ไม่พบผลการค้นหา
สาเหตุที่กรุงเทพน้ำท่วมนั้นมีทั้งเกิดจากการบริหารจัดการ (ที่ไม่คืบหน้าไปไหนตลอดหลายปี) และโดยธรรมชาติ แต่ต่อให้จัดการได้ดีแค่ไหน ธนาคารโลกก็เตือนว่ากรุงเทพจะจมน้ำอยู่ดีในอนาคต

ภาวะน้ำท่วมขังจากฝนตกหนักในวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา แม้จะไม่ได้เป็นน้ำท่วมขนาดใหญ่อันเกิดจากน้ำเหนือไหลหลากแบบที่เกิดขึ้นใน พ.ศ.2554 แต่ก็สร้างความเสียหายอย่างมากแก่ทรัพย์สินและสร้างความลำบากในการใช้ชีวิต การเดินทาง และการอยู่อาศัยของชาวกรุงเทพมหานครเป็นอย่างมาก

ฝนปริมาณสะสมสูงสุดถึง 200 มม. ทำให้ท้องถนนในกรุงเทพมหานครแปรสภาพกลายเป็นคลองอยู่เกือบหนึ่งวันเต็ม บางย่านก็ต้องใช้เวลาระบายน้ำถึงเกือบสามวัน จนเกิดคำถามว่า เหตุใดเมืองหลวงที่ได้งบประมาณมหาศาลและมีหน่วยงานรัฐคอยดูแลมากมายจึงประสบภาวะภัยพิบัติอย่างที่เห็นอยู่

สภาพน้ำท่วมของกรุงเทพมหานครนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างของเมืองตั้งแต่ระดับชั้นดินและน้ำใต้ดิน ที่เกิดจากพื้นดินเลนตะกอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาทับถมมาจนเป็นเมืองและเป็นแหล่งรองรับน้ำฝนและน้ำไหลบ่าจากภาคเหนือ ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ยังกล่าวถึงภาวะน้ำท่วมและข้าวยากหมากแพงในสมัยรัชกาลที่ 1 ว่า น้ำท่วมสูงถึงสามศอก ข้าวแพงถึงเกวียนละสี่ชั่ง

การก่อสร้างบ้านเรือน แหล่งการค้า และสถานที่ต่างๆ ขวางทางน้ำ การลดพื้นที่ลำคลองที่เคยระบายน้ำ เป็นปัจจัยของน้ำท่วมขัง ประกอบกับโครงสร้างท่อระบายน้ำใต้เมืองกรุงเทพนั้นวางไว้เมื่อนานมาแล้ว ตั้งแต่บ้านเรือนยังเป็นบ้านเดี่ยวไม่กี่หลังคาเรือน แต่เมื่อต้องมารองรับการระบายน้ำของคอนโดมิเนียมและตึกสูงที่มีประชากรระดับตำบลหรือระดับอำเภอรวมกัน จึงไม่แปลกที่น้ำจะหาทางออกทางไปไม่ได้ ขยะและไขมันที่จับตัวอุดตันท่อระบายน้ำขนาดเล็กเป็นเครื่องกีดขวางการระบายน้ำเช่นเดียวกับขยะที่กองอยู่ตามท้องถนนที่ไม่ได้รับการเก็บกวาดตามเวลา

     

สาเหตุอีกประการหนึ่งของการที่ฝนมักตกชุกในเขตเมืองของกรุงเทพมหานคร แทนที่จะไปตกตามเขตไร่นาป่าเขา ก็คือ สภาพเกาะร้อน (Urban Heat Island) ที่เกิดจากการสะสมของความร้อนตามอาคารคอนกรีต รถยนต์ และการใช้ชีวิตของผู้คนในเมือง กลายเป็นโดมความร้อนที่นำพาเอาร่องความชื้นและมรสุมให้ตกลงมาเป็นฝนเฉพาะในเมือง ซซึ่งหากสังเกตเรดาร์ฝนจะเห็นได้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม แม้การจัดการขยะและการระบายน้ำของกรุงเทพมหานครจะเป็นไปอย่างดีมากเท่าไร แต่กรุงเทพฯ ก็ยังไม่พ้นชะตากรรมที่จะต้องจมน้ำในไม่ช้า

จากรายงานของสถานการณ์ความเสี่ยงด้านภัยพิบัติของธนาคารโลก ได้ระบุถึงความเสี่ยงของกรุงเทพมหานครว่า มีความเสี่ยงที่จะทรุดลงจมน้ำ (Submersion) ภายในปี 2030 ทั้งด้วยการทรุดตัวของชั้นดินจากการก่อสร้าง และการใช้น้ำบาดาลเกินความเหมาะสม การกัดเซาะชายฝั่ง การเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลเนื่องจากภาวะโลกร้อน

ธนาคารโลกยังได้ประมาณการว่า ในแต่ละปี กรุงเทพมหานครจมลง 1.5-5.3 เซนติเมตรต่อปี และน้ำทะเลสูงขึ้น 2 เซนติเมตรต่อปี พื้นที่ชายฝั่งของกรุงเทพถูกกัดเซาะมากกว่าปีละ 100 เมตร และมีการกัดเซาะสะสมในเขตบางขุนเทียน รวมถึงการกัดเซาะชายฝั่งในปริมณฑลจังหวัดใกล้เคียงให้เห็นกินพื้นที่พื้นดินเข้ามามากกว่า 1 กิโลเมตรแล้ว

แม้จะมีการพูดถึงภัยพิบัติที่เกิดจากการทรุดตัวและการจมของกรุงเทพออกมาเป็นระยะ แต่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ก็ยังไม่มีแผนปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อที่จะป้องกันเหตุดังกล่าวให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด ทั้งที่ถ้าอ้างอิงตามแผนวิจัยของธนาคารโลกนั้น ชาวกรุงเทพจะเหลือเวลาอีกไม่ถึง 15 ปีในการเตรียมตัวรับภาวะจมน้ำ

ปัจจัยที่เกิดขึ้นกับกรุงเทพมหานคร อาจจะลุกลามไปเกิดขึ้นกับเมืองต่างจังหวัดที่พัฒนาเติบโตขึ้นใหม่ได้ โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่ใกล้ทะเล หรือทางน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น เชียงใหม่ พิษณุโลก หรือนครศรีธรรมราช หากไม่เล็งเห็นการณ์ไกลและวางแผนรับมือไว้ล่วงหน้า การระบายน้ำใต้ดินและแผนการรับน้ำลงพื้นที่ชุ่มน้ำ ให้ดี

ซึ่งในส่วนนื้ เทศบาลเมืองหาดใหญ่วางแผนระบบจัดการน้ำภายหลังน้ำท่วมใหญ่ได้เป็นอย่างดี ด้วยความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคการเมืองท้องถิ่น และประชาชน โดยเฉพาะโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่สร้างทางระบายน้ำถึง 6 สาย เทศบาลนครหาดใหญ่ที่ขุดลอกทางระบายน้ำเป็นประจำ และประชาชนชาวหาดใหญ่ที่ร่วมใจรักษาทางน้ำให้สะอาด ทำให้หาดใหญ่กลายเป็นเมืองต้นแบบด้านการจัดการน้ำท่วมและน้ำไหลหลากของประเทศไทยได้

ชาวกรุงเทพฯและปริมณฑล จึงควรเริ่มคิดวางแผนไว้ล่วงหน้าแล้วเสียว่า จะเลือกทำอย่างไร ระหว่างออกเสียงเรียกร้องให้เกิดแผนรับมือภาวะจมน้ำของเมืองอย่างเร่งด่วน หรือย้ายตัวเองออกมาจากกรุงเทพ ก่อนที่จะสายเกินไป

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog