ไม่พบผลการค้นหา
กรุงเทพมหานคร จะทดลองใช้งานอุโมงค์ระบายใต้คลองบางซื่อ หลังก่อสร้างแล้วเสร็จกว่าร้อยละ 97 ก่อนเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ 6 กันยายน นี้ คาดสามารถรองรับน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้กว่า 56 ตารางกิโลเมตร

กรุงเทพมหานคร จะทดลองใช้งานอุโมงค์ระบายใต้คลองบางซื่อ หลังก่อสร้างแล้วเสร็จกว่าร้อยละ 97 ก่อนเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ 6 กันยายน นี้ คาดสามารถรองรับน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้กว่า 56 ตารางกิโลเมตร

พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ติดตามความคืบหน้า โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ บริเวณสถานที่ก่อสร้างสถานีสูบน้ำเกียกกาย ถนนประชาราษฎร์ สาย 1 เขตดุสิต พร้อมเปิดเผยว่า จะทำการทดสอบเครื่องสูบน้ำภายในวันนี้ (28 ส.ค. 60) ก่อนทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเต็มระบบ ในวันที่ 6 กันยายน 2560 คาดว่าจะสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมช่วงฝนตกหนัก ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ 6 เขต 56 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย ดุสิต บางซื่อ พญาไท จตุจักร ดินแดง และห้วยขวาง

 


    

โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มจากบริเวณถนนรัชดาภิเษก ลอดใต้คลองบางซื่อไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเกียกกาย โดยอุโมงค์มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร ระยะทาง 6.4 กิโลเมตร ตลอดโครงการสร้างอาคารรับน้ำ 3 แห่ง คือ อาคารรับน้ำรัชดาภิเษก อาคารรับน้ำถนนวิภาวดีรังสิต และอาคารรับน้ำถนนกำแพงเพชร สร้างสถานีสูบน้ำ ขนาด 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 1 แห่ง 

เป้าหมายสำคัญของโครงการ คือการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะบนถนนสายสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นจุดอ่อนน้ำท่วม เช่น ถนนพหลโยธิน ช่วงสะพานควายถึงห้าแยกลาดพร้าว, ถนนลาดพร้าว จากสี่แยกรัชดาถึงคลองบางซื่อ, ถนนกำแพงเพชร ตั้งแต่ทางด่วนศรีรัชถึงตลาดนัดจตุจักร และถนนสามเสน จากคลองบางกระบือถึงสี่แยกเกียกกาย นอกจากนี้ ยังเพิ่มประสิทธิภาพคลองระบายน้ำ บริเวณคอขวดถนนพหลโยธินถึงวิภาวดีรังสิต

โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ ใช้งบประมาณกว่า 2,440ล้านบาท (2,442,400,000 บาท) เป็นงบกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 50 และงบอุดหนุนจากรัฐบาล ร้อยละ 50 ใช้เวลาก่อสร้างเกือบ 4 ปี บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง ขณะนี้ (28 ส.ค.) แผนงานคืบหน้าร้อยละ 97.13

 

รายงานโดย ชยากร กำโชค
     

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog