ไม่พบผลการค้นหา
การที่เกาหลีเหนือประกาศความสำเร็จในการทดสอบระเบิดไฮโดรเจนครั้งล่าสุด พร้อมระบุว่าสามารถติดตั้งระเบิดไฮโดรเจนบนขีปนาวุธข้ามทวีปได้ก่อให้เกิดคำถามที่ว่า การทดสอบระเบิดไฮโดรเจนครั้งนี้มีความสำคัญอย่างไร? เป็นเพียงคำขู่เหมือนครั้งที่ผ่านมา หรือสะท้อนว่า เกาหลีเหนือกำลังจะกลายเป็นมหาอำนาจทางนิวเคลียร์?

การที่เกาหลีเหนือประกาศความสำเร็จในการทดสอบระเบิดไฮโดรเจนครั้งล่าสุด พร้อมระบุว่าสามารถติดตั้งระเบิดไฮโดรเจนบนขีปนาวุธข้ามทวีปได้ก่อให้เกิดคำถามที่ว่า การทดสอบระเบิดไฮโดรเจนครั้งนี้มีความสำคัญอย่างไร? เป็นเพียงคำขู่เหมือนครั้งที่ผ่านมา หรือสะท้อนว่า เกาหลีเหนือกำลังจะกลายเป็นมหาอำนาจทางนิวเคลียร์?

เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา เกาหลีเหนือได้ทดสอบนิวเคลียร์ใต้ดินเป็นครั้งที่ 6 โดยหลังจากการทดสอบเสร็จสิ้นไม่นาน สื่อของทางการเกาหลีเหนือได้ประกาศว่า การทดสอบครั้งนี้เป็นการทดสอบระเบิดไฮโดรเจนที่สามารถติดตั้งบนขีปนาวุธข้ามทวีป หรือ ICBM ได้ และการทดสอบก็สำเร็จไปด้วยดี อย่างไรก็ตาม การทดสอบนิวเคลียร์ในครั้งนี้ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า เกาหลีเหนือประสบความสำเร็จในการพัฒนาระเบิดไฮโดรเจนจริงหรือไม่? การพัฒนาระเบิดไฮโดรเจนมีความสำคัญอย่างไร? และขณะนี้กองทัพเกาหลีเหนือมีศักยภาพมากน้อยเพียงใด?

1. ระเบิดไฮโดรเจน คืออะไร?

เทคโนโลยีอาวุธนิวเคลียร์ในปัจจุบัน สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ระเบิดอะตอม หรือระเบิดนิวเคลียร์แบบฟิชชัน ที่ปลดปล่อยพลังงานจากการแตกตัวของอะตอมของธาตุยูเรเนียมหรือพลูโตเนียม ตัวอย่างของระเบิดอะตอม ได้แก่ ระเบิดนิวเคลียร์ 'Little Boy' ที่สหรัฐฯ ทิ้งใส่เมืองฮิโระชิมะของญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีอานุภาพทำลายล้าง 15 กิโลตัน และระเบิดนิวเคลียร์ 'Fat Man' ที่ถูกทิ้งใส่เมืองนะงะซะกิของญี่ปุ่น โดยระเบิดอะตอมลูกนี้มีอานุภาพทำลายล้าง 20 กิโลตัน โดยในครั้งนั้น 'Little Boy' และ 'Fat Man' ได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 2 แสนคน

ส่วนประเภทที่สอง คือ ระเบิดไฮโดรเจน หรือระเบิดเทอร์โมนิวเคลียร์ ซึ่งระเบิดประเภทนี้จะอาศัยการระเบิด 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจะอาศัยการระเบิดแบบฟิชชัน เพื่ออาศัยอุณหภูมิที่สูงของการระเบิดเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดการระเบิดแบบฟิวชัน หรือเกิดการรวมตัวกันของนิวเคลียสของธาตุเบาอย่างไฮโดรเจนและฮีเลียม จนปลดปล่อยพลังงานที่มากมายมหาศาลกว่าปฏิกิริยานิวเคลียร์แบบฟิชชันออกมา 

ผู้เชี่ยวชาญเปิดเผยว่า หากเปรียบเทียบอานุภาพทำลายล้างของระเบิดอะตอมและระเบิดไฮโดรเจนที่มีขนาดและน้ำหนักเท่ากัน ระเบิดไฮโดรเจนจะมีอานุภาพทำลายล้างมากกว่าระเบิดอะตอมนับสิบนับร้อยเท่า โดยเทคโนโลยีระเบิดไฮโดรเจนสามารถทำลายมหานครนิวยอร์กของสหรัฐฯ ได้ทั้งหมด ขณะที่ระเบิดอะตอมมีอานุภาพทำลายล้างเพียงครึ่งหนึ่งของย่านแมนฮัตตันเท่านั้น

องค์กร NORSAR ซึ่งเป็นองค์กรเฝ้าจับตาเหตุแผ่นดินไหวของนอร์เวย์ได้คาดการณ์ว่า การทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ครั้งล่าสุดของเกาหลีเหนือ ที่ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 แมกนิจูด น่าจะมีอานุภาพทำลายล้างถึง 120 กิโลตัน หรือมากกว่าระเบิดนิวเคลียร์ที่สหรัฐฯ เคยทิ้งใส่ญี่ปุ่นถึง 6 เท่า และรุนแรงกว่าการทดสอบนิวเคลียร์ครั้งที่ 5 ของเกาหลีเหนือเมื่อเดือนกันยายน 2016 ที่ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.3 แมกนิจูดถึง 10 เท่า

ก่อนหน้านี้ เกาหลีเหนือได้ทำการทดสอบนิวเคลียร์ 5 ครั้ง โดยครั้งที่ 1-3 เป็นการทดสอบระเบิดอะตอมที่มีอานุภาพทำลายล้างไม่เกิน 7 กิโลตัน ส่วนการทดสอบตั้งแต่ครั้งที่ 4 เป็นต้นมานั้น เกาหลีเหนืออ้างว่าเป็นการทดสอบระเบิดไฮโดรเจน อย่างไรก็ตาม ในการทดสอบครั้งที่ 4 เมื่อเดือนมกราคม 2016 กลับมีอานุภาพทำลายล้างเพียง 4-6 กิโลตัน และการทดสอบเมื่อเดือนกันยายน 2016 มีอานุภาพทำลายล้าง 10 กิโลตัน

ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมนิวเคลียร์หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การที่เกาหลีเหนือสามารถพัฒนานิวเคลียร์ที่มีอานุภาพทำลายล้างเกิน 100 กิโลตัน สะท้อนว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ระเบิดนิวเคลียร์ลูกดังกล่าวจะเป็นระเบิดไฮโดรเจน 

ภาพระเบิดนิวเคลียร์ที่เกาหลีเหนือทดสอบเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2016 (บน) และ
ภาพระเบิดนิวเคลียร์ที่เกาหลีเหนือทดสอบเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2017 (ล่าง)

นอกจากนี้ เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนการทดสอบนิวเคลียร์ครั้งที่ 6 สื่อของทางการเกาหลีเหนือยังได้เผยแพร่ภาพของนายคิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของประเทศ พร้อมกับหัวรบนิวเคลียร์ซึ่งมีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่ว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นระเบิดไฮโดรเจน เพราะหัวรบชนิดนี้มี 2 ตอน โดยตอนแรกน่าจะอาศัยการจุดชนวนนิวเคลียร์แบบฟิชชัน เพื่อกระตุ้นให้ตอนที่ 2 ซึ่งเป็นระเบิดไฮโดรเจนทำงาน ขณะที่ภาพของหัวรบนิวเคลียร์เมื่อเดือนกันยายน 2016 กลับเป็นหัวรบที่มีรูปร่างกลม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเป็นเพียงระเบิดอะตอมธรรมดาเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การที่เกาหลีเหนือสามารถพัฒนาระเบิดไฮโดรเจน ก็นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เพราะด้วยการเทคโนโลยีการระเบิดแบบฟิวชัน ทำให้ระเบิดไฮโดรเจนมีขนาดเล็กและน้ำหนักเบากว่าระเบิดอะตอม แต่มีอานุภาพที่รุนแรงกว่า และยังสามารถติดตั้งบนขีปนาวุธข้ามทวีปได้ด้วย

2. เกาหลีเหนือมีศักยภาพมากแค่ไหน?

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา เกาหลีเหนือได้ยิงขีปนาวุธพิสัยกลางฮวาซง-12 ข้ามญี่ปุ่นไปตกในทะเลแปซิฟิก โดยผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า การยิงครั้งนั้นอาจมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบระบบการย้อนกลับสู่บรรยากาศโลก หรือระบบรี-เอนทรี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับการติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์บนขีปนาวุธ และการทดสอบในครั้งนั้นก็สำเร็จด้วยดี เนื่องจากขีปนาวุธลูกดังกล่าวสามารถรักษาองศาการบินและทิศทางได้อย่างแม่นยำ แม้จะต้องเผชิญแรงดึงดูดโลกขณะกลับสู่ชั้นบรรยากาศและอุณหภูมิที่สูงมากก็ตาม

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เกาหลีเหนือได้ทำการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปที่ยิงได้ไกลถึงสหรัฐฯ ซึ่งแม้ก่อนหน้านี้ผู้เชี่ยวชาญจะตั้งข้อสังเกตว่า เกาหลีเหนืออาจยังไม่มีเทคโนโลยีสำหรับการติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ลงบนขีปนาวุธข้ามทวีป แต่การยิงขีปนาวุธพิสัยกลางฮวาซง-12 ข้ามเกาะญี่ปุ่นเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้นักวิเคราะห์บางส่วนคาดการณ์ว่า เกาหลีเหนืออาจกำลังพัฒนาระบบรี-เอนทรีสำหรับการติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์บนขีปนาวุธข้ามทวีป เพื่อให้สามารถโจมตีเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ

3. นิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือมีอานุภาพรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์?

แม้อาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือจะมีอานุภาพทำลายล้างถึง 120 กิโลตัน แต่ถ้าเปรียบเทียบกับ 'ซาร์ บอมบา' ซึ่งเป็นระเบิดนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดของสหภาพโซเวียต ที่ถูกทดสอบที่เมืองซูโคย โนส บนเกาะโนวายา ซิมเลียในแถบอาร์กติกเมื่อปี 1961 แล้ว 'ซาร์ บอมบา' ซึ่งมีอานุภาพทำลายล้างถึง 50,000 กิโลตัน หรือรุนแรงกว่าอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือกว่า 4 เท่า โดยการทดสอบในครั้งนั้น แรงระเบิดได้ทำลายอาคารทั้งหมดในรัศมี 55 กิโลเมตร และแรงกระแทกจากระเบิดส่งผลให้กระจกหน้าต่างของอาคารที่ตั้งอยู่ในรัศมีหลายร้อยเมตรได้รับความเสียหาย รวมทั้งคลื่นกระแทกยังได้เดินทางรอบโลกถึง 3 รอบ และกระจกหน้าต่างของอาคารในฟินแลนด์และนอร์เวย์ก็ได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน



นอกจากนี้ มียังรายงานว่า แต่เดิมสหภาพโซเวียตได้ออกแบบให้ระเบิดนิวเคลียร์ 'ซาร์ บอมบา"' มีอานุภาพทำลายล้างถึง 100,000 กิโลตัน หรือ 2 เท่าของระเบิดนิวเคลียร์ที่ถูกทดสอบเมื่อปี 1961 แต่ถูกลดขนาดลงในภายหลังเพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การที่ระเบิดนิวเคลียร์ 'ซาร์ บอมบา' มีน้ำหนักถึง 27 ตันและยาว 8 เมตร ทำให้ไม่เหมาะต่อการนำมาใช้ในสงคราม เนื่องจากการทิ้ง 'ซาร์ บอมบา' ใส่เป้าหมายจำเป็นต้องใช้เครื่องบินบรรทุกเท่านั้น

เมื่อปี 1952 สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการสร้างระเบิดไฮโดรเจนลูกแรกของโลก โดยระเบิดลูกนี้ได้รับสมญานามว่า 'ไอวี ไมค์' มีอานุภาพทำลายล้าง 10,000 กิโลตัน ถูกทดสอบที่เกาะเอลุเกแลบ ซึ่งอยู่ในหมู่เกาะมาร์แชลล์ แรงระเบิดในครั้งนั้นก่อให้เกิดเขม่าควันสูง 50 กิโลเมตร กว้าง 100 กิโลเมตร และเกาะเอลุเกแลบถูกทำลายทั้งหมด

ส่วนระเบิดไฮโดรเจนลูกที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ถูกทดสอบเมื่อปี 1954 ที่เกาะบิกีนีอะทอลล์ ในหมู่เกาะมาร์แชลล์ โดยระเบิดไฮโดรเจนลูกนี้มีอานุภาพทำลายล้าง 15,000 กิโลตัน ก่อให้เกิดกลุ่มควันรูปเห็ดขนาดใหญ่พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า โดยกัมมันตรังสีจากการระเบิดครั้งนี้ได้กระจายไปไกลกว่า 11,000 กิโลเมตร ส่งผลให้ต้องมีการประกาศอพยพประชาชนในบริเวณใกล้เคียง โดยเมื่อปี 1997 ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศได้ออกมาประกาศว่า เกาะบิกีนีอะทอลล์ยังคงไม่เหมาะต่อการตั้งถิ่นฐานของประชาชน เนื่องจากยังมีกัมมันตรังสีตกค้างในปริมาณมาก

4. เกาหลีเหนือจะทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์หรือไม่?

ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกาหลีเหนือศึกษาในกรุงโซลของเกาหลีใต้ เปิดเผยต่อสำนักข่าวเอเอฟพีว่า หากพิจารณาจากกรณีของโครงการนิวเคลียร์ในปากีสถาน ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่ามีความสัมพันธ์และมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ก่อนหน้านี้ ปากีสถานได้ทำการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด 6 ครั้ง จนได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในชาติที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และจากนั้นก็ไม่มีการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์อีกเลย ในแง่นี้ เกาหลีเหนืออาจดำเนินรอยตามปากีสถาน คือ ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่า เป็นชาติที่มีนิวเคลียร์ในครอบครอง และใช้เรื่องนี้เป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรองกับชาติมหาอำนาจ โดยไม่มีการทดสอบหรือใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการโจมตีประเทศอื่น ซึ่งหากเทียบกับรัสเซียหรือสหรัฐฯ ที่เป็น 2 ประเทศผู้ครองอาวุธนิวเคลียร์มากติดอันดับ 1 และ 2 ของโลก จะเห็นได้ว่าเกาหลีเหนือยังไม่อาจเทียบชั้นมหาอำนาจทางนิวเคลียร์ได้

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนกลับคาดการณ์ว่า เกาหลีเหนือจะยังคงเดินหน้าทดสอบนิวเคลียร์และขีปนาวุธข้ามทวีปต่อไป โดยมีความเป็นไปได้ที่เกาหลีเหนือจะทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปที่ติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่ชาติมหาอำนาจใช้ในการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ในระยะแรก จนกระทั่งถูกสหประชาชาติสั่งห้าม ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า หากเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ในชั้นบรรยากาศจริง ก็จะเป็นการส่งสัญญาณคุกคามรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ขณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังไม่สามารถระบุได้ว่า การทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์จะมีขึ้นเมื่อใด แต่คาดการณ์ว่าเรื่องนี้น่าจะขึ้นอยู่กับความพร้อมทางเทคโนโลยีของเกาหลีเหนือ มากกว่าเงื่อนไขทางการเมือง และหากเกาหลีเหนือทำการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ในชั้นบรรยากาศ ก็อาจก่อให้เกิดคลื่นอิเล็กโทรแม็กเนติก ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าบนภาคพื้นดินชั่วคราวด้วย
 

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog