ไม่พบผลการค้นหา
อธิบดีกรมทางหลวงเปิดเผยความคืบหน้าโครงการถไฟฟ้าความเร็วสูง ความร่วมมือไทย - จีน ตอนที่ 1 ช่วง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยไทยเตรียมพร้อมลงเสาเข็มก่อสร้างงานโยธาในเฟสแรก 3.5 กม.แล้ว

หลังทางการไทยและจีน ลงนามสัญญา 2.1 และ 2.2 โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เมื่อ 4 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา จากนี้ฝ่ายไทยจะต้องเตรียมพร้อมลงเสาเข็มก่อสร้างงานโยธา ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยดำเนินการเฟสแรก 3.5 กิโลเมตร 'สถานีกลางดง-ปางอโศก' ในเดือนตุลาคมนี้ กรมทางหลวงซึ่งรับผิดชอบการก่อสร้างงานโยธา ต้องเร่งเจรจากับจีนเรื่องสเปกวัสดุก่อสร้าง ที่กำหนดในสัญญาให้ใช้จากจีนเท่านั้น ทั้งที่ไทยก็สามารถจัดหาได้

 


    

นาย ธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง ความร่วมมือไทย-จีน ตอนที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา เฟสแรก 3.5 กม. ระหว่างสถานีกลางดง-ปางอโศก  ซึ่งกรมทางหลวง ได้รับมอบหมายจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้เป็นผู้ดำเนินการในส่วนสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างด้านโยธา เท่านั้น เพื่อให้โครงการเกิดขึ้นได้เร็ว ส่วนเฟสที่ 2 - 4  รฟท. จะเป็นผู้ดำเนินการเปิดซองประกวดราคา เพื่อหาผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการต่อไป

 

 

สำหรับ งานที่กรมทางหลวงรับผิดชอบนั้น จะเป็นงานถมคันดินให้มีความสูง 4 เมตร ความกว้าง 12 เมตร รวมถึงงานระบายน้ำ 2 ข้างทางรถไฟ  ซึ่งกรมทางหลวง ได้ศึกษารายละเอียดและแกะแบบงานที่ฝ่ายจีนส่งมาให้ เพื่อเตรียมก่อสร้างจริงภายในเดือนตุลาคมนี้ และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 4 เดือน โดยมี 3 หน่วยงานร่วมดำเนินการด้วย คือ เจ้าหน้าที่จากฝ่ายจีนกว่า 20 คน เป็นผู้คุมงาน , เจ้าหน้าที่จากกรมทางหลวง กว่า 200 คน เป็นผู้ดำเนินการ 17 ชั่วโมง 2 กะ และ รฟท. เป็นผู้สังเกตการณ์
ส่วนวงเงินก่อสร้างโครงการในเฟสแรก 3.5 กม.นั้น ขณะนี้กรมทางหลวง ยังรอสรุปวงเงินการก่อสร้างจาก รฟท. อีกครั้ง  

 

ทล.ถกจีน ล็อกสเปกวัสดุก่อสร้าง  

อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า โจทย์ใหญ่สำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสแรก 3.5 กม. คือ จีนกำหนดสเปกวัสดุก่อสร้างบางอย่างให้ใช้จากจีนเท่านั้น อาทิ เหล็กข้ออ้อย , ตัวระบายน้ำใต้คันทางรถไฟ รวมถึงบล็อกระบายน้ำทางลอด  กรมทางหลวงจึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาข้อสรุปเรื่องวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างว่าควรเป็นของไทยหรือจีน และเชิญตัวแทนจากจีนเข้าร่วมประชุมด้วยในลักษณะคู่ขนานก่อนลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อไม่ให้โครงการเกิดความล่าช้า และให้ได้ข้อสรุปว่ามีวัสดุไหนบ้างที่ใช้ในประเทศไทย 

นอกจากนี้ ยังได้รายงานนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ว่าจะใช้วัสดุสำหรับการก่อสร้างในไทยทั้งหมด หากทำได้ในเฟสแรก ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง เฟสที่ 2 - 4 ลงได้ 

 

นักวิชาการ ชี้อย่าหวังกำไรจากรถไฟไทย-จีน

 

 

ขณะที่นายประมวล สุธีจารุวัฒน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จะให้เกิดกำไรนั้นทำได้ยาก แต่ผลพลอยได้ที่จะตามมาคือเรื่องการพัฒนาพื้นที่รอบแนวเส้นทางรถไฟมากกว่า และอย่าลืมว่าไทยยังมีอีก 1 โครงการ คือรถไฟทางคู่ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งโครงการนี้ก็มีศักยภาพที่จะพัฒนาเมืองและตอบโจทย์ในสิ่งที่รัฐบาลสนใจได้เช่นกัน

นอกจากนี้ เมื่อ 2 เดือนก่อน ได้มีโอกาสเข้าร่วมกับโครงการถ่ายทอดความรู้ด้วยการส่งไปอยู่ที่ปักกิ่ง ประเทศจีน และได้สัมผัสบรรยากาศการใช้รถไฟฟ้าความเร็วสูงของจีน ซึ่งปัจจุบัน จีนมีรถไฟฟ้าความเร็วสูงทั่วประเทศประมาณ 20,000 กม. แต่ได้ใช้แค่ 2,000 กม.เท่านั้น หรือแค่ 10% 

เส้นที่น่า สนใจ คือ ปักกิ่งเชื่อมต่อกับเทียนจิน ระยะทาง 120 กม. ซึ่งมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยวันละประมาณ 100,000 เที่ยวในช่วงไฮซีซั่น หรือมีผู้โดยสารเยอะๆ อาจถึง 200,000 เที่ยวต่อวัน และเมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่จีน ทราบว่าแม้จะมีผู้โดยสาร 100,000-200,000 เที่ยวต่อวัน แต่ปัจจุบันเส้นนี้ก็ยังขาดทุน หากเทียบกับจำนวนผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูงของไทย ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. ตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมีผู้โดยสาร 5,300 เที่ยวต่อวัน จึงไม่ต้องพูดถึงเรื่อง 'กำไร' จากโครงการ  

 

'ประมวล' ย้ำต้องเน้นเชื่อมโยงเมืองด้วยโครงข่าย

อาจารย์ประมวล กล่าวด้วยว่า การพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อมเมือง ในแง่หลักการนั้น รถไฟฟ้าความเร็วสูงน่าจะถูกออกแบบมาเพื่อใช้เชื่อมเมืองสองเมืองที่มีโครง สร้างพื้นฐานด้านคมนาคมดี ใกล้เคียงพอๆ กัน 

“การพัฒนาโครงข่ายรถไฟ ขนส่งระบบรางในตัวกรุงเทพฯ และนครราชสีมา (โคราช) ดีพอสมควร เมื่อเชื่อมระบบรางสองระบบเข้าด้วยกัน จะกลายเป็นโครงข่ายที่ใช้ประโยชน์ของความเจริญเศรษฐกิจสองเมืองที่มีขนาด เศรษฐกิจใกล้เคียงกันได้ดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเจริญเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ นักธุรกิจหรือประชาชนที่ดำรงชีพ ใช้ชีวิตและทำงานในทั้งสองเมือง จะเดินทางไปมาหาสู่กันง่าย เกิดกิจกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้น หากสมมติว่ากรุงเทพฯ กับโคราช สามารถพัฒนาโครงข่ายของตัวเองจนกระทั่งเจริญใกล้เคียงกัน เชื่อมโครงข่ายสองระบบเข้าด้วยกัน จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่”  

 

20-22 ก.ย.นี้ ถกถ่ายโอนเทคโนโลยีจากจีนอีกรอบ 

 

 

ความคืบหน้าการเจรจากับจีนเรื่องการถ่ายโอนเทคโนโลยี โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ -นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. นายอมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่า สภาวิศวกรได้จัดประชุมหารือร่วมกับนักวิชาการในเรื่องนี้ เพื่อกำหนดแนวทางเตรียมเสนอต่อจีนในการประชุมครั้งที่ 21 ระหว่างวันที่ 20-22 กันยายน 2560 ณ ประเทศจีน และพยายามทำให้ข้อเสนอมีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าไทยมีศักยภาพปฏิบัติงานได้จริงในการรับการถ่ายโอนเทคโนโลยี
นอกจากนี้ ยังได้แบ่งหมวดหมู่ออกเป็น 6 ด้านได้แก่

1.ด้านการออกแบบ  

2.ด้านการควบคุมงานก่อสร้าง  

3.ด้านการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา

4.ด้านการประกอบ

5.ด้านการผลิต

6.ด้านการวิจัย ห้องปฏิบัติการ

ทั้งหมดนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาพัฒนาข้อเสนอ เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เข้ามาดูแลเรื่องกระบวนการผลิต การประกอบตู้โดยสาร ขณะที่สภาคณบดีวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทยและที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศ ไทย ดูแลเรื่องงานวิจัย
นายอมร มองว่า ไทยไม่ได้คาดหวังว่า จะต้องรับการถ่ายโอนเทคโนโลยีครบทั้ง 6 ด้าน ในตอนที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เพราะยังมีเฟสที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย แต่ในเฟสที่ 1 จะเน้นเรื่องการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติมากกว่า 

ทั้งนี้ เรื่องการออกแบบนั้นไทยมีความพร้อมมาก ยกเว้นส่วนของความเร็วสูง ซึ่งต้องออกแบบระบบดินให้ดี เพื่อไม่ให้รางสั่นสะเทือนเวลามีขบวนรถไฟวิ่งผ่าน ไทยจึงต้องการความรู้จากจีนในเรื่องนี้ 

 

รายงานโดย ทัศน์ศรันย์ ชีพวรรณ

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog