ไม่พบผลการค้นหา
มิติใหม่แห่งการศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผุดโครงการ 'BU Come One' หลักสูตรที่จะให้นักศึกษาไม่จำกัดคณะ ที่มีความสนใจอยากเรียนรู้ในด้านวงการบันเทิง ได้มีโอกาสทดลองทำงานจริง หวังผลิตนักศึกษาให้เป็นบุคลากรคุณภาพ สู่สายอาชีพที่ชื่นชอบอย่างแท้จริง

ท่ามกลางกระแสวิตกกังวลว่า ทีวีดิจิทัลจะไปรอดหรือไม่ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานศึกษาในไทยที่ป้อนบุคลากรให้แก่ทุกสายงานของวงการบันเทิงโดยตรง จับมือกับช่อง วัน 31 ด้วยการจัดโครงการ BU Come One ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่สายการศึกษาและสายบันเทิงผลึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อปั้น 'ตัวจริง' ป้อนทุกสายงานของวงการบันเทิง

โดยโครงการ BU Come One เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ทุกคณะ ทุกสาขาวิชา ที่มีความสนใจที่จะทำงานในฝ่ายต่างๆ ของอุตสาหกรรมบันเทิง ส่งผลงานที่บ่งบอกความเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด คัดเลือกมา 50 คน เพื่อที่จะได้เข้าร่วม Boot Camp ที่จะได้ทำงานร่วมกับมืออาชีพ โดยจะมีการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ผ่านการเวิร์กช็อป เป็นระยะเวลาเกือบ 3 เดือนเต็ม ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการสามารถนำความรู้ที่ได้รับ มาพัฒนาต่อยอดกับนวัตกรรมการศึกษาของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวคือ iFit (Individual Future Innovation Learning of Thailand) โดยนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์จะได้เรียนวิชาพิเศษกับผู้บริหารช่องวัน 31 ได้แก่ การเขียนบท ตัดต่อ กำกับ การแสดง ฯลฯ

เสวนา ม.กรุงเทพ

สำหรับงานเสวนาครั้งนี้ มีเหล่าผู้บริหารและบุคลากรของช่องวัน 31 ให้ความรู้และข้อกระจ่างกับน้องๆ นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่สนใจเข้าร่วมฟังกว่า 250 คน ด้าน บอย - ถกลเกียรติ วีรวรรณ กล่าวว่า สูตรสำเร็จของการทำโทรทัศน์ไม่มีจริง แต่ทุกคนต้องลงมือทำ ลองผิดลองถูก เพื่อที่จะได้รับประสบการณ์ หรือมุมมองต่างๆ ที่จะเป็นตัวนำทางเราในการทำงานครั้งอื่นๆ ต่อไปได้ดีขึ้น 

ซึ่งโครงการนี้คิดว่าน้องๆ นักศึกษาจะได้รับประสบการณ์ เรียนรู้การทำงานสายงานต่างๆ ในวงการบันเทิง ซึ่งเราอยากได้คนเก่ง มาทำงานกับเรา ขณะเดียวกันก็อยากให้วงการโทรทัศน์ วงการบันเทิง และสื่อมวลชน มีบุคลากรที่เต็มไปด้วยคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของคนทำสื่อในอนาคต ซึ่งโครงการนี้ไม่ใช่การฝึกงาน แต่ถือเป็นการทดลองงานของเด็กๆ

เสวนา ม.กรุงเทพเสวนา ม.กรุงเทพ

เดียว วรตั้งตระกูล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารช่องวัน 31 กล่าวว่า คุณบอย ถกลเกียรติ พูดเสมอว่าแม้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนไป ทั้งรูปแบบการนำเสนอและเครื่องมือการรับชม แต่ทีวีก็ไม่มีวันตาย เพราะคอนเทนต์คือหัวใจสำคัญในการทำให้ทีวีกลายเป็นจุดหมายของผู้ชม ทางช่องได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงร่วมมือทำหลักสูตรนี้ขึ้น โดยให้ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ของทางช่องมาถ่ายทอดการทำงาน ทั้งภาพทฤษฎี และปฏิบัติให้แก่นักศึกษา ดังนั้นโครงการ BU Come One จึงเปรียบเสมือนการต่อยอดของต้นน้ำไปยังปลายน้ำเพื่อปั้นบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับวงการโทรทัศน์ต่อไป

ขณะที่ ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า ในฐานะสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนากำลังคนให้มีความพร้อมในการก้าวเข้าสู่โลกการทำงานจริงในทุกสายงาน เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมบันเทิงที่มีหลากหลายงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ทั้งฝ่ายโปรดักชั่นและฝ่ายจัดการ ซึ่งมีขั้นตอนการทำงานและรายละเอียดแตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งการจะบ่มเพาะนักศึกษาให้มีศักยภาพตอบรับกับการทำงานในโลกจริงได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยการปั้นโดยผู้เชี่ยวชาญจากวงการเท่านั้น

เสวนา ม.กรุงเทพ

สำหรับสถิติการว่างงานของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เดือนกุมภาพันธ์ 2561 พบว่ามีจำนวนคนว่างงาน 4.91 แสนคน โดยเป็นกลุ่มผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน และสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) จำนวน 1.35 แสนคน ต่อมารายงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 พบว่า จำนวนผู้ว่างงานลดลง สำหรับกลุ่มว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน และสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา มีจำนวน 9.9 หมื่นคน