อยู่ในวงการเพลงมากว่า 20 ปี ‘เสก โลโซ’ เห็นความสำคัญของการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ โดยเตรียมเปิดช่องเพลงผ่านแอปพลิเคชันที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับศิลปินอย่างเท่าเทียม
เสกสรรค์ ศุขพิมาย หรือ ‘เสก โลโซ’ เตรียมเปิดตัวช่องเพลงในแอปพลิเคชัน ฟินิกซ์ทีวี (Finix TV) ระบบไลฟ์สตรีมผ่านอินเทอร์เน็ตที่ใช้ได้ทุกระบบปฏิบัติการ โดยร่วมมือกับ เกียรติคุณ ทักษิณนุกุลวงศ์ (ตือ) ผู้อำนวยการฝ่ายลิขสิทธิ์ไดเรคเซลล์ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เพื่อให้ช่องนี้เป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการสร้างรายได้ของศิลปินและนักแต่งเพลงไทย
การเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงในไทยเป็นอย่างไร
เกียรติคุณ: ต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาหรือยุโรปให้ความสำคัญกับเรื่องลิขสิทธิ์มาก การจัดเก็บสำหรับคนที่เอาเพลงลิขสิทธิ์ไปใช้ แน่นอนว่าเขาต้องคืนเงินส่วนหนึ่งมาให้กับศิลปิน กับผู้สร้างสรรค์ ถามว่าทำไมต้องคืน ก็เพราะเราต้องการให้เพลงไทยไปสู่เมืองนอก เราต้องการให้เด็กรุ่นใหม่ที่เรียนจบมาให้มีอาชีพด้านการแต่งเพลง การสร้างสรรค์บทเพลง เพื่อที่เขาจะได้มีรายได้ แกรมมี่เป็นองค์กรหนึ่งที่รวบรวมและดูแลเรื่องลิขสิทธิ์ ส่วนราคาที่เราจัดเก็บกับร้านกลางคืนทั้งหลายไม่ได้สูง ตกวันละ 100 บาท ถ้าร้านเล็กก็ 30 บาท แต่เงินส่วนใหญ่กลับคืนสู่คนที่แต่งเพลง อย่างเสกเป็นผู้ประพันธ์เพลงด้วย เรียบเรียงด้วย เพราะฉะนั้นเงินส่วนหนึ่งต้องกลับสู่เสก ปัจจุบันเราไม่ได้เดินซี้ซั้วจับกุม คือเราคุยแล้วแต่ยังนิ่งเฉย แบบนั้นคงต้องบังคับใช้กฎหมายในการทำงาน
แอปพลิเคชันฟังเพลงต้องทำอย่างไร หากต้องการนำเพลงไปใส่ในระบบ
เกียรติคุณ: แล้วแต่คนที่จะเข้ามาคุยกับเรา iTunes Joox ก็มี เขาเรียกว่าแพลตฟอร์ม ถ้าคนไทยอยากทำแพลตฟอร์มของตัวเอง ก็สามารถเดินเข้ามาที่แกรมมี่ได้ครับ
แอปพลิเคชันฟังเพลงแบ่งรายได้ให้ค่ายและศิลปินอย่างไร
เกียรติคุณ: เป็นแพทเทิร์นของเมืองนอกอยู่แล้ว มีอัตราส่วนว่าเจ้าของฮับ เจ้าของแพลตฟอร์มได้เท่าไร เจ้าของเพลงผู้สร้างสรรค์ได้เท่าไร ศิลปินได้เท่าไร เขามีอัตราอยู่แล้วครับ
เสก: เนื่องจากผมเป็นนักดนตรีมาตลอดชีวิตของผม ก่อนจะมาเป็นนักธุรกิจ สิ่งหนึ่งที่ผมเป็นห่วงในวงการเพลงบ้านเราคือ เพลงนั้นไม่สามารถค้าขายได้ในเรื่องของฟิสิคัล นั่นคือพวกซีดี วีซีดี หรือคาสเซ็ทได้อีกแล้ว ขายได้น้อยมาก เมื่อก่อนผมขายได้ประมาณล้านถึงสองล้านชุด สมัยนี้ขายได้สี่หมื่นนี่ถือว่าเก่งมากนะครับ สิ่งเหล่านี้เราต้องหาคนช่วย ทำอย่างไรให้ศิลปินนักร้องที่เมื่อก่อนเคยทำมาค้าขายเรื่องนี้ได้ เราต้องหาช่องทางอื่น ๆ ด้วย ... เมื่อก่อนผมก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมต้องไปตามเก็บค่าลิขสิทธิ์ แต่พอได้คุยกับพี่ตือ เลยรู้เรื่องว่าทำไมถึงต้องเก็บ เพราะเมื่อเก็บเงินเสร็จแล้วก็มาแบ่งให้ศิลปิน นักแต่งเพลง
ทำไมถึงสนใจเปิดช่องเพลงในแอปพลิเคชัน
เสก: ผมร่วมมือกับพี่ตือทำแชนแนลในช่องฟีนิกซ์ ซึ่งมีของผม 3 อัน คือ Living room ซึ่งดูเรื่องไลฟ์คอนเสิร์ต เชิญคนมาเล่นในช่องของเรา เก็บสตางค์จากทางบ้าน คนมาเล่น ศิลปินก็จะได้แบ่งค่าเปอร์เซ็นต์จากการค้าขายที่จะให้คนเข้ามาดู เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่มาก แต่เป็นสิ่งที่เราต้องทำ และต้องมาเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายไประหว่างเมื่อก่อนที่เราเคยได้เงินจากการขายเทป ซีดี เมื่อดิจิทัลทำให้รายได้เราหดหาย เราต้องหาเงินจากดิจิทัลให้ได้
เกียรติคุณ: เนื่องจากซีดี วีซีดีหมดไป วันนี้ศิลปินอยู่ได้ด้วยงานโชว์ แต่งานโชว์ก็จะมีประเด็นอยู่บ้างเพราะบางที่ไม่มีงบจ้างวงด้วยปัญหาเศรษฐกิจ ผมนั่งคุยกับเสกเลยจะตั้งช่อง “โลโซ แชนแนล” ขึ้นมา ในนั้นจะมี 3 คอนเทนต์คือ หนึ่ง Living room คือการเชิญศิลปินมาร่วมร้องเพลงแจมกับเรา ตรงนี้ไม่มีใครแบกต้นทุน ใครชื่นชอบศิลปินคนไหนก็ตามเข้ามาดูได้ จะให้รางวัลเป็นอะไรก็สุดแล้วแต่ ส่วนรายได้ที่เข้ามาก็จะแบ่งคืนให้กับผู้สร้างสรรค์ ทั้งเจ้าของเพลงและศิลปิน วันนี้เราหารายได้จากเราขึ้นมาเอง เรารอคนอื่นไม่ได้ เพราะดิจิทัลมีทั้งข้อดีและเสีย มันทำลายระบบอย่างหนึ่งของเรา แต่เราก็ต้องเอาข้อดีมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้อง ๆ ที่อุตส่าห์ฝ่าฟันในอดีตจนดังขึ้นมา รวมถึงศิลปินรุ่นใหม่ด้วยครับ
เสก: เหมือนเราเปิดผับให้ศิลปินมาเล่น แล้วเราจะแบ่งรายได้จากการขายบัตรในช่องของเราให้เขา แล้วเราก็จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพื่อส่งให้นักแต่งเพลง
ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของวงการเพลงอย่างเดียว ถ้าไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ละเมิดอะไรต่าง ๆ ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล รู้เข้าใจเรื่องนี้ ประเทศเราจะเจริญมาก
ศิลปินจะร้องเพลงของค่ายไหนได้บ้าง
เกียรติคุณ: เบื้องต้นจะเป็นเพลงลิขสิทธิ์ของ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ก่อน เพราะผมอยู่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มันจะได้เร็วหน่อย ถ้าไปคุยกับค่ายอื่นก็อาจลำบาก อีกอย่างเพลงของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ครอบครองอยู่สามหมื่นสี่พันกว่าเพลง ผมว่ามันเพียงพอ
เสก: พูดง่าย ๆ คือศิลปินที่จะมานั้นร้องเพลงของเขาด้วย และสามารถร้องเพลงของแกรมมี่ได้ด้วย
อะไรคือปัญหาสำคัญของการเก็บลิขสิทธิ์ในไทย
เกียรติคุณ: จริง ๆ แล้วต้องศึกษาการชำระค่าลิขสิทธิ์ ในเมื่อมีกฎหมายดูแลแล้วก็ควรให้ความสำคัญ ส่วนเรื่องของการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ ผมเชื่อว่ารับได้ ผมทำเรื่องลิขสิทธิ์มาตั้งแต่ 2546 ปัจจุบันก็ 14 ปี ผมตอบตรงนี้ได้เลยว่าราคาเป็นธรรม
เสก: สมัยผมอาศัยอยู่ประเทศอังกฤษ ผมได้เรียนเรื่องเหล่านี้มาแล้วมาบอกพี่ ๆ ว่าวันนึงเราต้องเก็บค่าลิขสิทธิ์ ซึ่งวันนั้นเขาก็งง เพราะสมัยก่อนยังไม่มี วันนี้คือวันที่ชัดเจนมากกับสิ่งที่ผมเคยพูดไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราจะทำอย่างจริงจัง … ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของวงการเพลงอย่างเดียว ถ้าไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ละเมิดอะไรต่าง ๆ ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล รู้เข้าใจเรื่องนี้ ประเทศเราจะเจริญมาก อันนี้เรื่องจริง คุณไม่ละเมิดสิทธิใคร ทุกคนสร้างขึ้นมา เราก็เคารพสิทธิเขา เราสร้างเพลงมา เวลาคุณเอาไปใช้ คุณก็จ่ายสตางค์ อันนี้เป็นเรื่องง่ายมาก และจะนำพาไปถึงการพัฒนาประเทศได้ด้วย