควรยุติการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่เหลืออยู่ 

นายกฯ โยน กสทช.ตอบผู้ประกอบการ  

ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ขอความช่วยเหลือโดยต้องการให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ลดค่าเช่าลงว่า เป็นเรื่องของ กสทช.ที่จะพิจารณาต่อไป เพราะเป็นเรื่องของการลงทุนธุรกิจ ซึ่งต้องไปว่ามาถึงทางออก 

ทั้งนี้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลจำนวน 13 ช่องรายการ ได้แก่

  1. บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด (ช่อง Thairath TV)
  2. บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด (ช่อง PPTV HD)
  3. บริษัท จีเอ็มเอ็ม วัน ทีวี จำกัด (ช่อง One)
  4. บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด (ช่อง GMM 25)
  5. บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น  จำกัด (ช่อง Nation TV)
  6. บริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด (ช่อง NOW)
  7. บริษัท ไบรท์ ทีวี จำกัด (ช่อง Bright TV)
  8. บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด (ช่อง Spring News)
  9. บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด (ช่อง new)tv)
  10. บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด  (ช่อง Voice TV)
  11. บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (ช่อง TNN) 
  12. บริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่นจำกัด (ช่อง True4U) และ
  13. บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด (ช่อง Amarin TV HD)
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog