ไม่พบผลการค้นหา
แม้เหตุการณ์ 6 ตุลา จะผ่านมาแล้ว 41 ปี แต่โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นยังคงไม่ได้รับการชำระหรือพูดถึงในวงกว้าง นักทำหนังไทยส่วนหนึ่งจึงนำเหตุการณ์ครัั้งนั้นมาถ่ายทอดผ่านแผ่นฟิล์ม เพื่อให้คนในสังคมไม่ลืมเลือนสิ่งที่เกิดขึ้น

แม้เหตุการณ์ 6 ตุลา จะผ่านมาแล้ว 41 ปี แต่โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นยังคงไม่ได้รับการชำระหรือพูดถึงในวงกว้าง นักทำหนังไทยส่วนหนึ่งจึงนำเหตุการณ์ครัั้งนั้นมาถ่ายทอดผ่านแผ่นฟิล์ม เพื่อให้คนในสังคมไม่ลืมเลือนสิ่งที่เกิดขึ้น

4 ตุลาคม 2519 คือวันที่นักศึกษาส่วนหนึ่งได้รวมตัวกันที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อแสดงละครสะท้อนเหตุฆ่าแขวนคอพนักงานการไฟฟ้า เขตนครปฐม ภาพเหตุการณ์วันนั้นถูกนำไปเผยแพร่และบิดเบือนว่ากลุ่มนักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จนนำไปสู่การล้อมปราบปรามนักศึกษาและผู้ประท้วงในวันที่ 6 ตุลาคม อีกหนึ่งโศกนาฏกรรมบนหน้าประวัติศาสตร์ประเทศไทย

แม้เวลาจะล่วงเลยไป 41 ปี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นยังคงไม่ได้รับการชำระ และแทบไม่มีการพูดถึงความจริงที่เกิดขึ้นในวงกว้าง จนเรื่องราวของ 6 ตุลา คล้ายจะกลายเป็นสิ่งต้องห้าม พร้อมจะถูกลืมและลบเลือนไปจากความทรงจำของผู้คนในสังคม

แต่นักสร้างสรรค์จำนวนไม่น้อยปฏิเสธที่จะปล่อยให้เหตุการณ์นี้เลือนลางไปตามกาลเวลา โดยได้ผลิตผลงานศิลปะที่สะท้อนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ 6 ตุลา มากระตุ้นให้ผู้คนเข้าไปทำความรู้จักเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันนั้นจากหลากหลายมุมมอง หนึ่งในนั้นคือศิลปะภาพยนตร์

 

 

ภาพยนตร์ร่วมยุค 6 ตุลา

ช่วงเวลาหลังชัยชนะของประชาชนเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน’ ซึ่งเสรีภาพทางความคิดของผู้คนได้สะท้อนผ่านภาพยนตร์จำนวนไม่น้อย ทั้งด้านอุดมการณ์ และการวิพากษ์วิจารณ์สังคม ไม่ว่าจะเป็น ‘เขาชื่อกานต์’ ‘เทพธิดาโรงแรม’ โดยหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล และ ‘ตลาดพรหมจารีย์’ โดยณรงค์ จารุจินดา

วงการภาพยนตร์ไทยต้องเข้าสู่ยุคมืดอีกครั้ง หลัง 6 ตุลา 2519 ซึ่งนอกจากภาพยนตร์ข่าวที่บันทึกโดยทางการ ก็แทบไม่มีภาพยนตร์สะท้อนสังคมเรื่องใดได้ออกฉาย ซึ่งเรื่องที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้นภาพยนตร์กึ่งสารคดี ‘ทองปาน’ ที่เล่าถึงชีวิตของชาวนาอีสานผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนผามอง ซึ่งถูกบิดเบือนให้เชื่อมโยงกับคอมมิวนิสต์ จนกลายเป็นหนังต้องห้ามและทำให้นักแสดงรวมถึงทีมงานต้องหนีไปต่างประเทศ ก่อนจะตัดต่อเสร็จสมบูรณ์อีกหนึ่งปีให้หลัง และนำกลับมาฉายที่ไทยในวงจำกัดช่วงปลายปี 2520
 


โปสเตอร์ภาพยนตร์ 'หนักแผ่นดิน' 
 

ในปีเดียวกันนั้น ได้มีภาพยนตร์จำนวนหนึ่งสะท้อนความคิดของผู้คนในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็น ‘หนักแผ่นดิน’ ที่กำกับและนำแสดงโดยสมบัติ เมทะนี เล่าถึงกลุ่มลูกเสือชาวบ้านวังหินที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับ “ผู้ก่อการร้าย” เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยชื่อเรื่องนำมาจากเพลงในชื่อเดียวกันที่ถูกนำมาใช้ในการต้านขบวนการคอมมิวนิสต์ นอกจากนั้นยังมีภาพยนตร์เรื่อง ‘เก้ายอด’ โดยสุพรรณ พราหมณ์พันธุ์ ที่นำภาพข่าวการชุมนุมประท้วงของประชาชนมาสื่อว่าเป็นการมุ่งล้มประชาธิปไตย

ขณะเดียวกัน ภาพยนตร์สะท้อนสังคมได้กลับมาอีกครั้งอย่างแยบยล เช่น ‘ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น’ โดยหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ที่ออกฉายในปี 2520 นำเสนอชีวิตแท็กซี่ชาวอีสานที่มาทำงานในเมืองหลวง แต่สุดท้ายต้องพ่ายแพ้ต่อความอยุติธรรมในสังคมที่ไม่เปิดโอกาสให้คนจนได้มีสิทธิที่เท่าเทียม รวมถึง ‘ครูบ้านนอก’ โดยสุรสีห์ ผาธรรม ในปี 2521 เล่าถึงครูหนุ่มเปี่ยมอุดมการณ์ที่ต้องมาสังเวยชีวิตให้กับอำนาจมืด
 

 

 

หนึ่งทศวรรษหลัง 6 ตุลา

10 ปีหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง ‘ช่างมันฉันไม่แคร์’ ที่สะท้อนชีวิตผู้คนในช่วงเปลี่ยนผ่านหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งส่งผลต่ออุดมการณ์และชีวิตของแต่ละคน เช่นเดียวกับ ‘เวลาในขวดแก้ว’ ในปี 2534 ที่สร้างจากนวนิยายของประภัสสร เสวิกุล

ในปี 2544 บัณฑิต ฤทธิ์ถกล สร้างภาพยนตร์เรื่อง ‘14 ตุลา สงครามประชาชน’ ซึ่งเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้ร่วมเขียนบท เพื่อบันทึกชีวิตขณะเป็นผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่ต้องหนีการกวาดล้างของรัฐบาลไปเข้าป่า

โดยในปี 2552 มีภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา หลายเรื่องหลากแนว เช่น ‘ฟ้าใส ใจชื่นบาน’ ที่เล่าถึงนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบในเชิงขบขัน ซึ่งทำรายได้ไปกว่า 11 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีการถ่ายทอดเป็นหนังผีใน ‘มหาลัยสยองขวัญ’ ตอนลิฟท์แดง และ ‘October Sonata: รักที่รอคอย’ ที่นำเสนอผ่านความรัก การรอคอย และนิยายเรื่อง ‘สงครามชีวิต’ ของศรีบูรพา
 

 

 

6 ตุลา ในภาพยนตร์ยุคปัจจุบัน

‘ดาวคะนอง’ ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องที่สองของอโนชา สุวิชากรพงศ์ นับเป็นอีกเรื่องที่โดดเด่น ซึ่งถ่ายทอดความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่พร่าเลือน โดยเข้าฉายอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งคว้ารางวัลสำคัญบนเวทีสุพรรณหงส์ และชมรมวิจารณ์บันเทิง นอกจากนั้นยังได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศ ในปีนี้

 

 

“(ถอนหายใจ) 6 ตุลาเป็นเหตุการณ์เลวร้ายในประวัติศาสตร์ไทย และเป็นเหตุการณ์ที่มีความดำมืดอยู่ และไม่ได้รับการทำให้กระจ่างในสังคมไทย แล้วพอมันผ่านมานานขนาดนี้ 41 ปี ส่วนหนึ่งมันคือการถูกลืม ลืมเลือน เลือนลางไปจากความทรงจำของคนโดยอัตโนมัติ โดยตามธรรมชาติ แต่อีกส่วนหนึ่งคือการพยายามทำให้มันไม่เป็นที่พูดถึง การพยายามลบมันออกจากหน้าประวัติศาสตร์สังคมไทย” อโนชากล่าว “พอทำหนังเรื่องดาวคะนองออกมา ส่วนหนึ่งเราก็อยากกระตุ้นให้คนคิดถึงเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเด็กรุ่นหลังที่ไม่ได้โตมากับเหตุการณ์นี้ หรือไม่ได้รู้จักเหตุการณ์นี้ เหมือนไปสะกิดเขา ไปกระตุ้นว่าอยากให้ทำความรู้จัก อยากให้เขาเข้าไปสำรวจพื้นที่ตรงนี้ด้วยตัวเอง”

ในวันครบรอบ 41 ปี 6 ตุลา ปีนี้ มีการวางแผนฉายภาพยนตร์เรื่อง ‘ดาวคะนอง’ ในสามที่ ได้แก่ งาน 41 ปี 6 ตุลา ปกป้องประชาธิปไตยประชาชน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ งานลืมเสียเถิดอย่าคิดถึง ซึ่งผู้กำกับไปร่วมเสวนาที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) แต่การจัดงาน Doc Club Theater : "ดาวคะนอง" Movie + Talk ที่ Warehouse 30 กลับถูกเจ้าหน้าที่ระงับด้วยเหตุผลว่า “มีความสุ่มเสี่ยง”

แม้ประเด็น 6 ตุลา หรือเหตุการณ์ความขัดแย้งทางสังคมไม่ค่อยได้รับการนำเสนอผ่านภาพยนตร์กระแสหลัก แต่นักทำหนังอิสระ รวมถึงนักทำหนังรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย ได้พยายามถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งในรูปแบบหนังสั้นและสารคดี รวมถึงโครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’ ที่ภัทรพร ภู่ทอง ได้ทำหนังสารคดีบันทึกความรู้สึกของครอบครัวและญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ‘ความทรงจำ-ไร้เสียง (Silence-Memories)’ ในปี 2557 ‘ด้วยความนับถือ (Respectfully Yours)’ ในปี 2559 และล่าสุดกับ ‘สองพี่น้อง’ ที่ไปสัมภาษณ์ครอบครัวของสองช่างไฟฟ้าที่ถูกแขวนคอ ซึ่งเป็นชนวนเหตุที่นำไปสู่เหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลา
 


 

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และภาพยนตร์ วิเคราะห์ว่า การที่นักทำหนังไทยไม่ค่อยนำเสนอเหตุการณ์ทางการเมือง ส่วนหนึ่งมาจากกฎหมายเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ในอดีต และแม้จะยกเลิกกฎหมายนี้แล้ว แต่ผู้สร้างภาพยนตร์ยังคงต้องเลือกทำหนังที่สุ่มเสี่ยงน้อยกว่า ด้วยเหตุผลทางธุรกิจ แต่การผลิตสื่อที่สะดวกขึ้นในปัจจุบันช่วยสร้างโอกาสให้นักทำหนังรุ่นใหม่ได้สื่อสารความคิดในประเด็นเหล่านี้ได้เช่นกัน

“โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว แต่ว่าคนยังเชื่อมโยงกับอดีตไม่ได้เท่าไร เพราะคนกลับไปคิดเรื่องของ 6 ตุลา หรือเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา เพื่อจะเรียนรู้เป็นบทเรียนว่าเราจะไปต่ออย่างไร เพราะสังคมไทยเราบอกว่าให้ลืมมันไป แต่จริงๆ มันลืมไม่ได้ เพราะถ้าเราไม่จำมัน เพื่อที่จะเรียนรู้ มันก็อาจจะวกกลับมา ที่เขาเรียกว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ถ้าเราสามารถเรียนรู้บทเรียนจากอดีต ภาพยนตร์ก็อาจเป็นสื่อหนึ่งของการเรียนรู้ได้”

อโนชามองว่า การมีคนทำหนังเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา มากขึ้นเป็นสิ่งดี เพราะเป็นการสื่อสารเรื่องราวซึ่งเคยเป็นสิ่งต้องห้ามให้ผู้คนในสังคมได้รับรู้

“เราก็รู้ว่าดีที่จะมีหนังเกี่ยวกับ 6 ตุลา มากขึ้น เพราะแต่ละเรื่อง เนื้อหาและวิธีการ approach มันไม่เหมือนกันหรอก มันต่างกัน แล้วก็ทำให้เรื่องที่เมื่อก่อนอาจดูจะเป็น taboo ที่พูดถึงไม่ค่อยได้ แตะไม่ค่อยได้เนี่ย เราทำให้มันแตะได้ และขยายพื้นที่ตรงนั้น ยิ่งขยายไปเรื่อย ๆ พอถึงจุดหนึ่ง มันก็จะเป็นเรื่องที่ไม่ต้องปิดบังอีกต่อไปในสังคมไทย” อโนชากล่าว

โดยศักดินามองว่า ความขัดแย้งในสังคมสามารถแก้ไขได้ด้วยการพูดความจริง

“เราหนีไม่พ้นที่จะพูดความจริง และเอาอดีตมานั่งคุยกัน เพื่อที่จะทำความเข้าใจกับมัน แล้วเราจะได้ข้ามความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ แต่ถ้าเรายังหลีกเลี่ยงที่จะไม่คุยกัน ไม่คุยความจริง ไม่ปล่อยให้ความเห็นที่แตกต่างได้ถูกแสดงออกแล้ว ความขัดแย้งก็จะยังคงอยู่เรื่อย ๆ” ศักดินากล่าว

แม้ผ่านไป 41 ปี แต่ความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ยังคงไม่ได้รับการชำระ หรือถูกพูดถึงในวงกว้าง เหลือเพียงพื้นที่ทางศิลปะและภาพยนตร์ ที่นักสร้างสรรค์พยายามร่วมบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้น และเป็นอีกแรงที่จะทำให้เหตุการณ์นี้ไม่ถูกลบเลือนไปตามกาลเวลา

 

ภาพประกอบจาก: าวคะนอง
 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ตัวแทนภาพยนตร์ไทยชิงออสการ์ 'ดาวคะนอง' ถูกระงับฉายและเสวนา

‘ใหม่-อโนชา’ ระดมทุนสร้างโอกาส ‘ดาวคะนอง’ ชิงออสการ์

ส่ง ‘ดาวคะนอง’ ตัวแทนหนังไทยชิงออสการ์ ครั้งที่ 90

ภาพยนตร์สะท้อนเหตุการณ์เดือนตุลา

 

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog