ในที่สุดสหประชาชาติก็ยืนยันอย่างเป็นทางการว่าเหตุการณ์ในรัฐยะไข่ของเมียนมา เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หลังจากมีการเตือนอย่างอ้อมๆมาก่อนหน้านี้หลายเดือน แต่การการันตีว่าเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สำคัญอย่างไรกับการแก้ปัญหาโรฮิงญา และหลังจากนี้ นานาชาติจะทำอะไรต่อไปกับรัฐบาลเมียนมา?
คำว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นหนึ่งในคำที่มีการถกเถียงกันมากที่สุดเมื่อถูกใช้ในแวดวงการเมืองและหน้าสื่อ เนื่องจากเป็นข้อกล่าวหาที่หนักหน่วงและใช้ทำลายความน่าเชื่อถือทางการเมืองของผู้ถูกกล่าวหา แต่โดยพื้นฐาน การลบล้างเผ่าพันธุ์ หรือ ethnic cleansing คือการทำให้พื้นที่หนึ่งมีประชากรเพียงเผ่าพันธุ์เดียว โดยใช้กำลังและการคุกคามขับไล่ประชากรเผ่าพันธุ์อื่นออกนอกพื้นที่ แม้จะไม่จำเป็นต้องมีการสังหารเกิดขึ้น แต่ส่วนใหญ่การลบล้างเผ่าพันธุ์มักเกิดควบคู่ไปกับการใช้ความรุนแรงทุกชนิด ทั้งทำร้ายร่างกาย ฆ่า ทรมาน และข่มขืน
สหประชาชาติเคยเตือนว่า สถานการณ์ในรัฐยะไข่ของเมียนมาเข้าข่ายการลบล้างเผ่าพันธุ์มาตั้งแต่ปลายปี 2016 และมีการเตือนมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเลขาธิการคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ หรือ UNHRC กล่าวว่า เหตุการณ์ในยะไข่ถือเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบของการลบล้างเผ่าพันธุ์ และเลขาธิการสหประชาชาติก็เห็นด้วย ขณะที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลบังกลาเทศ ประเทศที่ต้องรับผู้ลี้ภัยเกือบทั้งหมดจากเมียนมา ก็ยืนยันเช่นกันว่าชาวโรฮิงญาเผชิญกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แม้รัฐบาลเมียนมาจะปฏิเสธมาตลอด และนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งรับหน้าที่หัวหน้าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีความรุนแรงในยะไข่ ก็ยืนยันว่าไม่ควรกล่าวหารัฐบาลเมียนมาด้วยข้อหานี้ เนื่องจากเป็นข้อหาหนัก ต้องมีพยานหลักฐานชัดเจน
การถกเถียงเรื่องกรณีโรฮิงญาเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่ มีความสำคัญ เนื่องจากหากเหตุการณ์นี้เข้าข่ายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สหประชาชาติและนานาชาติย่อมสามารถมีบทบาทได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เนื่องจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นกิจการภายในของรัฐบาลเมียนมา โดยในสัปดาห์หน้า จะมีการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติพอดี ซึ่งหลายประเทศจะมีการประชุมเพื่อหาทางออกกรณีโรฮิงญา ได้แก่อังกฤษ ที่จะจัดประชุมระดับรัฐมนตรีระหว่างการประชุม UN เพื่อหารือกรณีเมียนมาโดยเฉพาะ และตุรกีที่จะเป็นเจ้าภาพการประชุมกลุ่มประเทศองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC หารือประเด็นเดียวกัน ขณะที่สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯก็กำลังกดดันให้มีการคว่ำบาตรทางทหารต่อเมียนมา เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม จีนยังเป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลเมียนมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่คัดค้านมติประณามเมียนมาของ UNSC แต่เมียนมาก็อ้างว่าจีนให้การสนับสนุนการปราบปรามการก่อการร้ายในประเทศ อย่างเต็มที่ และเห็นว่าเรื่องนี้เป็นกิจการภายในของเมียนมา