ไม่พบผลการค้นหา
‘ไทยซัมมิท’ ชูธงเทคโนโลยียานยนต์ ล่าออเดอร์ ‘เทสล่า’ แนะรัฐปรับแผน เดินเกมรุกรับอุตฯ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’

ไทยซัมมิทกรุ๊ป ธุรกิจใต้ธงนำของ “สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานกรรมการบริหาร ที่ในวันนี้ ไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ป้อนโรงงานประกอบรถยนต์ค่ายญี่ปุ่นในประเทศไทยเท่านั้น แต่ลูกสาวและลูกชาย ของ “สมพร” กำลังถือธงนำพาธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์สยายปีกเข้าไปอยู่ในซัพพลายเชน “ยานยนต์แห่งอนาคต” ในวันที่เทคโนโลยีรุกไล่อุตสาหกรรมแบบเก่า 

“ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” รองประธานกรรมการบริหาร ไทยซัมมิทกรุ๊ป ลูกชายลำดับที่ 2 ของสมพร ในกลุ่มพี่น้อง 5 คน เปิดเผยกับ “วอยซ์ ทีวี” ถึงอนาคตธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ไทยในยุค Technology Disruptive และความร่วมมือกับเทสล่า อิงค์ บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลก 

ถาม : ไทยซัมมิทเข้าไปเป็นคู่ค้ากับเทสล่าได้อย่างไร

ตอบ : ธุรกิจของไทยซัมมิทกับเทสล่า อิงค์ เริ่มมาได้ 2-3 ปีแล้ว โดยก่อนหน้านี้ เราผลิตและส่งออกชุดสายไฟรถยนต์ให้กับเทสล่า ซึ่งเป็นการส่งออกจากฐานผลิตของไทยซัมมิทที่แหลมฉบัง จ.ชลบุรี 

จากตรงนั้น ก็ทำให้เทสล่าประทับใจ ที่แม้เราจะเป็นคู่ค้าที่อยู่ไกลกันคนละซีกโลก แต่เราก็สามารถให้บริการอย่างทันท่วงที มีคุณภาพ นั้นเป็นจุดเริ่มต้น และความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างไทยซัมมิทกับเทสล่า ก็พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนล่าสุดเราก็ไปเสนอธุรกิจโครงสร้างตัวถังรถยนต์ที่มีน้ำหนักเบา ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่เทสล่า กำลังพัฒนารถเทสล่า โมเดล 3 ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุด และเราก็ได้สัญญาผลิตมา ส่วนอายุสัญญาการผลิต จะเท่ากับอายุเทสล่า โมเดล 3 ซึ่งผมคาดว่า จะอยู่ที่ประมาณ 4-5 ปี 

ถาม : ชิ้นส่วนตัวถังเทสล่า โมเดล 3 ทุกคัน ผลิตจากโรงงานไทยซัมมิททั้งหมดมั้ย

ตอบ : โครงสร้างตัวถังใช่ แต่ไม่ใช่ทุกชิ้นในตัวถังรถ 

ถาม : แล้วหลังจากนี้ จะมีออเดอร์ชิ้นส่วนอื่นๆ จากเทสล่ามาให้ผลิตอีกมั้ย

ตอบ : เรากำลังคุยกับเทสล่าอยู่ ถึงความร่วมมือในการผลิตเทสล่ารุ่นต่อๆ ไป แต่เรื่องนี้ยังเป็นความลับที่ผมยังไม่สามารถเปิดเผยกับสาธารณะได้ 

ถาม : โครงสร้างตัวถังรถยนต์เบาที่จะผลิตให้เทสล่า โมเดล 3 ใช้ฐานการผลิตที่ไหน

ตอบ : ผลิตที่โรงงานในอเมริกา ซึ่งปัจจุบันไทยซัมมิท มีโรงงานที่สหรัฐอเมริกา 3 แห่ง คือ ที่มลรัฐมิชิแกน 2 แห่ง มลรัฐแคนตั๊กกี้ 1 แห่ง ซึ่งเป็นการต่อยอดจากเมื่อ 8 ปีแล้ว ไทยซัมมิทเข้าไปซื้อกิจการของบริษัท โอกิฮาร่า คอร์ปอเรชั่นฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นรถยนต์รายใหญ่ของโลก ที่ตั้งอยู่ในมิชิแกน แล้วเราก็ขยายธุรกิจในสหรัฐฯ จากจุดนั้น 

จากที่มีรายได้ประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 2553 ผ่านมาถึงตอนนี้ ไทยซัมมิทมีรายได้จากธุรกิจในสหรัฐแล้ว 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 17,500 ล้านบาท และเฉพาะที่สหรัฐฯ เรามีเป้าหมายสร้างยอดขายให้ได้ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้ได้ภายใน 5 ปี ตามแผนธุรกิจระยะ 5 ปี (2560-2564) ของไทยซัมมิทกรุ๊ป

ถาม : แผนธุรกิจในระยะ 5 ปีข้างหน้า เป็นอย่างไร

ตอบ : เป้าหมาย 5 ปีของไทยซัมมิทกรุ๊ป คือ ในปี 2564 เราต้องมียอดขาย 1 แสนล้านบาท จากปีนี้ ประเมินว่า ไทยซัมมิทกรุ๊ปจะมียอดขายประมาณ 75,000-80,000 ล้านบาท (ยอดขาย 7 เดือนรวมประมาณการ 5 เดือนที่เหลือของปี 2560) และมีอัตรากำไรขั้นต้น 8% หรือประมาณกว่า 6,000 ล้านบาท 

แล้วปี 2560 นี้ น่าจะเป็นปีที่มียอดขายและผลกำไรดีที่สุดในประวัติการณ์ของบริษัท ซึ่งนับเป็นสถิติใหม่ เป็นเรื่องน่ายินดีของบริษัท เพราะปีนี้ บริษัทมีอายุครบ 40 ปีพอดี 

ถาม : สัดส่วนรายได้ระหว่างในประเทศกับต่างประเทศเป็นอย่างไร

ตอบ : สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเยอะขึ้นเรื่อยๆ ครับ โดยถ้ามองตลาดในประเทศนับตั้งแต่ปี 2555 ที่ประเทศไทยผลิตรถยนต์ได้ประมาณ 2.4 ล้านคัน แต่หลังจากปีนั้นเป็นต้นมา ยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศก็ลดลงมา มีตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 1.8-1.9 ล้านคันต่อปี ยังไม่เคยเกิน 2 ล้านคันได้อีก แล้วตามประมาณการของเรา เราไม่คิดว่า ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า การผลิตรถยนต์ในประเทศไทยจะทำได้เกิน 2 ล้านคันต่อปี 

ดังนั้น ไทยซัมมิทกรุ๊ปจึงต้องหาทางเติบโตในรูปแบบอื่น ซึ่งคือการเติบโตจากฐานการผลิตในต่างประเทศ และเราก็ได้เห็นผลในปีนี้ที่ตัวผลักดันให้ไทยซัมมิทมียอดขายเพิ่มขึ้น ล้วนมาจากยอดขายของบริษัทในเครือที่อยู่ในจีน อินเดีย สหรัฐฯ 

ถาม : เป้าหมายในยุทธศาสตร์ของไทยซัมมิท ณ วันนี้ คืออะไร

ตอบ : เราอยากจะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีส่วนช่วยให้รถยนต์ปลอดภัยมากขึ้น น้ำหนักเบาขึ้น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  ดังนั้น ทุกอย่างที่เราเดินไปข้างหน้า เราจะจับไปในทิศทางนี้ เพราะเราต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาที่ใหญ่ในระดับโลก 

เราจะทำในสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด ที่สามารถตอบสนองทิศทางนั้น โดยไม่ต้องไปทำในสิ่งที่หวือหวา ไม่ต้องไปผลิตแบตเตอรี่  ไม่ต้องไปทำสิ่งที่เราไม่ถนัด แต่ทำในสิ่งที่เราถนัดและทำได้ดี 

ถาม : เตรียมเงินลงทุนไว้เท่าไร เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ว่า

ตอบ : (ถอนหายใจ) เรื่องเงินลงทุนเป็นเรื่องที่เราค่อนข้างวิตกพอสมควร ในแง่ที่เงินลงทุนส่วนใหญ่ในแผน 5 ปี เงินลงทุนใหม่ๆ ที่จะสร้างยอดขายหลักๆ จะไปอยู่ที่ธุรกิจในต่างประเทศ เพราะเรามองไม่เห็นว่า จะมีความต้องการในประเทศมากกว่านี้ หรือจำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิตมากกว่านี้ ในอุตสาหกรรมที่เรามีในประเทศไทย ดังนั้น สำหรับในประเทศไทย เงินลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะการบำรุงรักษาเครื่องจักรเพื่อ ทดแทนเครื่องจักรเก่า เป็นการประคองให้อยู่ในระดับนี้ เพราะในช่วง 5 ปีข้างหน้า เราไม่เห็นว่า จะสร้างโรงงานเพื่อขยายกำลังการผลิตทำไม

ถาม : แนวโน้มยานยนต์อนาคตจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ไทยซัมมิททำอะไรบ้าง

ตอบ : สำหรับในประเทศไทย นโยบายรัฐบาลในเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน ขณะที่ในต่างประเทศ เราได้นำเทคโนโลยีที่ทำให้โครงสร้างของรถยนต์น้ำหนักเบาขึ้น ซึ่งไทยซัมมิทพัฒนาขึ้นมา แล้วนำไปใช้ในหลายกลุ่มลูกค้าแล้ว 

ส่วนในประเทศไทย เราก็พยายามอยู่ แต่แนวโน้มไม่ชัดเจน จึงทำให้การเดินของบริษัทในทิศทางนี้ จึงช้าไปกว่าฐานการผลิตในต่างประเทศ

ถาม : รัฐบาลปัจจุบันก็มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้สำหรับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า นะ อย่างนี้ยังไม่ชัดเจนอีกหรือ

ตอบ : ผมคิดว่าประเทศไทยควรจะก้าวเป็นผู้นำในเรื่องนี้ ในความหมายว่า นโยบายที่รัฐบาลพูด มันคือนโยบายที่ส่งเสริมให้ทำ หรือ incentive แต่ไม่ได้เป็นโทษ ขณะที่ ถ้าเราไปดูในประกาศของรัฐบาลฝรั่งเศส หรือของอังกฤษที่เพิ่งออกมาเมื่อ 2 เดือนก่อน ว่าภายในปี 2040 (2573) ถ้าคุณผลิตหรือขายรถยนต์ที่ใช้เบนซินหรือดีเซล คุณทำผิดกฎหมาย เขาห้ามขาย สิ่งที่รัฐบาลไทยทำคือจูงใจ แต่สิ่งที่รัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศสทำคือ เป็นกฎ บังคับให้ทำ มันต่างกันชัดเจน เพราะ ถ้าเป็น incentive (ส่งเสริมผ่านการได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี) ก็หมายความว่า ภาคอุตสาหกรรมจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ 

อีกอย่างผมคิดว่า นโยบายเรื่องนี้ยิ่งช้า ยิ่งเสียเปรียบ เพราะปัจจุบันมันไม่น่าจะมีคำถามแล้วว่า EV จะเกิดหรือไม่เกิด เมื่อรัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศสออกมาประกาศอย่างนี้ มันชัดเจนมาก มันไม่ใช่คำว่าจะเกิดหรือไม่เกิด และไม่ใช่คำถามว่าเมื่อไรด้วย 

แล้วถ้าเราปรับตัวด้านนี้ช้า เราก็จะเป็นคนที่ตามหลังด้านเทคโนโลยี และอาจสูญเสียการจ้างงานด้วย เพราะการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่เกี่ยวกับการสันดาปภายในจะหายไป 

ถาม : แล้วข้อเสนอของคุณคืออะไร 

ตอบ : ผมคิดว่า การประกาศนโยบายให้ชัดเจนจะมีประโยชน์กับอุตสาหกรรมของไทยมากกว่า อย่างธุรกิจของไทยซัมมิทที่อินโดนีเซีย เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลอินโดนีเซีย ก็เพิ่งประกาศนโยบายจูงใจให้ผลิตรถยนต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษ ซึ่งก็เป็นนโยบาย incentive เหมือนที่รัฐบาลไทยทำ ซึ่งผมเชื่อมั่นว่า ถ้านโยบายเป็นแบบนี้ ที่ไม่ใช่ข้อบังคับ ก็จะไม่มีใครมาลงทุนหรอก ผมมองไม่เห็นเลยว่า จะมีใครมาตั้งฐานการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย 

ในมุมมองของผม มีวิธีทางเดียวที่จะมูฟไปข้างหน้าคือ ต้องเป็นข้อบังคับมากกว่าเป็น incentive และที่สำคัญ อาเซียนมีกำลังมากพอ ถ้าเป็นไปได้ ควรเป็นความร่วมมือของอาเซียนและเป็น deadline ของอาเซียน ถ้าออกมาในรูปความร่วมมือเป็นกำหนดเวลาของอาเซียนจะสวยมากกว่า เพราะอำนาจต่อรองที่จะดึงงานดึงการลงทุนเข้ามาในอาเซียนจะมีเยอะกว่า เพราะภูมิภาคนี้มีประชากรมากถึง 570 ล้านคน ซึ่งน่าจะมีพลังมากกว่า

ถาม : ประเทศไทยจะสร้างคนทันกับเทคโนโลยีมั้ย

ตอบ : ถ้าถามผมตอนนี้ เรามีศักยภาพสูงขนาดนั้นมั้ย คำตอบคือ ไม่ ปัญหาคือ โลกเดินไปแล้ว แต่เรายังไม่ขยับ ผมคิดว่าตรงนี้ต่างหากที่จะทำให้คนเราเสียโอกาส ดังนั้น ถ้ารัฐประกาศโรดแมปชัดเจน เอกชนก็จะเดินหน้าไปเอง

ถาม : แต่ละปีไทยซัมมิทลงทุนด้านวิจัยและพัฒนามากมั้ย

ตอบ : ที่ผ่านมา เราลงทุนมหาศาลเพื่อสร้างศูนย์ทดสอบ ซึ่งปัจจุบันมี 3 ศูนย์ คือ ศูนย์ทดสอบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับไฟฟ้า /ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับชิ้นส่วนการตกแต่งภายนอกและภายในรถยนต์ และ/ศูนย์ทดสอบเกี่ยวกับโครงสร้างตัวถังรถยนต์ 

ทั้ง 3 ศูนย์ทดสอบนี้ไทยซัมมิทลงทุนไปไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท สำหรับเครื่องทดสอบ วิศวกรและช่างเทคนิคที่ทำงานในงานเหล่านี้ เรามีวิศวกรที่ทำด้านการวิจัยและพัฒนาในหลากหลายกลุ่มธุรกิจ ซึ่งน่าจะมีถึง 70-80 คน สำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ 

ถาม : ที่ลงทุนไปหวังผลอะไรบ้าง

ตอบ : เหตุผลง่ายนิดเดียว คือ ถ้าไทยซัมมิทต้องการพัฒนาตัวเองให้ไปไกลเกินกว่าการรับจ้างผลิต เราจำเป็นต้องมีศักยภาพที่จะรับประกันคุณภาพของสินค้าที่ผลิตและออกแบบเองได้ ซึ่งถ้าไม่มีศูนย์ทดสอบ เราไม่สามารถทำได้ 

ดังนั้น 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทจึงลงทุนไปหลายร้อยล้านบาทกับศูนย์ทดสอบ เช่น การทดสอบการวิ่งชน หรือ crash test ใช้เงิน 60 ล้านบาท ทำห้องทดสอบการวิ่งชน และในวันนี้เป็นเครื่องทดสอบเดียวที่มีอยู่ในประเทศไทยและในอาเซียน 

ถาม : อยากจะบอกคนรุ่นใหม่ที่เรียนด้านวิศวกรรม หรือเครื่องยนต์ในเมืองไทยอย่างไร ในวันที่เทคโนโลยียานยนต์เปลี่ยนไปอย่างนี้

ตอบ : ผมอยากให้ทุกคนมี Curiosity หรือ ความขี้สงสัย จงตั้งคำถามเยอะๆ จงมีความขี้สงสัยเพราะมันจะเป็นประเด็นสำคัญในการเริ่มต้นวิจัยและพัฒนา อยากให้มีวัฒนธรรมแบบนี้ เพราะมันเป็นที่มาของความคิดสร้างสรรค์

ถาม : มีคนถามเยอะว่า ไทยซัมมิทจะเข้าไปเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อไร มีโอกาสจะเข้าไประดมทุนในตลาดทุนมั้ย

ตอบ : (หัวเราะ) ณ วันนี้ ยังไม่มีความจำเป็น เพราะกระแสเงินสดจากการดำเนินการยังมากกว่าความต้องการในการลงทุน ดังนั้น เราสามารถสนับสนุนการลงทุนของบริษัทได้ ด้วยกระแสเงินทุนภายใน จึงไม่มีเหตุผลที่ต้องนำบริษัทเข้าตลาดในวันนี้ 

แต่เกิน 5 ปีหลังจากนี้ อาจมีความเป็นไปได้ เพราะสิ่งหนึ่งที่อยากเห็นคือ เราจำเป็นต้องใหญ่กว่านี้ เราจำเป็นต้องโกลบอลมากกว่านี้ เพื่อแข่งขันในธุรกิจได้ ยืนระยะยาวได้ ถ้าทองไทยซัมมิทในเมืองไทย เราอาจจะใหญ่ แต่ถ้ามองเทียบระดับโลก เราเป็นบริษัทระดับกลาง และถ้าต้องการอยู่รอดให้ได้ เราไม่สามารถที่จะอยู่แค่นี้ได้ เราต้องไปไกลกว่านี้ ซึ่งอาจต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล 

อีกอย่าง ไทยซัมมิทเป็นบริษัทที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมเกี่ยวกับเรื่องทางการเงิน เราไม่จำเป็นต้อง leverage balance sheet (เพิ่มความเสียงในงบดุล) ไปมากกว่านี้ เพราะปัจจุบัน ไทยซัมมิทมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 0.45 เท่า ทั้งที่เป้าหมายภายในคือต้องการให้ D/E ไม่เกิน 1 เท่า ทุกปีเราคืนเงินมากกว่ากู้เพิ่ม อัตราส่วนทางการเงินจึงยังต่ำ และทำให้เราอยู่ในสถานะที่เรียกว่า งบการเงินของเราแข็งแกร่งและมีสุขภาพที่ดี 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog