ไม่พบผลการค้นหา
คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเกาหลีใต้ ที่ตัดสินให้จำคุกทายาทของบริษัทซัมซุงเป็นเวลา 5 ปี ส่งผลให้เกิดคำถามตามมาว่า เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อระบบแชโบล หรือระบบอภิธุรกิจที่ชักใยอยู่เบื้องหลังการเมืองและเศรษฐกิจเกาหลีใต้อย่างไร? และคำพิพากษานี้ จะนำไปสู่จุดจบของระบบแชโบลหรือไม่?

คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเกาหลีใต้ ที่ตัดสินให้จำคุกทายาทของบริษัทซัมซุงเป็นเวลา 5 ปี ส่งผลให้เกิดคำถามตามมาว่า เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อระบบแชโบล หรือระบบอภิธุรกิจที่ชักใยอยู่เบื้องหลังการเมืองและเศรษฐกิจเกาหลีใต้อย่างไร? และคำพิพากษานี้ จะนำไปสู่จุดจบของระบบแชโบลหรือไม่?

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นของเกาหลีใต้ได้พิพากษาจำคุกนายอีแจยอง ทายาทของบริษัทซัมซุงเป็นเวลา 5 ปี ในข้อหาติดสินบน ฉ้อโกง ปิดบังทรัพย์สินในต่างประเทศ ให้การเท็จ และข้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริจาคเงินให้กับมูลนิธิของนางชเวซุนซิล คนสนิทของนางสาวพักกึนเฮ อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ซึ่งถูกศาลพิพากษาถอดถอนออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นำมาสู่คำถามที่ว่า 'คำพิพากษาครั้งนี้จะนำไปสู่จุดจบของระบบแชโบลหรือไม่'?

'แชโบล' เป็นคำที่ชาวเกาหลีใต้ใช้เรียกกลุ่มธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ ซึ่งได้แก่ ซัมซุง ฮุนได ล็อตเต แอลจี และเอสเค กรุ๊ป ซึ่งมีมูลค่ารวมกันกว่าครึ่งของตลาดหุ้นคอสปีของเกาหลีใต้ และเป็นกระดูกสันหลังที่สำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเมื่อปี 1960-1970 ระหว่างที่นายพักจุงฮี บิดาของนางสาวพักกึนเฮ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี กลุ่มแชโบลถูกมองว่าเป็นหัวหอกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ทำให้เกาหลีใต้ซึ่งครั้งหนึ่งยากจนกว่าเกาหลีเหนือ กลายมาเป็นประเทศที่มีรายได้สูง

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 1997-1999 ความนิยมในกลุ่มแชโบลได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากชาวเกาหลีใต้มองว่า กลุ่มแชโบลเน้นการทำธุรกิจเผื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเป็นหลัก และกลุ่มแชโบลยังเป็นต้นเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ การบริหารของกลุ่มแชโบลยังขาดความโปร่งใส มีการติดสินบนและฉ้อโกงอย่างกว้างขวาง

นางสาวพักกึนเฮ อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้

เมื่อช่วงปลายปี 2016 ภายหลังจากที่ชาวเกาหลีใต้หลายแสนคน ออกมาเดินขบวนต่อต้านนางสาวพัก กลุ่มแชโบลซึ่งเป็นผู้สนับสนุนพรรครัฐบาลเกาหลีใต้ รวมทั้งมอบเงินบริจาคให้นางชเวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านอย่างหนัก นำไปสู่การจับกุมนายอีและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทซัมซุงอีก 2 คน 

ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้พิพากษาถอดถอนนางสาวพักเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นายมุนแจอิน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของเกาหลีใต้ได้รณรงค์หาเสียง โดยหยิบยกประเด็นเรื่องการกวาดล้างการคอร์รัปชัน รับสินบน และขจัดอิทธิพลของกลุ่มแชโบลเป็นแคมเปญหลัก ซึ่งหลังขึ้นดำรงตำแหน่ง นายมุนแจอินยังได้แต่งตั้งนักวิพากษ์ระบบแชโบลหลายคนขึ้นดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลและคณะกรรมาธิการตรวจสอบ 

ยิ่งไปกว่านั้น หนึ่งในนโยบายของนายมุน คือ การเก็บภาษีจากกลุ่มแชโบลเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ของเกาหลีใต้ ได้ประกาศนโยบายเพิ่มอัตราภาษีสำหรับธุรกิจยักษ์ใหญ่ จากเดิมร้อยละ 22 เป็นร้อยละ 25 พร้อมประกาศว่าจะลดเครดิตภาษีสำหรับโรงงานและหน่วยวิจัยของบริษัทขนาดใหญ่อีกด้วย

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันฉลองอิสรภาพของเกาหลีใต้ นายมุนยังได้ประกาศไม่เข้าร่วมงานอภัยโทษนักธุรกิจ ซึ่งเป็นธรรมเนียมของรัฐบาลเกาหลีใต้และมักจะมีนักธุรกิจจากกลุ่มแชโบลเข้าร่วมด้วย ก่อนหน้านี้ นายอีคุนฮี บิดาของนายอีแจยอง เคยถูกพิพากษาจำคุก 2 ครั้ง ในข้อหาติดสินบน หลีกเลี่ยงภาษี และข้อหาอื่นๆ แต่ได้รับการอภัยโทษจากประธานาธิบดีในขณะนั้น

นายมุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้

นักวิเคราะห์หลายคนจึงมองว่า การตัดสินจำคุกนายอี โดยที่ไม่ได้รับการอภัยโทษ และการประกาศเพิ่มอัตราภาษี เป็นการปรับนโยบายต่อกลุ่มแชโบลที่ชัดเจนของรัฐบาลเกาหลีใต้

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์บลูมเบิร์กกลับตั้งข้อสังเกตว่า ในคดีนี้นายอีอาจเป็นเพียงแค่เหยื่อบูชายันต์ทางการเมืองเท่านั้น แต่เครือข่ายอำนาจของกลุ่มแชโบลจะยังคงมีอิทธิพลต่อการเมืองเกาหลีใต้ต่อไป 

บลูมเบอร์กมองว่า ในขณะที่ผู้คนในสังคมเริ่มได้กำลังใจจากคดีของนายอี แจ ยองว่าประเทศจะสามารถทำอะไรได้มากกว่าในอดีตสำหรับปัญหาทุจริตและกลุ่มแชโบล แต่นายมุนกลับไม่มีท่าทีรีบเร่งในการจัดการกับปัญหานี้แต่อย่างใด 

บลูมเบิร์กตั้งข้อสังเกตว่า แม้การตรวจสอบและปฏิรูปกลุ่มแชโบลจะเป็นประเด็นหลักที่นายมุนใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง แต่จนถึงขณะนี้ การดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นไปอย่างล่าช้า และประเด็นสำคัญที่รัฐบาลเกาหลีใต้หันไปให้น้ำหนักมากที่สุด คือ การรับมือกับภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ และการเจรจาเขตการค้าเสรีกับนายทรัมป์

สาเหตุสำคัญอันหนึ่ง บลูมเบอร์กมองว่าเนื่องจากขณะนี้ นายมุนสามารถคุมเสียงในรัฐสภาได้เพียงร้อยละ 40 เท่านั้น ขณะที่ ส.ส.ในสภาส่วนใหญ่ยังมาจากเครือข่ายอำนาจเก่า ซึ่งมีความสัมพันธ์กับกลุ่มแชโบล ทำให้การผลักดันกฎหมายเพื่อตรวจสอบ เก็บภาษีเพิ่ม หรือเอาผิดกลุ่มแชโบลเป็นไปได้ยาก

นายมุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ (ซ้าย) และนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ (ขวา) 

นอกจากนี้ ในปัจจุบัน กลุ่มแชโบลยังเป็นกุญแจสำคัญในการเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องการให้เกาหลีใต้และสหรัฐฯ ทบทวนข้อตกลงการค้าเสรีที่ลงนามร่วมกันใหม่ โดยนายทรัมป์กล่าวหาว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่เลวร้ายและเกาหลีใต้ได้รับผลประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว โดยสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความสำคัญของกลุ่มแชโบลต่อเรื่องนี้ คือ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ระหว่างการเข้าพบเพื่อหารือกับนายทรัมป์ที่ทำเนียบขาว นายมุนได้พาคณะผู้บริหารของกลุ่มแชโบลไปด้วย

ด้วยเหตุนี้เอง บลูมเบิร์กจึงมองว่า คำพิพากษาจำคุกนายมุน จึงเป็นเพียงการลดแรงกดดันทางการเมืองและความเกรี้ยวโกรธของประชาชนลง ช่วยให้นายมุนไม่จำเป็นต้องแสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวท้าทายกลุ่มแชโบล และหันไปให้ความสำคัญกับนโยบายด้านอื่นๆ แทน ในขณะที่ระบบแชโบลจะคงอยู่และมีอิทธิพลในสังคมเกาหลีใต้ต่อไป

ขณะที่เว็บไซต์นิวยอร์ก ไทม์สวิเคราะห์ว่า แม้นายอีจะถูกพิพากษาจำคุก 5 ปี แต่เขายังคงเป็นผู้กุมอำนาจสำคัญของบริษัทซัมซุง โดยนายอีจะยังคงมีอำนาจในการบริหารจัดการบริษัท สามารถปลด หรือโยกย้ายผู้บริหารได้ตามที่เขาต้องการ

เรียบเรียงโดย: สลิสา ยุกตะนันทน์

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog