ไม่พบผลการค้นหา
อ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ เผยรายงานคาดการณ์ตัวเลขผู้สูงอายุและประชากรวัยแรงงาน พบว่าสิงคโปร์จะเผชิญปัญหาดังกล่าวรุนแรงที่สุด แต่รัฐบาลเตรียมพร้อม ขณะที่ไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่จะได้รับผลกระทบ ยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับระบบดูแลผู้สูงอายุที่ชัดเจน

อ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ เผยรายงานคาดการณ์ตัวเลขผู้สูงอายุและประชากรวัยแรงงาน พบว่าสิงคโปร์จะเผชิญปัญหาประชากรวัยทำงานลดลงรุนแรงที่สุด ขณะที่รัฐบาลมีการเตรียมพร้อม ขณะที่ไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่จะได้รับผลกระทบ ยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับระบบดูแลผู้สูงอายุที่ชัดเจน

​สำนักข่าวเสตรทส์ไทม์ของสิงคโปร์ อ้างอิงรายงานของอ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ หน่วยวิจัยด้านเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ระบุว่า ภายในระยะเวลาไม่กี่สิบปี หลายประเทศในเอเชียจะมีประชากรลดลง และเผชิญสภาวะสังคมสูงวัย โดยสิงคโปร์จะเป็น 1 ในประเทศเอเชียที่มีประชากรวัยแรงงานลดลงและเผชิญกับสภาวะสังคมสูงวัยรุนแรงที่สุดในเอเชีย เช่นเดียวกับไต้หวันและเกาหลีใต้



รายงานดังกล่าวชี้ว่า ตลาดแรงงานของสิงคโปร์ จะหดตัวลงร้อยละ 1.7 ภายในปี 2026 และเพิ่มเป็นร้อยละ 2.5 ในปี2036 โดยการคำนวณดังกล่าวได้รวมอัตราการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน ซึ่งก็คือคนที่มีงานทำและคนที่กำลังหางานไว้ด้วย โดยปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้สิงคโปร์ขาดแคลนแรงงานอย่างมาก คือนโยบายการจำกัดผู้อพยพ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายเมื่อไม่นานมานี้ โดยในปี 2014 สิงคโปร์มีสถิติจ้างงานชาวต่างชาติจำนวน 26,000 คน ลดลงจากจำนวน 80,000 คนในปี 2011  

ด้านนายหลุยส์ คูยจิส หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจเอเชียของอ็อกฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ซึ่งเป็นผู้เขียนรายงานดังกล่าวระบุว่า จากข้อมูลนี้ สามารถคาดเดาทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจในเอเชียในอีกไม่กี่ทศวรรษได้ เนื่องจากหากหลายประเทศมีจำนวนแรงงานที่ลดลง หมายความว่าอัตราการเติบโตของจีดีพีจะลดลงด้วย 

ปัญหาสังคมสูงวัย จะลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียรวมถึงไทย ภายในอีกไม่กี่ 10 ปีข้างหน้า โดยมีการคาดการณ์ไว้ว่า ประชากรวัยแรงงานในไทยจะลดลงจนเห็นได้ชัดในอีก 1 ทศวรรษ และหลังจากนั้น จะมีแนวโน้มเฉลี่ยลดลงร้อยละ 1.1 ต่อปี 


ไทยพร้อมดูแลผู้สูงอายุ?



ตามสถิติของธนาคารโลก ในปี 2016 ไทยมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 11 ของประชากรทั้งหมดกว่า 65 ล้านคน และในปี 2040 ประชากรสูงอายุของไทยจะมีจำนวนมากกว่า 17 ล้านคน หรือมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่อัตราภาวะเจริญพันธุ์มีเพียงร้อยละ 1.5 ในปี 2015 จากร้อยละ 6.1 ในปี 1965 โดยส่วนหนึ่งมาจากการนโยบายการวางแผนครอบครัวของรัฐในช่วง 1970 รายได้และระดับการศึกษาของประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้ขณะนี้ ไทยเป็นประเทศที่มีอัตราประชากรวัยทำงานลดลงมากที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียแปซิฟิก และอยู่ในระดับเดียวกับจีน   

ธนาคารโลกระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะเจอความท้าทายจากการต้องจ่ายเงินบำนาญ การรักษาทางการแพทย์ และระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว แต่ขณะเดียวกันไทยก็มีโอกาสที่จะพัฒนาประเทศให้กลายเป็นศูนย์กลางการบริการดูแลผู้สูงอายุในภูมิภาคได้

ขณะที่รายงานขององค์การอนามัยโลกชี้ว่า คนไทยทั่วไปยังขาดความเข้าใจเรื่องบริการด้านสาธารณสุขสําหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงระยะยาว (Long Term Care- LTC) โดยในไทยจะเน้นไปที่บ้านพักคนชราหรือที่พักพิงคนชราที่รับดูแลคนชราในระยะยาว แต่ไม่ใช่บริการเดย์แคร์ดูแลผู้สูงอายุ หรือการให้บริการด้านสาธารณสุขในพื้นที่ ทำให้ผู้สูงอายุในไทยไม่ได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบหรือเป็นทางการ แต่การดูแลจะตกไปอยู่ที่ลูกหลานหรือญาติพี่น้อง



ขณะที่ข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ไทยยังขาดแคลนบุคลากรที่ได้รับการอบรมเรื่องการดูแลผู้สูงอายุโดยตรง และสถานบริการดูแลผู้สูงอายุในปัจจุบัน หลายแห่งยังไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร จนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2560) ไทยมีจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจดูแลผู้สูงอายุจำนวนทั้งสิ้น 800 รายเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นบุคคลธรรมดา ไม่ใช่นิติบุคคล ทั้งยังไม่มีการปรับปรุงการบันทึกข้อมูลศูนย์รับดูแลคนชราของภาครัฐ ทำให้ไม่สามารถติดตามรายละเอียดได้



ตัวอย่างจากสิงคโปร์- ญี่ปุ่น

ด้านนายเออร์วิน เซียะห์ นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารดีบีเอสระบุว่า การแก้ไขปัญหาสังคมสูงวัยในสิงคโปร์ เน้นไปที่ความสำคัญเรื่องการเปลี่ยนแปลงปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโต โดยไม่เพียงแค่ส่งเสริมตลาดแรงงานหรือการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศ แต่คือการให้ความสำคัญกับนวัตกรรมในการสร้างผลผลิตและเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชากร ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลสิงคโปร์กำลังทำอยู่

ปี 2014 ที่ผ่านมา รัฐบาลสิงคโปร์ ประกาศนโยบาย สมาร์ทเนชัน หรือประเทศแห่งนวัตกรรม โดยรัฐบาลต้องการใช้เทคโนโลยี IoT (Internet of Things) สร้างงานและรายได้ให้ได้มากที่สุด และส่งเสริมความปลอดภัย สาธารณสุขของประชาชน โดย 1 ในโครงการนำร่องคือการใช้ ฟิตเนส แทร็กเกอร์ หรืออุปกรณ์ติดตามสุขภาพ ที่จะบ่งบอกข้อมูลด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ ทำให้แพทย์และสมาชิกครอบครัวติดตามสถิติด้านสุขภาพของผู้สูงอายุได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น 

ขณะที่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่กำลังประสบปัญหาสังคมสูงวัยขั้นวิกฤต ได้ส่งเสริมนโยบายปฏิรูปแรงงานในประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น การส่งเสริมให้ผู้หญิงที่เคยอยู่บ้านดูแลครอบครัวออกมาทำงานนอกบ้าน และการสนับสนุนให้ประชากรสูงอายุทำงานมากขึ้น ทำให้ตลาดแรงงานของญี่ปุ่นยังไม่มีตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงมากนัก และรายงานของอ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์คาดการณ์ว่าจะเป็นเช่นนี้ไปจนถึงปี 2026 ถึงแม้ว่าประชากรวัยทำงานของญี่ปุ่นจะลดลงร้อยละ 0.7 ต่อปีก็ตาม ในขณะที่ไทยซึ่งมีแนวโน้มจะประสบปัญหาสังคมสูงวัยเช่นกัน กลับมีการแก้ไขนโยบายแรงงานต่างชาติ ซึ่งทำให้แรงงานจำนวนมากเดินทางกลับประเทศไปเมื่อไม่นานมานี้

 

เรียบเรียงโดย  สุชาณี รุ่งเหมือนพร

 







 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog