ไม่พบผลการค้นหา
ตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างหนัก ทั้งการควบคุมตัวนายเกิม เสิกขา หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านในข้อหากบฏ สั่งปิดสถานีวิทยุ 15 แห่ง องค์กรภาคเอกชน 1 แห่ง และใช้มาตรการทางภาษีกดดันจนหนังสือพิมพ์อิสระต้องปิดตัว ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดรัฐบาลกัมพูชาจึงเร่งปราบฝ่ายตรงข้ามอย่างหนักในเวลานี้? และเพราะเหตุใดชาติมหาอำนาจจึงเพิกเฉยต่อความไม่เป็นประชาธิปไตยในกัมพูชา?

ตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างหนัก ทั้งการควบคุมตัวนายเกิม เสิกขา หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านในข้อหากบฏ สั่งปิดสถานีวิทยุ 15 แห่ง องค์กรภาคเอกชน 1 แห่ง และใช้มาตรการทางภาษีกดดันจนหนังสือพิมพ์อิสระต้องปิดตัว ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดรัฐบาลกัมพูชาจึงเร่งปราบฝ่ายตรงข้ามอย่างหนักในเวลานี้? และเพราะเหตุใดชาติมหาอำนาจจึงเพิกเฉยต่อความไม่เป็นประชาธิปไตยในกัมพูชา?

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาภายใต้การนำของนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองครั้งใหญ่ โดยนายเกิม เสิกขา หัวหน้าพรรคกู้ชาติกัมพูชา หรือ CNRP ได้ถูกควบคุมตัวพร้อมตั้งข้อหากบฏและสมคบคิดกับสหรัฐฯ เพื่อโค่นล้มการปกครอง ขณะที่หนังสือพิมพ์ 'เดอะ แคมโบเดีย เดลี' ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์อิสระที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลฉบับสุดท้ายก็ต้องประกาศปิดตัวลง หลังถูกรัฐบาลเรียกเก็บภาษีกว่า 200 ล้านบาท เช่นเดียวกับสถานีวิทยุ 15 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้ยังรวมถึงสถานีวิทยุ 'เรดิโอ ฟรี เอเชีย' และ 'วอยซ์ ออฟ อเมริกา' ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ถูกทางการกัมพูชาสั่งปิด เนื่องจากไม่สามารถแสดงที่มาของรายได้และรายชื่อของลูกค้าที่ซื้อเวลาจากสถานีได้ นอกจากนี้ รัฐบาลกัมพูชายังได้สั่งปิดสถาบันประชาธิปไตยแห่งชาติ หรือ NDI ซึ่งเป็นองค์กรประชาสังคมที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ พร้อมสั่งเนรเทศลูกจ้างชาวต่างชาติของ NDI ทั้งหมดภายในเวลา 1 สัปดาห์ โดยการปราบปรามสื่อและพรรคฝ่ายค้านอย่างหนัก ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าเหตุใดรัฐบาลกัมพูชาจึงเร่งปราบฝ่ายตรงข้ามอย่างหนักในเวลานี้? และเพราะเหตุใดชาติมหาอำนาจจึงเพิกเฉยต่อความไม่เป็นประชาธิปไตยในกัมพูชา?

นายเกิม เสิกขา หัวหน้าพรรคกู้ชาติกัมพูชา

เว็บไซต์นิวแมนดาลา ได้เผยแพร่บทความเรื่อง "อธิบายการปราบปรามในกัมพูชา" (Explaining the Crackdown in Cambodia) ซึ่งเขียนโดยคงเคีย เชือน นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ที่วิเคราะห์ว่า สาเหตุสำคัญที่รัฐบาลกัมพูชาเร่งปราบปรามฝ่ายตรงข้ามอย่างหนัก เกิดจากปัจจัย 2 ประการ คือ ปัจจัยภายในประเทศ ซึ่งได้แก่ ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งพรรค CNRP ได้รับจำนวนที่นั่งในสภาท้องถิ่นเพิ่มขึ้นถึง 12 เท่า และปัจจัยภายนอก ซึ่งได้แก่ บทบาทของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีน 

คงเคียอธิบายว่า ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของกัมพูชาได้เติบโตอย่างรวดเร็วเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี ขณะที่ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็ลดลงอย่างมาก นอกจากนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กัมพูชาได้พัฒนาความเป็นประชาธิปไตยอย่างรวดเร็ว โดยก่อนการเลือกตั้งในปี 2013 พรรคฝ่ายค้านได้จับมือกันรณรงค์หาเสียง ส่งผลให้ผลการเลือกตั้งที่ออกมา แม้พรรคประชาชนกัมพูชา หรือ CPP ของนายฮุน เซน จะชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง แต่จำนวนที่นั่งในสภาของพรรค CPP กลับลดลงร้อยละ 20 ส่งผลให้รัฐบาลกัมพูชาพยายามควบคุมบรรยากาศเปิดกว้างทางการเมืองอีกครั้ง ด้วยการผ่านกฎหมายควบคุมการทำงานของเอ็นจีโอ โดยบังคับให้เอ็นจีโอทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต้องขึ้นทะเบียนกับรัฐบาล รายงานกิจกรรมและที่มาของรายได้ ซึ่งมาตรการควบคุมที่เข้มข้นขึ้นนี้เอง ทำให้เอ็นจีโอเสี่ยงต่อการถูกปรับ ถูกจับกุมดำเนินคดี หรือเนรเทศ

นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา

คงเคียวิเคราะห์ว่า ปัจจัยสำคัญประการแรก ที่ทำให้ตอนนี้รัฐบาลกัมพูชาหันมาเร่งปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอีกครั้ง คือ ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่แม้ว่าพรรค CPP จะยังคงได้รับคะแนนนิยมถึงร้อยละ 70 และได้จำนวนที่นั่งในสภาท้องถิ่นรวมกันถึง 1,156 ที่นั่ง แต่ที่นั่งที่เหลือต่างตกเป็นของพรรค CNRP ส่งผลให้พรรค CNRP ได้รับจำนวนที่นั่งในสภาท้องถิ่นเพิ่มขึ้นถึง 12 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นเมื่อปี 2012

ปัจจัยประการที่สอง คือ บทบาทของประเทศมหาอำนาจ โดยคงเคียมองว่า นับตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปลายปี 2016 บทบาทด้านการสนับสนุนประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่นความล้มเหลวของสหรัฐฯ ในการกดดันให้ไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การลดบทบาทในการสนับสนุนประชาธิปไตยในลาวและเวียดนาม รวมไปถึงการที่สหรัฐฯ ไม่ออกมากดดันให้รัฐบาลเมียนมาเคารพหลักสิทธิมนุษยชนและยุติการกวาดล้างชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ทำให้รัฐบาลกัมพูชาอาศัยโอกาสนี้ในการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างรุนแรง

22 พฤษภาคม 2014 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ทำการรัฐประหารรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

คงเคียเปิดเผยว่า ไม่ใช่เพียงสหรัฐฯ เท่านั้นที่ล้มเหลวในการปกป้องประชาธิปไตยในกัมพูชาและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ยังรวมไปถึงออสเตรเลียและยุโรปที่ไม่ออกมาแสดงจุดยืนต่อการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองที่เกิดขึ้น โดยคงเคียระบุว่า ประเด็นที่สหภาพยุโรปหรืออียู ให้ความสนใจมากที่สุดในขณะนี้ คือ กระบวนการเบรกซิต และขบวนการประชานิยม ส่งผลให้บทบาทด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในต่างแดนของอียูลดลง 

ปัจจุบันนี้ ประเทศที่มีอิทธิพลต่อกัมพูชามากที่สุด คือ จีน เนื่องจากจีนลงทุนในกัมพูชาสูงถึง 857 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 280,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 70 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทั้งหมด นอกจากนี้ เมื่อปี 2015 จีนยังมอบเงินช่วยเหลือให้แก่กัมพูชาจำนวน 320 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 30 ของเงินช่วยเหลือจากต่างชาติทั้งหมด ขณะที่การลงทุนของชาติตะวันตกในกัมพูชากลับมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ 

นายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน

หลังจากรัฐบาลกัมพูชาควบคุมตัวนายเกิม เสิกขา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ระหว่างการตอบคำถามนักข่าวว่า รัฐบาลจีนสนับสนุนความพยายามในการปกป้องความมั่นคงและเสถียรภาพของรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งเว็บไซต์ The Diplomat วิเคราะห์ว่า การแสดงจุดยืนของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า จีนยังคงให้การสนับสนุนรัฐบาลของนายฮุน เซนอยู่

ด้วยเหตุนี้เอง คงเคียจึงวิเคราะห์ทิศทางการเมืองของกัมพูชาหลังจากนี้ว่า รัฐบาลของนายฮุน เซนน่าจะอยู่ในอำนาจต่อไป เพราะตราบใดที่รัฐบาลยังสามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโต และประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลประโยชน์จากการปฏิรูปในบางด้าน ชาวกัมพูชาก็ไม่น่าลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาล และพรรค CNRP ก็ทำได้เพียงจำยอมต่อไป ขณะที่เว็บไซต์ The Diplomat วิเคราะห์ว่า แม้พรรค CNRP จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในปี 2018 แต่พรรค CPP ก็อาจพร้อมที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องอำนาจเช่นกัน

เรียบเรียงโดย: สลิสา ยุกตะนันทน์

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog