ไม่พบผลการค้นหา
อีก เพียง 1 วันก็จะถึงกำหนดที่รัฐสภากาตาลูญญาจะประกาศเอกราชจากสเปน ท่ามกลางความตึงเครียดที่แผ่ขยายทั้งในสเปนและยุโรป สาเหตุที่ทำให้ชาวกาตาลันเดินทางมาถึงจุดที่จะแยกตัวเป็นเอกราชไม่ใช่แค่ เรื่องวัฒนธรรม แต่ยังมีปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจและช่องว่างทางกฎหมายหนุนด้วย

อีก เพียง 1 วันก็จะถึงกำหนดที่รัฐสภากาตาลูญญาจะประกาศเอกราชจากสเปน ท่ามกลางความตึงเครียดที่แผ่ขยายทั้งในสเปนและยุโรป สาเหตุที่ทำให้ชาวกาตาลันเดินทางมาถึงจุดที่จะแยกตัวเป็นเอกราชไม่ใช่แค่ เรื่องวัฒนธรรม แต่ยังมีปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจและช่องว่างทางกฎหมายหนุนด้วย

แคว้นกาตาลูญญา ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสเปน มีนครบาร์เซโลนาเป็นเมืองหลวง กาตาลูญญามีประชากรอาศัยมากเป็นอันดับ 2 ของสเปน และเป็นอันดับ 7 ของประเทศในสหภาพยุโรปทั้งหมด ชาวกาตาลันมีภาษาและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง และเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ชาวกาตาลันร้อยละ 43 ได้ออกมาลงประชามติสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราช

อย่างไรก็ตาม การลงประชามติครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวกาตาลันออกมาเรียกร้องให้มีการแยกประเทศจากสเปน เพราะการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวกาตาลันเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1714 และดำเนินมากว่า 3 ศตวรรษ จนกาตาลูญญาได้ประกาศการปกครองตนเองเมื่อปี 1932 แต่ต่อมารัฐบาลสเปนนำโดยนายพลฟรังโก กลับถอดประกาศดังกล่าวเมื่อปี 1938
ปัจจัยทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไม่ใช่ประเด็นเดียวที่ทำให้ชาวกาตาลันต้องการแยกตัวเป็นเอกราช ดาบิด กูเตียร์เรซ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาสเปน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเล่าว่า ในปัจจุบัน  ความเข้าใจกันระหว่างชาวกาตาลันกับชาวสเปนมีน้อยมาก เพราะผู้คนในแคว้นต่างๆ ทั่วสเปนยังขาดจินตนาการถึงความเป็นชาติสเปน และชาวสเปนที่เป็นหนึ่งเดียวกัน 

อย่างไรก็ตาม การขาดความเข้าใจซึ่งกันและกันเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น  เพราะแคว้นกาตาลูญญามีจีดีพีสูงถึงร้อยละ 20 ของจีดีพีทั้งประเทศ เมื่อปี 2014 ชาวกาตาลันเสียภาษีให้ทางการสเปนเกือบ 12,000 ล้านดอลลาร์ แต่ผลตอบแทนที่ได้กลับไม่คุ้มค่า ชาวกาตาลันรู้สึกว่าพวกเขาถูกเอาเปรียบ เพราะไม่มีอิสระทางการคลัง และเมื่อเปรียบเทียบกับแคว้นบาสก์ ซึ่งมีประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อแยกตัวเป็นเอกราชยาวนานเช่นกัน แคว้นบาสก์กลับมีอำนาจด้านการคลังเป็นของตนเอง
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปี 1978 ของสเปนยังเป็นอีกหนึ่งปัญหา เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้งจำกัดอำนาจของกาตาลูญญา ด้วยการบัญญัติว่า สเปนเป็นรัฐเดี่ยวที่แบ่งแยกมิได้ แต่กลับให้อิสระแก่แคว้นในระดับหนึ่ง ณภัทร พุ่งสิริ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตบราซิลประจำประเทศไทย และอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยบาร์เซโลนา เล่าว่า การให้อิสระนี้เองทำให้กาตาลูญญาปลูกฝังอัตลักษณ์ความเป็นกาตาลันให้แก่ประชาชน และอ้างว่า หากกาตาลูญญามีอำนาจในการออกกฎหมาย ก็ต้องมีอำนาจในการทำประชามติและประกาศเอกราชเช่นกัน

แม้เป็นที่คาดการณ์ว่า ในวันพรุ่งนี้ รัฐสภากาตาลูญญาจะทำการประกาศเอกราช แต่ขณะนี้ชาวกาตาลันกว่า 350,000 คน ก็ได้ออกมาเดินขบวนต่อต้านการประกาศเอกราช พร้อมระบุว่า ประชามติครั้งนี้ไม่ชอบธรรม เพราะจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิมีเพียงร้อยละ 43 เท่านั้น ดังนั้น คำถามที่ตามมาคือ จะเกิดอะไรขึ้นหากชาวกาตาลันเองไม่ยอมรับผลประชามติ และรัฐบาลสเปนจะดำเนินการต่อไปเช่นไร 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog