ไม่พบผลการค้นหา
บริษัทเชลล์และบริษัทพลังงานจากคูเวต เห็นชอบการยกเลิกข้อตกลงซื้อขายหุ้นแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เพราะเจรจารายละเอียดไม่ลุล่วงในกรอบเวลาที่กำหนด

บริษัทเชลล์และบริษัทพลังงานจากคูเวต เห็นชอบการยกเลิกข้อตกลงซื้อขายหุ้นแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เพราะเจรจารายละเอียดไม่ลุล่วงในกรอบเวลาที่กำหนด

รอยัล ดัตช์ เชลล์ บริษัทพลังงานข้ามชาติ ออกแถลงการณ์วันที่ 4 ตุลาคม ระบุว่า บริษัทเชลล์ในประเทศไทยได้ยกเลิกข้อตกลงขายหุ้นในแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช ซึ่งอยู่นอกฝั่งทางตอนใต้ของประเทศไทย ให้แก่ KUFPEC บริษัทสำรวจพลังงานข้ามชาติของคูเวตในประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ในเดือนมกราคม บริษัททั้งสองได้ทำข้อตกลงขายหุ้นดังกล่าว โดยประเมินว่าจะเจรจาดำเนินการแล้วเสร็จให้ได้ภายในไตรมาสแรกของปีนี้ แต่หลังจากที่เจรจากับผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย บริษัททั้งสองก็เห็นตรงกันว่าให้ยกเลิกข้อตกลงซื้อขายหุ้นดังกล่าวไป

เนื้อหาในแถลงการณ์ของเชลล์ไม่ได้ระบุสาเหตุที่ยกเลิกข้อตกลง แต่เว็บไซต์ไฟแนนเชียลไทม์ สื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจชื่อดัง รายงานว่า เชลล์มีแผนปรับลดภาระหนี้ หลังจากที่เพิ่งซื้อกิจการของบริษัทพลังงานเครือบีจี มูลค่ากว่า 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงได้เจรจาขายหุ้นในแหล่งบงกชของไทยให้แก่เครือบริษัทคูเวต แต่การเจรจาระหว่างตัวแทนของเชลล์และรัฐบาลไทยเรื่องการกำหนดรายละเอียดข้อตกลงซื้อขายหุ้นนั้น ไม่อาจสำเร็จลุล่วงได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด เชลล์จึงต้องยกเลิกข้อตกลงซื้อขายหุ้นกับบริษัทจากคูเวตไป แต่ตัวแทนจาก KUFPEC ไม่ได้ตอบรับคำร้องขอสัมภาษณ์เพิ่มเติมจากสื่อรายนี้ จึงไม่มีข้อมูลของอีกฝั่ง

ส่วนสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า บริษัทของเชลล์ในไทย ทั้ง SIGT และ TEC มีสัดส่วนหุ้นในแหล่งบงกชในอ่าวไทยรวมกันร้อยละ 22.22 ประกอบด้วยแปลงหมายเลข 15 , 16 , 17 และแปลงหมายเลข G12/48 มูลค่า 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างเชลล์กับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ซึ่งมีสัดส่วนหุ้นร้อยละประมาณ 44.44 และบริษัท Total ร้อยละ 33.33 แต่เชลล์ย้ำว่าจะร่วมมือและสนับสนุนการทำงานของบริษัท ปตท.สผ.ต่อไป แม้ว่าข้อตกลงเรื่องซื้อขายหุ้นระหว่างเชลล์กับบริษัทจากคูเวตจะล้มเลิกไปแล้วก็ตาม

ก่อนหน้านี้ พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ออกมาระบุว่าเป็นห่วงการผลิตปิโตรเลียมในไทย หลังบริษัทต่างชาติทยอยขายหุ้นเพราะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลง ซึ่งก่อนหน้าที่เชลล์จะประกาศแผนขายหุ้นแหล่งบงกชและล้มเลิกไป ก็มีบริษัทเชฟรอนซึ่งกล่าวว่าจะขายหุ้นในแหล่งอาทิตย์เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นายแอนดรูว์ ฮาร์วูด ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านพลังงานของบริษัทวู้ด แมคเคนซี ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า ช่วงที่ผ่านมา เชลล์ได้รับผลกระทบจากการซื้อกิจการบีพี จึงต้องปรับกลยุทธ์การบริหารงาน โดยมีการลดสายธุรกิจ ซึ่งช่วยลดต้นทุนได้มากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้เชลล์ยังไม่จำเป็นต้องขายหุ้นแหล่งบงกชตามเป้าหมายเดิม เพราะไทยยังเป็นตลาดด้านพลังงานที่สร้างรายได้และเป็นประโยชน์กับเชลล์อยู่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog