ไม่พบผลการค้นหา
ทีมข่าว "วอยซ์ทีวี" สำรวจปฏิทินวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเคาะวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2561 พร้อมนั่งในตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารนานถึง 4 ปีเต็ม

ทีมข่าว "วอยซ์ทีวี" สำรวจปฏิทินวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเคาะวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2561 พร้อมนั่งในตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารนานถึง 4 ปีเต็ม

"ผู้นำสหรัฐฯไม่ได้สอบถามถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย แต่ผมได้เล่าให้ฟังถึงการเดินหน้าประเทศไทยว่าเป็นไปตามหลักสากล โดยจะเดินตามโรดแมปที่ประกาศไว้ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง และในปีหน้าจะประกาศวันเลือกตั้งอย่างแน่นอน"

คำยืนยันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้ประกาศไว้ระหว่างเข้าพบนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ภายในทำเนียบประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ

นั่นหมายความว่าไม่ว่า วันใดวันหนึ่งในศักราช 2561  ประชาชนคนไทยทั้งประเทศจะได้ยินคำประกาศวันเลือกตั้งของพล.อ.ประยุทธ์ อย่างเป็นทางการ 

เป็นการประกาศวันเลือกตั้งอย่างแท้จริง ภายหลังผู้นำที่มาจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้ขึ้นนั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนับแต่วันที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติ 191 เสียงเห็นชอบท่วมท้นเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557

มีความเป็นไปได้สูงที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จะอยู่ในตำแหน่งถึง 4 ปีเต็มในปี 2561 

เหนือกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  
เหนือกว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  
เหนือกว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์  
เหนือกว่า นายสมัคร สุนทรเวช
และเหนือกว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

พล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งทำลายสถิติ นายกรัฐมนตรีถึง 5 คนนับแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2549

อีกทั้งจะทำสถิติครองเก้าอี้นายกฯ ครบ 1เทอมเท่ากับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งเคยอยู่ครบเทอมเมื่อปี 2544-2548

ความเป็นไปได้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2561 จึงมีความเป็นได้สูง ถ้าไล่เรียงลำดับเวลาโรดแมปเลือกตั้งนับจากวันนี้เป็นต้นไป

เพราะการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับการประกาศใช้ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ ประกอบด้วย 1. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.  2.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 3.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.  และ  4. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.

โดยก่อนหน้านี้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560

ขณะที่ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองอยู่ระหว่างรอการประกาศใช้หลังผ่านการพิจารณาของ สนช.ไปแล้ว

ไทม์ไลน์กฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งอีก 2 ฉบับสุดท้ายจึงต้องทำให้เสร็จภายในวันที่ 4 ธันวาคม 2560 (ครบกำหนดที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องจัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งหมด 10 ฉบับให้เสร็จภายใน 240 วัน)

ปฏิทินนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งจึงคาดได้ดังนี้

4 ธันวาคม 2560
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 2ฉบับสุดท้ายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งจัดทำเสร็จใน 240วัน

-มกราคม – กุมภาพันธ์ 2561
สนช. เห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ภายในกรอบ 60 วัน

-มีนาคม 2561
องค์กรอิสระ  กรธ. และ ศาล รธน. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับเลือกตั้ง 2 ฉบับสุดท้ายจะมีเนื้อหาตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าไม่มีปัญหาก็จะเข้าสู่ขั้นตอนส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ 

-เมษายน - มิถุนายน 2561  
ประกาศใช้ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับสุดท้ายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งภายใน 90 วัน

-กรกฎาคม - พฤศจิกายน 2561 
นายกรัฐมนตรีประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญภายใน 150 วัน

เท่ากับว่าการเลือกตั้งมีความเป็นไปได้สูงจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2561 เพราะในช่วง150 วันของการเลือกตั้งจะต้องให้เวลาพรรคการเมืองได้ปรับตัวและหาเสียงด้วย

ขณะที่รัฐบาล คสช.จะมีอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินนับตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2562 ก่อนส่งมอบอำนาจให้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในปี 2562

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog