ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการชี้ ใช้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษจับกุมผู้เสพกัญชา – กระท่อม ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง เป็นการใช้กฏหมายเกินสมควร

นักวิชาการชี้ ใช้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษจับกุมผู้เสพกัญชา – กระท่อม ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง เป็นการใช้กฏหมายเกินสมควร เสนอแก้กฏหมายเปิดทางให้แพทย์ เภสัชกร สามารถจ่ายยาได้ แนะหากมีการใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมก็ต้องควบคุมเข้มงวดมากเพิ่มขึ้น หวั่นภูมิปัญญาไทยนับร้อยปีสูญหาย


นายไพศาล  ลิ้มสถิตย์  กรรมการบริหาร ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลกำลังแก้ไขปรับปรุงกฎหมายยาเสพติด โดยมีประเด็นสำคัญที่ยังถกเถียงกันอยู่คือ การใช้กัญชาและกระท่อมอย่างถูกกฎหมาย เนื่องจากพืชดังกล่าวจัดอยู่ในยาเสพติดประเภทที่ 5 ในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เข้มงวดเกินไป เนื่องจากห้ามใช้ในทุกกรณีรวมทั้งในทางการแพทย์


นายไพศาลกล่าวว่าที่ผ่านมามีความพยายามเสนอแก้ไขกฎหมายโดยทำเป็นร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด แต่ยังมีข้อจำกัดอยู่บางเรื่องคือ กำหนดให้ผู้เสพหรือผู้ใช้กัญชาหรือกระท่อมมีความผิดทางอาญา ขณะที่ในต่างประเทศไม่ได้ถือว่าเป็นความผิดแล้ว โดยกำหนดความผิดเฉพาะผู้ใช้หรือผู้เสพที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมหรือผู้อื่น 


นอกจากนี้นายไพศาลเสนอว่า ควรมีร่างพระราชบัญญัติขึ้นมาเป็นการเฉพาะที่มีกระบวนการจัดการกระท่อมและกัญชา ตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยวและมีหลักเกณฑ์การใช้ในทางการแพทย์ รวมทั้งผู้ที่มีอำนาจในการสั่งยา อย่างเช่น แพทย์แผนไทย แพทย์แผนปัจจุบันและเภสัชกรที่สามารถจ่ายยาได้ และหากมีการใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมก็ต้องมีการควบคุมที่เข้มงวดมากเพิ่มขึ้น 


"ดูแล้วแนวโน้มพืชพวกนี้มีผลดีทางเศรษฐกิจเป็นแนวทางที่จะส่งเสริมรายได้ของประเทศด้วย ในตำรับยาแพทย์แผนไทยในอดีตมีการใช้กัญชาและกระท่อมเป็นเวลานานหลายร้อยปีและอยู่ในตำรับยาจำนวนมาก อย่างเช่น กระท่อมก็จะมีตำรับยาหนุมานจองถนนปิดมหาสมุทรซึ่งแก้โรคท้องร่วงท้องเสีย โดยยาจำพวกนี้มีสรรพคุณที่ใช้ประโยชน์ได้ การที่มีกฎหมายไปปิดโอกาสการใช้พืชเหล่านี้และกำหนดเป็นยาเสพติดให้โทษก็น่าเสียดาย ทำให้หมอพื้นบ้านหรือแพทย์แผนไทยนำยาพวกนี้มาใช้ไม่ได้และทำให้ตำรับยาเหล่านี้สูญหายไป” นายไพศาลกล่าวในงานเสวนา “การจัดการพืชกระท่อมและกัญชา เพื่อความมั่นคงด้านยาและสุขภาพของสังคมไทย ครั้งที่ 2 จัดโดยแผนงานเฝ้าระวังและพัฒนายา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


แม้ว่ารัฐบาลกำลังจัดทำร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดและพยายามแก้ไขในเรื่องนี้ แต่ยังมีข้อจำกัดในหลายกรณี อย่างเช่น พื้นที่ที่ปลูกก็มีการกำหนดเฉพาะพืชบางชนิดเท่านั้น ซึ่งหากเป็นกรณีที่ชุมชนปลูกอยู่แล้วก็ควรให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกหรือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเข้ามาดูแล


ในส่วนการผลิตเป็นแคปซูลเพื่อจำหน่ายในอนาคตนั้น นายไพศาล กล่าวว่า หากมีการแก้ไขกฎหมายและศึกษาวิจัยที่ดีก็สามารถผลิตและนำมาใช้รักษาโรคได้ อย่างเช่น ใบกระท่อม โดยหลักแล้วถ้าใช้ในปริมาณน้อยจะไม่ค่อยมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้ แต่สำหรับกัญชานั้นขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ หากเป็นดอกก็จะมีสารอัลคาลอยด์ปริมาณมากอาจเป็นอันตรายได้ ดังนั้นควรศึกษาวิจัยถึงผลกระทบทางการแพทย์ก่อน


“หากเปรียบเทียบกับการปิดโอกาสในส่วนนี้ ก็อาจเปิดช่องให้องค์กรอาชญากรรมเอาไปใช้ในการค้าผิดกฎหมายได้ อีกทั้งรายได้แทนที่จะเข้ารัฐก็ไปเข้าองค์กรอาชญากรรม มีการจับกุมดำเนินคดีผู้เสพที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคม อันนี้ก็ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างซึ่งเป็นการใช้กฏหมายเกินสมควร เป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนมากกินไป”นายไพศาลกล่าว

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog