ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการด้านกฎหมาย ห่วงผลกระทบคำสั่งมาตรา 44 ปิดเหมืองแร่  ระบุ รัฐบาลใช้กฎหมายครอบจักรวาล ไร้การตรวจสอบจนละเมิดสัญญาเอกชน เสี่ยงพิพาทระหว่างประเทศ ซ้ำร้อยค่าโง่ทางด่วน

นักวิชาการด้านกฎหมาย ห่วงผลกระทบคำสั่งมาตรา 44 ปิดเหมืองแร่  ระบุ รัฐบาลใช้กฎหมายครอบจักรวาล ไร้การตรวจสอบจนละเมิดสัญญาเอกชน เสี่ยงพิพาทระหว่างประเทศ ซ้ำร้อยค่าโง่ทางด่วน
        
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยะบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ แสดงความกังวลการดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ตามมาตรา 44 ฉบับที่ 72/2559 ปิดเหมืองแร่ทั่วประเทศ โดยหนึ่งในนั้นคือเหมืองแร่ทองคำชาตรี   ซึ่งขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างเจรจาชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัทคิงส์เกต สัญชาติออสเตรเลีย ที่มีบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทดูแลในประเทศไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยะบุตร ระบุว่า เห็นใจข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องเจรจาขอชดใช้ค่าเสียหาย เนื่องจากคสช.ใช้คำสั่งปิดโดยกฎหมายพิเศษ ทั้งที่สัญญาสัมปทานยังไม่หมด และเอกชนลงทุนไปแล้ว ซึ่งจะทำให้เอกชนสูญเสียความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจในประเทศไทย 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยะบุตร คาดว่า สาเหตุที่คสช.เลือกใช้มาตรา 44 เพราะเกรงว่า บริษัทเอกชนอาจฟ้องร้องสู้คดีได้ หากใช้คำสั่งอุตสาหกรรมปกติ จึงใช้มาตรา 44 เพราะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และมีสถานะเป็นที่สุด 

อย่างไรก็ตามเป็นไปได้ว่า จะเกิดการฟ้องร้องที่อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งอำนาจของมาตรา 44 นั้นไม่ครอบคลุม อีกทั้งการดำเนินกิจการของบริษัทออสเตรเลียเป็นไปตามสัญญาเอฟทีเอ ที่ไทยและออสเตรเลียลงนามร่วมกัน และมีข้อกำหนดต้องคุ้มครองเอกชน 
หากประเด็นนี้เข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ไทยมีโอกาสเสียเปรียบ และแพ้คดีมีสูง คล้ายเคียงกับกรณีค่าโง่ทางด่วน 

สำหรับคำสั่งหัวหน้าคสช. 72/2559 ปรากฎในราชกิจจานุเบกษาในเดือนธันวาคม 2559 เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ หลังผู้ได้รับผลกระทบได้ร้องเรียน โดยให้ผู้ประกอบการเหมืองจะต้องระงับการประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป
    
    
 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog