ไม่พบผลการค้นหา
ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ พาย้อนเวลาฟังเรื่องราวสนุกๆ และแง่คิดทางประวัติศาสตร์ ชมความสวยงามของตำหนักจิตรลดาพร้อมการจัดแสดงพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 5 และลายพระหัตถ์เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ รวมถึงของใช้ส่วนพระองค์ ที่ผ่านกาลเวลาไม่ต่ำกว่า 120 ปี ในจักรพงษ์นิทรรศน์   

ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ พาย้อนเวลาฟังเรื่องราวสนุกๆ และแง่คิดทางประวัติศาสตร์ ชมความสวยงามของตำหนักจิตรลดาพร้อมการจัดแสดงพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 5 และลายพระหัตถ์เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ รวมถึงของใช้ส่วนพระองค์ ที่ผ่านกาลเวลาไม่ต่ำกว่า 120 ปี ในจักรพงษ์นิทรรศน์   

 

ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ ประธานกรรมการสำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ พารำลึกพระประวัติและผลงานของทูลกระหม่อมปู่ หรือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5 ) กับสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ใน “จักรพงษ์นิทรรศน์” ที่จัดขึ้นโดยราชสกุลจักรพงษ์ สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์และพิพิธภัณฑ์ตำรวจ ณ ตำหนักจิตรลดา พิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน อดีตที่ประทับของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์   

 

สำหรับจักรพงษ์นิทรรศน์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 ก.ค. – 30 ก.ย.60 เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 120 ปีความสัมพันธ์ไทยรัสเซีย พร้อมกันนี้ผู้จัดงานได้จัดอีกหนึ่งนิทรรศการคือ “ร้อยปีสยามกับสงครามโลกครั้งที่ 1” ในอาคารพิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน ด้านหลังตำหนักจิตรลดา ซึ่งแสดงเรื่องราวในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อครั้งรัชกาลที่ 6 ทรงตัดสินพระทัยประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี โดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ เสนาธิการทหารบก ทรงเป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญในการส่งกองกำลังทหารอาสาไปฝรั่งเศส ผลลัพธ์ที่สำคัญที่สุดเมื่อเสร็จสงครามและสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะ คือการที่สนธิสัญญาต่างๆ ที่สยามทำกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีสิ้นสุดลง สยามสามารถขอเจรจาข้อแก้ไขสนธิสัญญาฉบับเก่าซึ่งทำไว้กับอังกฤษ ฝรั่งเศสและชาติอื่นๆ ด้วย 

 

 

หลังชมทั้ง 2 นิทรรศการแล้ว สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหนังสือ “ถึงลูกชายเล็ก” โดย ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ และ หนังสือ “สยามกับสงครามโลกครั้งที่ 1” โดยคุณสเตฟาน เฮลล์       

 

ม.ร.ว.นริศรา ให้สัมภาษณ์ Voice TV ถึง “จักรพงษ์นิทรรศน์” โดยเริ่มจากตำหนักจิตรลดาที่ตั้งของนิทรรศการนี้ว่า ตำหนักที่เรานั่งอยู่นี้ คือตำหนักจิตรลดา ตอนแรกเป็นของรัชกาลที่ 6 ส่วนเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ อยู่วังปารุสก์ (อีกตำหนัก) ซึ่งตอนนี้เป็นสำนักข่าวกรอง ตอนนั้นพื้นที่ไม่พอ ทูลกระหม่อมปู่(เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ) จึงขอพี่ชาย คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (ต่อมาคือรัชกาลที่ 6 ) ขอแลกกันหน่อย ก็เลยมี 2 ตำหนัก

 

 

ส่วนเรื่องการตบแต่ง สมัยนั้น เจ้านายก็อยากให้คนต่างชาติมองว่าเราศิวิไลซ์ เพื่อจะไม่โดนเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส จึงจ้างสถาปนิกต่างชาติแทนที่จะเป็นบ้านทรงไม้เหมือนเรือนต้นที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้าง ก็อยากจะให้เป็นบ้านทรงฝรั่ง แล้วสถาปัตยกรรมตอนนั้นก็เป็นอาร์ต นูโว ซึ่งสวยมากมีลายละเอียดน่าประทับใจ 

 

สำหรับนิทรรศการจักรพงษ์นิทรรศน์ ห้องแรกเล่าประวัติทั่วไป เป็นไทม์ไลน์ตั้งแต่ประสูติ เสด็จอังกฤษ รัสเซีย กลับมาทรงงานที่เมืองไทย กลับมารับราชการทหารและทิวงคต 

 

ห้องแรกมีสิ่งของสำคัญที่น่ารักก็คือ ฉลองพระองค์จากสมัยนั้น 2 ชิ้น ซึ่งเก่ากว่า 120 ปีแล้ว บังเอิญยังอยู่ขณะที่เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ หายไปจากวังปารุสก์หมดแล้ว แล้วก็มีรูปภาพทูลกระหม่อมปู่สมัยยังทรงพระเยาว์ 

 

จากนั้น เมื่อขึ้นบันไดไปก็จะเป็นตู้โชว์ จะมีช้างเงินที่เคยประดับโต๊ะเสวย จะมีที่วางดินสอ มีหมี 2 ตัวถืออยู่ซึ่งมาจากรัสเซีย เคยอยู่บนโต๊ะทรงงานของท่าน 

 

 

มีเมนูอันนี้ซึ่งก็น่าสลดใจ เป็นเมนูมื้อสุดท้าย คือ ทหารมีจัดเลี้ยง แล้วทูลกระหม่อมปู่ก็เหนื่อยมาก ทำงานหนัก ก็ไปเสวยครั้งนั้น แล้วมีนายทหารอีกหลายคนซึ่งหลังจากนั้น นายทหารไม่สบาย ทูลกระหม่อมปู่ก็ประชวร แต่อย่างไรก็ตาม ท่านอยากจะพาท่านหญิงชวลิตโอภาศ (หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาศ รพีพัฒน์) ซึ่งเป็นชายาคนใหม่ ไปเที่ยวที่สิงคโปร์ พร้อมกับพ่อของดิฉัน (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ หรือ พระองค์จุล) ลงเรือทั้งที่ทูลกระหม่อมปู่ประชวรหนัก พอถึงสิงคโปร์ก็ทิวงคต เรื่องนี้ถ้าใครรู้เรื่องเบื้องหลังแล้วมาดูเมนู ก็คงรู้สึกเศร้าใจ 

 

 

จากนั้น ก็ชมห้องที่จัดแสดงเรื่องราวเมื่อครั้งที่เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ เสด็จไปที่อังกฤษ เรียนหนังสือเตรียมตัวไปรัสเซียต่อ ซึ่งจะมีรูปพี่ๆ น้องๆ พระองค์อื่น แล้วตอนนั้น รัชกาลที่ 5 เสด็จมาประพาสยุโรป ก็เสด็จมาอยู่ที่อังกฤษด้วย

 

 
ต่อมาก็เข้าชมนิทรรศการที่ห้องรัสเซียซึ่งมีเอกสารมากหน่อย มีโถเงินที่เป็น  punch bowl  ใช้ตักเหล้าชนิดหนึ่ง ซึ่งนายคาร์ล ฟาแบร์เช่ ได้มอบให้ทูลกระหม่อมปู่เป็นที่ระลึก  มีเขียนอุทิศให้ 

 

 

แล้วก็มีม้าที่เป็นม้าสำริด เพราะทูลกระหม่อมปู่อยากจะเข้าเป็นทหารม้าที่รัสเซีย บอกว่าองค์เล็กจะเดินเป็นทหารราบไม่ทันเขา นี่ก็อยู่ในจดหมายสนุกมาก รัชกาลที่ 5 ก็ไม่โปรด เพราะกลัวว่าจะตกม้า อย่างไรก็ตามท่านก็เข้ากรมทหารม้าฮุสซาร์ได้ แล้วม้าตัวนี้ ชื่อรามุสกา ท่านทำเป็นสำริด ถ้าสังเกตรูปภาพของวังปารุสก์ จะเห็นม้าตัวนี้ตั้งอยู่บนโต๊ะ แล้วจะมีรูปปั้นสำริดของพระเจ้าซาร์(จักรพรรดิซาร์นิโคลัสที่ 2)ด้วย กำลังทรงม้าอยู่ 

 

 

แล้วตรงนั้น ก็จะเล่าเรื่องว่า ชีวิตประจำวันทำอะไร เข้ากรมม้าฮุสซาร์ เรียนที่ Corp dea Pages  

 

 

เสร็จแล้วออกจากห้องนั้น ก็กลับมาที่สยาม มีตัวอย่างกิจกรรมต่างๆ ที่ท่านทำ การทรงงาน เหรียญตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ห้องสุดท้ายเกี่ยวกับชีวิตส่วนพระองค์และตอนที่ทิวงคต 

 

 

ม.ร.ว.นริศรา เล่าต่อด้วยว่า เอกสารที่นำมาแสดงในนิทรรศการ “จักรพงษ์นิทรรศน์” มีหลายอย่าง เช่น  จดหมายตัวอย่าง 3 ฉบับ มีภาษารัสเซีย น่ารักมาก เป็นจดหมายรักจากทูลกระหม่อมปู่ถึงแคทยา(หม่อมย่า) ตอนท่านกำลังจะหนีไปแต่งงาน และอีกฉบับเป็นลายพระหัตถ์เขียนถึงรัชกาลที่ 5 อีกฉบับหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษ เพราะตอนนั้นอยู่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก พระยามหิบาล ซึ่งเป็นทูตก็บอกกับทูลกระหม่อมปู่ว่า ให้เขียนเป็นภาษาอังกฤษบ้าง ไม่งั้นจะลืม เพราะมาอยู่รัสเซีย พูดภาษารัสเซียเก่งขึ้น ภาษาอังกฤษจะหายไป แล้วก็จดหมายภาษาอังกฤษก็จะสังเกตได้เลย จะเขียนแค่ My Dear Father  ถึงพ่อที่รัก ส่วนจดหมายภาษาไทยต้องเป็นทางการมากกว่าเพราะต้องใช้ราชาศัพท์ 

 

 

นอกจากนั้น มีพระราชหัตถเลขาที่รัชกาลที่ 5 ทรงดุลูก ตอนที่รู้ว่ากำลังติดใจหญิงนักระบำที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ก็สนุกมาก คือ ท่านจะเขียนจดหมายเก่งมาก บอกเป็นขั้นตอนว่าทำอะไรผิดอย่างไรแล้วจะมีผลอย่างไร 

 

 

แล้วก็อีกฉบับหนึ่งที่เศร้าคือตอนที่กลับมาเมืองไทยแล้วทรงทราบว่า ทูลกระหม่อมปู่ได้แต่งงานแล้ว กับผู้หญิงต่างชาติ ก็กริ้วมากๆ และเขียนจดหมายที่เจ็บมาก แล้วตอนพ่อดิฉันเกิดก็เช่นกัน ก็เขียนว่า ไม่ให้เป็นเจ้า เพราะตอนแรก ทูลกระหม่อมปู่บอกว่า ลูกเกิดมาก็ไม่เป็นไร เป็นมิสเตอร์ก็ได้ แต่พอลูกเกิดจริงๆ ก็อยากจะเป็นเจ้า บอกว่าจะเสียพระเกียรติของสมเด็จพระพันปีหลวง แต่ว่ารัชกาลที่ 5 ไม่ยอมเลย 

 

 

แล้วก็มีจดหมายสนุกๆ ที่ทูลกระหม่อมปู่เขียนถึงพี่ชาย หรือเขียนถึงหม่อมย่าก็สนุก ตอนที่กำลังจะหนีไปแต่งงานเพราะตอนนั้นรัชกาลที่ 5 ทรงอยากจะให้ทูลกระหม่อมปู่ ไปแทนพระองค์ ที่เดนมาร์ก ในงานพระบรมศพของกษัตริย์เดนมาร์ก แต่ในขณะเดียวกันทูลกระหม่อมปู่อยากจะหนีไปแต่งงาน ก็เลยมีโทรเลข กลับมาที่กรุงเทพฯ อย่างหนึ่ง แล้วก็เขียนจดหมายรักไปหาแคทยาอีกอย่างหนึ่ง ตรงนี้ก็สนุก 

 

 

ตอนกลับสยาม ทูลกระหม่อมปู่ ก็ให้หม่อมย่ารอที่สิงคโปร์ แล้วก็กลับมาก่อน ไม่พูดอะไรเลยไม่บอกพ่อ(รัชกาลที่ 5) แล้ว รัชกาลที่ 5 ก็มีพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่ง เขียนมาบอกว่า ยังไง ผู้หญิงคนนี้ที่เรียกตัวเองว่า มาดามเดอ พิษณุโลก หมายความว่ายังไง คือ ตอนนั้น หม่อมย่าเรียกตัวเองว่ามาดามเดอพิษณุโลก (พระนามทูลกระหม่อมปู่ คือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ)


 
หลังจากนั้น ขาดช่วงไปเลย ไม่มีจดหมายเลย ประมาณ 1 ปีครึ่ง เพราะทางรัชกาลที่ 5 คงกริ้วมาก แล้วด้วยความดื้อทูลกระหม่อมปู่ก็คงไม่ได้ขอโทษ หรืออาจจะเคยมีจดหมายขอโทษแต่หายไปหรือถูกทำลาย ก็ไม่มีใครทราบ 

 

 

หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ดีขึ้น เพราะรัชกาลที่ 5 ทรงรักพระราชโอรสองค์นี้มาก หลังจากนั้นก็จะมีจดหมายฉบับหนึ่งเขียนว่า แม้เราเคยมีความโกรธเคืองกัน แต่อย่างไรก็คิดถึง ช่วยมาหาหน่อยทุกอาทิตย์ มากินข้าวด้วยกันหน่อย เพราะจริงๆ คิดถึงมาก 

 


 

หลังจากนั้นประมาณ 1 ปีครึ่ง รัชกาลที่ 5 ก็สวรรคต คงทำให้ทูลกระหม่อมปู่เศร้ามาก คืนดีกัน แต่หม่อมย่าไม่เคยได้เข้าเฝ้าเลย แล้วพ่อของดิฉันก็ได้เฝ้าแค่ครั้งเดียว เพราะฉะนั้นความแตกแยก ก็คงทิ่มแทงใจ ส่วนสำหรับหม่อมย่า การที่ต้องทิ้งบ้านเกิดมาอยู่ที่นี่ แล้วท่านก็มีญาติหลายคน ก็คงคิดถึงบ้านมาก พอจบไม่ดี ก็อาจจะทำให้ท่านมองย้อนหลังไปในแง่ลบทั้งหมด ซึ่งก็น่าเสียดาย เพราะมีช่วงที่เขามีความสุขมาก 

 

 

สำหรับพ่อดิฉัน (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์) การเป็นลูกครึ่งก็คิดว่าคงเป็นเรื่องที่ลำบากสำหรับท่าน แม้ว่าจะเป็นเจ้า ซึ่งตอนหลังรัชกาลที่ 6 ตั้งขึ้นมาให้เป็นพระองค์เจ้า แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นลูกครึ่งฝรั่ง แม้ในสมัยนี้คนไทยก็ยังไม่ยอมรับเท่าไหร่ ถ้าเราหน้าตาฝรั่งก็ยอมรับว่าเป็นคนไทยไม่ได้ พ่อก็คงโดนยิ่งกว่านี้ เพราะสมัยนี้ลูกครึ่งก็มีมากเป็นของธรรมดา แต่สมัยนั้นไม่ธรรมดาเท่าไหร่ 

 

 

นอกจากจดหมายระหว่างทูลกระหม่อมปู่และรัชกาลที่ 5 แล้ว ก็มีจดหมายที่ครูสอนภาษารัสเซียสมัยทูลกระหม่อมปู่อยู่ลอนดอน ก่อนที่จะเสด็จไปเรียนที่รัสเซียก็ต้องฝึกภาษาก่อน จดหมายของครูก็อ่านสนุกมาก ตอนนั้นครูอายุประมาณ 22 ปี ก็มีมุมมองต่างกัน แล้วเป็นผู้ชายรัสเซียที่เกลียดอังกฤษมาก ก็เลยจะวิจารณ์อากาศที่อังกฤษ การเผาถ่านมีหมอกเต็มไปหมด เลยมีมุมมองสนุกๆ แต่ก็ที่น่าประทับใจคือ ครูคนนี้ บอกว่าไม่เคยสอนใครที่เก่งเท่า ไม่น่าเชื่อว่าเรียนภาษารัสเซียได้เร็วถึงขนาดนั้นภายใน 6 เดือนก็พูดได้แล้ว 

 

 

ม.ร.ว.นริศรา กล่าวด้วยว่า ประวัติศาสตร์ยุคนั้นเป็นช่วงที่น่าสนใจมาก เป็นปลายศตวรรษที่ 19 ต้นศตวรรษที่ 20 แล้วมีอะไรเกิดขึ้นเยอะมาก เช่น รัสเซียก็ได้เปลี่ยนไปเลยหลังจากที่ทูลกระหม่อมปู่เสด็จกลับมาอยู่เมืองไทยแล้วก็มีปฏิวัติที่รัสเซีย พอมีสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้น ในที่สุดท่านก็ผลักดันให้สยามเข้าร่วม แล้วก็ทำให้ในที่สุดสยามอยู่ฝ่ายชนะสงครามโลกครั้งที่1 ซึ่งก็ดีมากในแง่ของการเมือง แล้วทำให้สถานภาพของประเทศไทยเท่าเทียมกับประเทศอื่น ซึ่งก็น่าภูมิใจ ที่รัชกาลที่ 6 กับทูลกระหม่อมปู่ ทรงผลักดันให้สยามเข้าสงครามครั้งนั้น ที่นี่ก็มีนิทรรศการเล็กๆ อีกนิทรรศการ อยากให้คนที่มาดู

 

 

เรื่องสงครามโลก ก็อยากให้คิดด้วยเหมือนกันว่าสมัยนั้นสยามก็เก่งมาก ผู้นำหรือทูตหรือใครก็ตามที่ผลักดันให้สยามเข้าสงครามโลกครั้งที่ 1 มองการณ์ไกลว่า สนธิสัญญาอยุติธรรม ที่เรามีอยู่กับต่างชาติ ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส หลังการเข้าสงคราม สนธิสัญญาเหล่านี้จึงถูกยกเลิกไป แล้วสยามกลับมาเป็นอิสระ เป็นประเทศที่เท่าเทียมประเทศอื่นในสมัยนั้น เป็นผลจากการเข้าสงคราม 

 


จัดนิทรรศการจักรพงษ์นิทรรศน์ อยากให้คนสนุกและอยากให้คนรู้ว่า ถ้าอยากจะได้อะไรจริงๆ ถ้าเราพยายามจริงๆ ก็จะสำเร็จ คือ จริงอยู่ว่า ทูลกระหม่อมปู่เป็นคนที่โชคดีมากๆ เกิดมา เป็นเจ้าฟ้า ถูกส่งไปรัสเซีย พระเจ้าซาร์(จักรพรรดิซาร์นิโคลัสที่ 2) ก็ดูแลทุกประการ แต่ถ้าเป็นคนไม่ขยัน ไม่ทำงาน ก็จะทำอะไรไม่สำเร็จ แล้วจริงๆ แล้ว สอบไล่ได้ที่ 1 ตั้งแต่ Corp dea Pages  และอีกครั้งตอนที่เข้าเรียนเสธ. ก็น่าภูมิใจมากที่คนไทยทั้งคู่คือ นอกจากทูลกระหม่อมปู่แล้ว ก็มีเพื่อนที่ไปด้วยชื่อนายพุ่ม สาคร  แล้วคนนี้ก็เรียนเก่งมากเช่นกัน เป็นเด็กที่ได้ทุนรัฐบาลสมัยนั้น ทั้งคู่เรียนเก่งกว่าคนรัสเซียที่อยู่ตรงนั้น นี่แสดงถึงความสามารถของคน 

 

 

นอกจากนั้น อยากให้มาชมวังที่สวยมาก ซึ่งธรรมดาไม่เปิดให้คนเข้าชม อยากให้นึกย้อนกลับไปว่าสมัยนั้นชีวิตเป็นอย่างไร สร้างบ้านยังไงให้เพดานสูง ให้ลมผ่าน ไม่ต้องเปิดแอร์ก็สบาย มีสวนมีต้นไม้ มาซึมซับบรรยากาศความสบายๆ กว่า 120 ปีมาแล้ว 

 

 

สำหรับการรวบรวมเอกสารประวัติศาสตร์ ม.ร.ว.นริศรา เล่าว่า เอกสารเหล่านี้ พ่อเคยใช้ทำหนังสือเจ้าชีวิต ตอนดิฉันจะทำหนังสือ “แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม”  สัก 25 ปีมาแล้ว ก็สังเกตว่า จดหมายหลายฉบับไม่อยู่ ตอนนั้นก็ยังไม่เอะใจ เพราะยังมีสมุดรายวันหรืออย่างอื่นที่ใช้ได้ในการทำหนังสือ หลังจากนั้นอยู่ที่ลอนดอนแล้วคุณไพศาล (ไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์) ก็โทรมาบอกว่า กำลังจะมีการประมูลเอกสาร จดหมาย ลายพระหัตถ์ พระราชหัตถเลขา ที่คริสตี้ (ปี พ.ศ.2538) แล้วให้เรารีบไปดู เมื่อไปดูก็เห็นว่าเอกสารมีการแปะโน๊ตเล็กๆ เป็นลายมือของแม่ ก็เลยบอกผู้หญิงที่เอาเอกสารมาให้ดูว่า ฉันสงสัยว่าเป็นเอกสารที่ถูกขโมย เขาก็คงกลัว ก็รีบเก็บ 

 

แล้วหลังจากนั้นเราต้องทำการวิจัย หาเอกสารเพื่อยืนยันว่านี่เป็นทรัพย์สินของเราแต่เดิม จึงสามารถอายัดการประมูลได้ แล้วหลังจากนั้นก็ซื้อคืนมา นอกจากนั้น ก็มีบางฉบับอยู่ที่เมืองไทย มาพบที่เมืองไทย 

 

 

กลุ่มใหญ่ของเอกสารได้มอบให้ British Library ที่ London เหตุที่ให้ที่นั่น เพราะรู้ว่าเป็นสถานที่ที่เปิด ใครจะขอเข้าไปดูเอกสารก็เข้าไปดูได้ และที่ดีมากๆ คือ เขาได้ดิจิไทซ์ (Digitize) เอกสารทั้งหมด เพราะฉะนั้น ใครที่อยากจะดู ลายพระหัตถ์ หรือพระราชหัตถเลขา สามารถที่จะเข้าไป britishlibrary.com ดูได้หมดเลย 

สมัยนั้นคนจะเก็บเอกสาร ส่วนนักประวัติศาสตร์สมัยนี้ดูแต่จอคอมพิวเตอร์ แล้วพยามค้นหาอีเมลล์ แต่วิธีเขียนก็ไม่เหมือนกัน เพราะวิธีเขียนอีเมลล์จะเขียนสั้นๆ ไม่สละสลวย ส่วนคนสมัยนั้นการเขียนจดหมายเป็นสิ่งสำคัญ 

 

“สังคมไทย ยังไม่เห็นว่าอดีตสำคัญ เพื่อที่จะเข้าใจปัจจุบันต้องรู้จักอดีต อันนี้ก็อยากจะฝากไว้ แล้วก็ประวัติศาสตร์ของประเทศไทยก็ควรจะศึกษาให้ลึกซึ้ง รู้ว่าอะไรเกิดขึ้น ประวัติศาสตร์ของเพื่อนบ้านด้วย ก็แปลกใจที่บางทีคนไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ ก็เลยต้องทำงานเหล่านี้ไป พยายามรักษาเอกสารไว้ พยายามนำเสนอกับคนรุ่นใหม่” ม.ร.ว.นริศรากล่าว 

 

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog