ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงคมนาคมแนะนำโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยอง เชื่อม 3 สนามบินให้กับประชาชนครั้งแรก ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ระบุคาดค่าโดยสารเริ่มต้น 20 บาท

กระทรวงคมนาคมแนะนำโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยอง เชื่อม 3 สนามบินให้กับประชาชนครั้งแรก ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ระบุคาดค่าโดยสารเริ่มต้น 20 บาท
    
การรถไฟแห่งประเทศไทย แนะนำโครงการและรับฟังความคิดเห็นประชาชนในจังหวัดฉะเชิงเทรา ตามโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยอง เชื่อม 3 สนามบินคือดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา ที่พาดผ่าน 4 จังหวัด คือ กรุงเทพ, สมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, และระยอง รวม 10 สถานี 

โครงการนี้มีสถานีเริ่มต้นที่ดอนเมือง สิ้นสุดที่จังหวัดระยอง ระยะทางรวม 260 กิโลเมตร ใช้ความเร็ววิ่งในเมือง 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง และนอกเมือง 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้เวลาการเดินทางจากกรุงเทพ ถึงฉะเชิงเทรา 30 นาที จากปกติ 1 ชั่วโมง และจากกรุงเทพถึงระยอง 2 ชั่วโมง จากปกติ 2 ชั่วโมง 30 นาที ค่าโดยสารจากดอนเมือง-อู่ตะเภา อยู่ที่ 500 บาท และเส้นทางด่วนพิเศษสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา อยู่ที่ 300 บาท เบื้องต้นประชาชนในพื้นที่สนใจและให้การตอบรับค่อนข้างดี 

การรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่า พื้นที่ก่อสร้างโครงการ จะยึดหลักการเดิม คือใช้พื้นที่บริเวณรถไฟ แต่ยังต้องเวนคืนที่ดินเพิ่ม โดยในจังหวัดฉะเชิงเทราจะเวนคืนมากกว่าจังหวัดอื่นคือ 292 ไร่ กระทบสิ่งปลูกสร้าง 80 หลังคาเรือน แต่เป็นที่ดินนอกเขตชุมชน 
        
แหล่งข่าวการรถไฟฯระบุว่า งบประมาณการก่อสร้างไม่เพิ่มขึ้นจากโครงการเดิม ในสมัยที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์เป็นรัฐมนตรีมากนัก ขณะที่รัฐบาล คสช. เพิ่มสถานีอู่ตะเภา และย้ายสถานีระยองจากตัวเมืองเข้าไปใกล้นิคมอุตสาหกรรมมากขึ้น และเพิ่มเติมการเชื่อมสนามบินดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา ด้วยรถไฟแอร์พอร์ตลิงค์เดิมและส่วนต่อขยาย เพื่อส่งเสริมโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC 

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยอง งบประมาณการก่อสร้างอยู่ที่ 280,000 ล้านบาท บรรจุไว้ในปีงบประมาณ 2560-2561 รูปแบบการลงทุนแบบเอกชนร่วมลงทุน  จากนี้จะมีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นคิดของประชาชนที่กำหนดแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม ก่อนส่งมอบผลให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา และเสนอต่อ บอร์ดอีอีซี จากนั้นจะประกาศเชิญชวนนักลงทุนภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปลายปีหน้า ( 2561)  เปิดให้บริการกลางปี 2566  ตั้งเป้ามีผู้ใช้บริการกว่า 169,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน  

ก่อนหน้านี้ กลุ่มซีพี สนใจร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูง กทม.-ระยอง  โดย 2 ปีก่อนมีการเปิดตัวพันธมิตรจากฮ่องกงและจีน และตั้งคณะทำงานศึกษา แต่ล่าสุดพบว่า ซีพีขอดูเงื่อนไขและขอศึกษาข้อมูลการประมูลอย่างละเอียดก่อน

ส่วนวันพรุ่งนี้ (30 ส.ค.60) รฟท.จะแนะนำโครงการและรับฟังความคิดเห็นประชาชนในเมืองพัทยา 

 

รายงานโดย จิตนภา จรูญโรจน์ ณ อยุธยา

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog