ไม่พบผลการค้นหา
อาจารย์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ โดยมองว่าคำสั่งปลดนายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล พ้นจากตำแหน่งประธานสภานิสิตจุฬาฯ ไม่สามารถลดทอนบทบาทการเคลื่อนไหวของนายเนติวิทย์ได้ แต่กลับทำให้เขาถูกมองเป็นวีรบุรุษมากยิ่งขึ้น

อาจารย์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ โดยมองว่าคำสั่งปลดนายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล พ้นจากตำแหน่งประธานสภานิสิตจุฬาฯ ไม่สามารถลดทอนบทบาทการเคลื่อนไหวของนายเนติวิทย์ได้ แต่กลับทำให้เขาถูกมองเป็นวีรบุรุษมากยิ่งขึ้น

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานความคืบหน้ากรณีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีคำสั่งปลดนายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ พ้นจากตำแหน่งประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยสมาชิกสภาฯ อีก 4 คน โดยระบุว่านิสิตทั้งหมดนี้ประพฤติตนไม่เหมาะสม ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย เป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์หลังพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนของจุฬาฯ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม และทั้งหมดยังถูกลงโทษตัดคะแนนความประพฤติอีก 25 คะแนนด้วย

รอยเตอร์รายงานว่าพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนของนิสิตชั้นปีที่ 1 เป็นประเพณีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2540 โดยในพิธีมีการหมอบกราบถวายบังคมต่อหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระปิยมหาราช ก่อนที่นายเนติวิทย์จะเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบในพิธี ซึ่งรอยเตอร์ได้รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของนายเนติวิทย์ ที่ระบุว่าเขาเพียงต้องการแสดงให้เห็นว่ามีหลายวิธีที่จะถวายความเคารพฯ และย้ำว่าทุกคนควรจะได้คิดเพื่อตัวเอง และไม่ควรจะถูกบังคับให้ทำอะไรก็ตาม

รอยเตอร์ระบุว่าได้ติดต่อไปทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่นกัน เพื่อสอบถามกรณีคำสั่งปลดนายเนติวิทย์และสมาชิกสภาฯ อีก 4 คน แต่ไม่ได้รับคำตอบจากทางมหาวิทยาลัย

ขณะที่ 'คารินา โชติรวี' อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ว่า ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งปลดนายเนติวิทย์และสมาชิกสภานิสิตฯ คนอื่นๆ และไม่คิดว่าคำสั่งดังกล่าวจะเป็นผลจากการประพฤติตนไม่เหมาะสม แต่น่าจะเป็นผลจากแนวคิดของนายเนติวิทย์มากกว่า แต่คำสั่งปลดครั้งนี้ยิ่งทำให้นายเนติวิทย์เป็นวีรบุรุษมากขึ้นในสายตาของคนอีกเป็นจำนวนมาก

ด้านสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม โดยระบุว่าไม่ยอมรับคำสั่งของจุฬาฯ ที่ให้สมาชิกสภานิสิตสามัญพ้นจากตำแหน่ง พร้อมทั้งเรียกร้องให้คณะกรรมการชี้แจงกระบวนการพิจารณาและข้อกล่าวหาอย่างชัดเจน และต้องเปิดโอกาสให้นิสิตที่ถูกสอบสวนมีเวลารวบรวมพยานหลักฐานและแก้ข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่ในชั้นของการอุทธรณ์ ทั้งยังแสดงความกังวลว่า กระบวนการสอบสวนทางวินัยกับอาจารย์ที่เข้าไปทำร้ายร่างกายนิสิตในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณยังไม่มีความคืบหน้าออกมาแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้ นิตยสารไทม์ของสหรัฐฯ รายงานว่านายเนติวิทย์เป็นเยาวชนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหาร และวิพากษ์วิจารณ์คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงแนวคิดเชิงจารีตนิยมในสังคมไทย ทั้งยังได้รับการเปรียบเทียบเป็นวัยรุ่นที่มีแนวคิดก้าวหน้าเช่นเดียวกับ โจชัว หว่อง แกนนำการเรียกร้องประชาธิปไตยฮ่องกง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog