ไม่พบผลการค้นหา
เผยอาคารรัฐสภาและตึกทรัมป์ทาวเวอร์ ในสหรัฐอเมริกาน้ำประปาปนเปื้อนสูงสุด 

เว็บไซต์ เดอะการ์เดียน สื่อประเทศอังกฤษ เปิดเผยรายงานการศึกษาที่จัดทำโดย Orb Media ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์ตัวอย่างน้ำประปาจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกและพบว่า 83 เปอร์เซ็นต์ของตัวอย่างมีการปนเปื้อนเส้นใยพลาสติก (Plastic Fibres) โดยประเทศสหรัฐอเมริกามีอัตราการปนเปื้อนสูงสุดอยู่ที่ 94 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพบมากที่สุดในสถานที่สำคัญอย่างเช่น อาคารรัฐสภา สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่อาคารทรัมป์ทาวเวอร์ในมหานครนิวยอร์ก ขณะที่ประเทศเลบานอนและอินเดียก็มีอัตราการปนเปื้อนของเส้นใยพลาสติกในระดับสูงเช่นเดียวกัน 

สำหรับประเทศที่มีระดับการปนเปื้อนในอัตราที่ต่ำหรือประมาณร้อยละ 72 ได้แก่ อังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส ทั้งนี้อัตราการปนเปื้อนเฉลี่ยที่พบในแต่ละตัวอย่างน้ำประปาที่เก็บมาในปริมาณ 500 มิลลิลิตรโดยในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 4.8 และในประเทศฝั่งยุโรปอยู่ที่ 1.9 

รายงานระบุว่าจากการวิเคราะห์ตัวอย่างชี้ให้เห็นว่าการปนเปื้อนเส้นใยพลาสติกสามารถพบได้ในสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ขณะที่ผลการศึกษาก่อนหน้านี้ก็พบมลพิษจากพลาสติกในมหาสมุทรและอาจทำให้มนุษย์ได้รับไมโครพลาสติกหรือเม็ดพลาสติกขนาดเล็กโดยการรับประทานอาหารทะเลเช่นเดียวกัน

“เราค่อนข้างมีข้อมูลที่เพียงพอจากการสำรวจสัตว์และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสัตว์ซึ่งค่อนข้างน่าเป็นห่วง” ดร.เชอร์รี เมสัน ที่ปรึกษาการวิเคราะห์โครงการ Orb และผู้เชี่ยวชาญด้านไมโครพลาสติกแห่งมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์กกล่าว

“และหากสัตว์ได้ผลกระทบ แล้วทำไมเราไม่คิดว่ามนุษย์อาจจะได้รับผลกระทบด้วยเช่นเดียวกัน” เธอกล่าวย้ำ
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยชิ้นเล็ก ๆ ใน สาธารณรัฐไอร์แลนด์ซึ่งเปิดเผยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาพบการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในตัวอย่างน้ำประปาเช่นเดียวกัน

“เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าผลกระทบต่อสุขภาพเป็นอย่างไร ดังนั้นเราควรดำเนินการตามหลักป้องกันไว้ก่อน ขณะเดียวกันก็ต้องทุ่มเทสรรพกำลังในส่วนนี้อย่างเร่งด่วนเพื่อที่เราจะได้รู้ว่าความเสี่ยงที่แท้จริงคืออะไร” ดร.แอนน์ แมรี่ เมฮอน นักวิจัยแห่งสถาบันเทคโนโลยี Galway-Mayo กล่าว 

ทั้งนี้ ดร.เมฮอน ระบุว่า สิ่งที่น่ากังวลหลัก ๆ ขณะนี้มีอยู่ 2 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่ อนุภาคพลาสติกขนาดเล็กและสารเคมีหรือเชื้อโรคที่ไมโครพลาสติกสามารถซ่อนตัวอยู่ได้ซึ่งหากไมโครพลาสติกสามารถฝังตัวในระดับนาโนเมตรได้นั้นหมายความว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อเซลล์หรืออวัยวะต่างๆ  ได้ โดยผลการศึกษาของศาสตรจารย์ริชาร์ด ทอมป์สัน จากมหาวิทยาลัยพลีมัธระบุว่าไมโครพลาสติกอาจจะปนเปื้อนและดูดซับสารเคมีที่เป็นพิษได้ซึ่งการศึกษาในสัตว์ป่าพบว่าไมโครพลาสติกได้ปล่อยสารพิษเข้าสู่ร่างกายสัตว์

อย่างไรก็ตามขนาดการปนเปื้อนไมโครพลาสติกทั่วโลกนั้นเพิ่งเริ่มชัดเจนขึ้น อย่างเช่น การศึกษาในประเทศเยอรมนีพบว่ามีการปนเปื้อนเส้นไยและชิ้นส่วนไมโครพลาสติกในเบียร์จำนวน 24 ยี่ห้อที่ได้นำมาทดสอบ นอกจากนี้ยังพบในน้ำผึ้งและน้ำตาลอีกด้วย

ขณะที่การศึกษาในกรุงปารีสเมื่อปี 2558 ก็พบไมโครพลาสติกปนเปื้อนในอากาศซึ่งมีการประเมินว่าอาจมีไมโครพลาสติกเฉลี่ย 3 – 10 ตันในกรุงปารีสต่อปี และปัจจุบันยังพบไมโครพลาสติกปนเปื้อนในอากาศในบ้านเรือนอีกด้วย

ศาสตราจารย์แฟรงค์ เคลลี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมจากวิทยาลัยคิงคอลเลจ ลอนดอน บอกว่า หากสูดเอาไมโครพลาสติกเข้าไปในร่างกายอาจทำให้สารเคมีลงไปสู่ส่วนล่างของปอดและกระจายไปยังระบบการไหลเวียนของเลือด ทั้งนี้ควรมีการวิจัยเพื่อศึกษาและพิจารณาว่าอนุภาคพลาสติกเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพหรือไม่

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog