ไม่พบผลการค้นหา
หน่วยงานรัฐและเอ็นจีโอถกอุปสรรคหลายด้านเรื่องผลักดันกลไกป้องปรามการทำให้บุคคลสูญหาย หลายฝ่ายชี้ว่ายังมีปัญหาอีกมาก รวมทั้งในด้านกฎหมายที่ยังไม่คืบหน้า

หน่วยงานรัฐและเอ็นจีโอถกอุปสรรคหลายด้านเรื่องผลักดันกลไกป้องปรามการทำให้บุคคลสูญหาย หลายฝ่ายชี้ว่ายังมีปัญหาอีกมาก รวมทั้งในด้านกฎหมายที่ยังไม่คืบหน้า ขณะที่ช่องว่างในกระบวนการยุติธรรมทำให้การสืบสวนสอบสวนเจอทางตัน ในภาคใต้มีเพียงรายเดียวที่เข้าสู่ศาลแต่ก็ยังสาวไปไม่ถึงไหน

เนื่องในวันผู้สูญหายสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 30 สิงหาคม หน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม องค์กรด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนทั้งไทยและต่างประเทศได้ร่วมหารือแนวทางผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการบังคับสูญหายหลังทางการไทยลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศไปแล้วตั้งแต่ปี 2557

ในการหารือมีการเปิดเผยสถิติผู้ถูกบังคับสูญหายในไทยว่ามีจำนวน 82 คน นับตั้งแต่ปี 2523 จนถึงปี 2559 ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิต่างๆ แต่ในขณะนี้ คดีส่วนใหญ่ยังไม่คลี่คลายและไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีได้ ครอบครัวของผู้สูญหายต้องเผชิญอุปสรรค หลายรายต้องสืบหาข้อมูลเบาะแสกันเอง และในหลายกรณีเจ้าหน้าที่ไม่รับดำเนินคดี โดยอ้างว่าไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าบุคคลที่สูญหายไปเกิดจากความจงใจหรือเป็นเพราะถูกบังคับสูญหาย 

รัฐบาลไทยนั้นได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2555 และกระทรวงยุติธรรมกับภาคประชาสังคมก็ได้ร่วมกันผลักดัน "ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการบังคับบุคคลให้สูญหาย" ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการไปแล้ว แต่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.กลับส่งคืนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้พิจารณาทบทวนใหม่ ทำให้ตัวแทนองค์กรสิทธิมนุษยชนตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นความพยายามเตะถ่วงไม่ให้มีการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.หรือไม่ เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้จะครอบคลุมถึงการดำเนินคดีเอาผิดแก่ผู้ก่อเหตุบังคับสูญหายที่เกี่ยวข้องกับรัฐหรือการใช้อำนาจรัฐ

นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชน กระทรวงยุติธรรม ยืนยันว่าการตีกลับร่างกฎหมาย เป็นผลจากที่ สนช.มีข้อสังเกตให้กระทรวงยุติธรรมนำร่างกฏหมายดังกล่าวกลับมาพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในบางประเด็น ซึ่งทางกระทรวงจะหาทางแก้ไขก่อนที่จะนำไปรับฟังความเห็นตามกระบวนการประชาพิจารณ์ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้  

การไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนในการจัดการคดีที่เกี่ยวข้องกับการบังคับสูญหาย ทำให้เกิดช่องว่างในกระบวนการยุติธรรมที่มีผลต่อการดำเนินคดีต่อไป ไม่ว่าจะเป็นคดีในอดีตหรือปัจจุบัน เช่นคดีของนายพอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธ์ชาวกะเหรี่ยง ซึ่งหายตัวไปตั้งแต่เดือนเมษายน 2557 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ปฏิเสธคำร้องให้มีการไต่สวนคดี ซึ่งนางพิณผกา พฤกษาพรรณ ผู้เป็นภรรยาของนายบิลลี่ ได้ยื่นเรื่องเอาไว้นานหลายเดือนก่อนที่ดีเอสไอจะแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะนางพิณผกาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนายบิลลี่ ถือเป็นการสมรสที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และต้องให้ญาติมายื่นเรื่องแทน

ส่วนคดีล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 เมษายนปีที่แล้ว เป็นกรณีของนายเด่น คำแหล้ แกนนำการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินชุมชนโคกยาว จ.ชัยภูมิ หายตัวไปหลังเข้าไปเก็บหน่อไม้ในสวนป่าโคกยาว แต่เขายังถูกศาลออกหมายจับเพราะไม่มารายงานตัวในคดีที่ถูกตั้งข้อหารุกที่ป่าสงวน แม้ว่านางสุภาพ คำแหล้ ภรรยาของนายเด่น และเครือข่ายชาวบ้านในพื้นที่ จะพบเบาะแสเป็นกะโหลกศีรษะที่บ่งชี้ว่าเป็นของนายเด่น

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่ต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมถึงสามศาลโดยที่ไม่บรรลุผลในการเอาตัวผู้บังคับให้นายสมชายสูญหายมารับการลงโทษ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า "ไม่มีความเลวร้ายใดจะยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่กระทำในนามของกฎหมาย เพราะฉะนั้น ในเมื่อกฎหมายไม่ให้ความเป็นธรรม กฎหมายก็ต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกคน"

ส่วนในสามจังหวัดภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ความขัดแย้งและมีการใช้ความรุนแรงก็มีปัญหาคนที่ถูกบังคับให้สูญหายเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 36 คนตามข้อมูลของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มญาติผู้สูญหายได้พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่บ้านของหะยีสุหลง อับดุลการเดร์ ซึ่งถือว่าเป็นกรณีบุคคลสูญหายที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างมาก ในการพบปะกัน พวกเขานำสิ่งของที่เป็นของผู้สูญหายไปแสดง ประกอบด้วยเสื้อผ้าเป็นส่วนใหญ่

นูนรียา ยูโซะ ญาติผู้สูญหายตั้งแต่ปี 2550 จากรือเสาะ บอกว่า เวลาที่ผ่านไปนานหลายปีได้ช่วยเยียวยาจิตใจได้บ้างแต่ไม่ทั้งหมด ที่สำคัญขณะที่พยายามจะเดินไปข้างหน้าและมีชีวิตอยู่กับปัจจุบันเพื่อดูแลครอบครัว อีกใจหนึ่งยังคงรอคอย

“ถ้าเขามีชีวิตอยู่ เขาจะกลับมา วันนี้เขาไม่กลับมาเราต้องทำให้วันนี้ดีที่สุด เพราะเราต้องดูแลอีกหลายคน หลายชีวิต ถ้าเราอ่อนแ��เขาจะพึ่งใคร  ... เราไม่รู้วันไหนเขาจะกลับมา เราต้องอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง”

นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ แห่งมูลนิธิผสานวัฒนธรรมให้ความเห็นว่าจนถึงขณะนี้การบังคับให้บุคคลสูญหายยังไม่ถือเป็นความผิดทางอาญา และการไม่พบร่องรอยหรือชัดเจนว่าเสียชีวิตหรือพบศพทำให้ไม่อาจสรุปได้ว่าเป็นการเสียชีวิต ส่งผลต่อการเรียกร้องหาความเป็นธรรมรวมไปถึงเรื่องของการที่จะขอรับการเยียวยา กรณีเดียวที่มีพยานหลักฐานและสามารถผลักดันให้เข้าสู่การพิจารณาของศาลได้คือการสูญหายของนายมะยาเต็ง มะระนอ เป็นคดีแรกของสามจังหวัดภาคใต้ แต่ขั้นตอนของการสืบสวนสอบสวนจนถึงขณะนี้ก็ยังไปไม่ถึงบุคคลที่น่าจะมีส่วนรับผิดชอบในการทำให้สูญหาย เพียงแต่ในกรณีนี้มีพยานผู้เห็นเหตุการณ์ทำให้มีการจ่ายเงินชดเชยจากรัฐบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog