ไม่พบผลการค้นหา
เลขาธิการ กพฐ. แจงประเด็นการจัดการเรียนการสอนเพศศึกษาในโรงเรียน มิได้มุ่งเน้นเฉพาะการสอนเนื้อหาเท่านั้น แต่มุ่งเน้นการสร้างเสริมทัศนคติ-ทักษะที่จำเป็นเพื่อให้นร.นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

เลขาธิการ กพฐ. แจงประเด็นการจัดการเรียนการสอนเพศศึกษาในโรงเรียน มิได้มุ่งเน้นเฉพาะการสอนเนื้อหาเท่านั้น แต่มุ่งเน้นการสร้างเสริมทัศนคติ-ทักษะที่จำเป็นเพื่อให้นร.นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

จากกรณีที่มีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวเรื่องการสอนเพศศึกษาในไทย ว่าไม่สามารถผลักดันให้เด็กนักเรียนมีความคิดเชิงวิพากษ์ที่จะสามารถนำความรู้เรื่องเพศศึกษาไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ หรือการสอนเพศศึกษาในโรงเรียนไทยยังไม่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมประเด็นต่างๆ ทำให้เด็กไทยขาดทักษะในการจัดการเรื่องเพศในชีวิตประจำวัน ส่งผลกระทบต่อทัศนคติและการรับรู้เรื่องเพศของเด็ก รวมทั้งครูที่สอนวิชาเพศศึกษาจำนวนมากไม่ได้รับการฝึกอบรมทักษะหรือพัฒนาวิธีการสอนให้เหมาะสมกับเด็กนั้น

นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ได้ชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าวว่า การสอนเพศศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา มิได้มุ่งเน้นเฉพาะการสอนเนื้อหาเท่านั้น แต่มุ่งเน้นการสร้างเสริมทัศนคติและทักษะที่จำเป็นเพื่อให้นักเรียนนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของนักเรียนได้ ซึ่งครูจะมีวิธีสอนที่แตกต่างกัน การสอนเชิงวิพากษ์ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่ง ส่วนกรณีที่วัยรุ่นตั้งครรภ์หรือติดโรคทางเพศสัมพันธ์อาจมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ควรได้ทำการศึกษาเชิงลึกเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงประเด็น

ขณะที่การเรียนเพศศึกษามีองค์ประกอบครอบคลุม 6 มิติ คือ พัฒนาการทางเพศ (Human Sexuality Development) สุขภาวะทางเพศ (Sexuality Health) พฤติกรรมทางเพศ (Sexual Bekavior) สัมพันธภาพระหว่างบุคคล (Relationship) ทักษะส่วนบุคคล (Values, Attitudes and Skills หรือ Personal Skill) และ สังคมและวัฒนธรรม (Social, Culture and Human Rights) ตามมาตรฐานสากลและกฎหมายกำหนด แต่ครูบางส่วนยังสอนได้ไม่ครอบคลุม ซึ่งในจุดนี้ สพฐ. ก็กำลังเร่งพัฒนาครูให้มีประสิทธิภาพในการสอนเพศศึกษาให้ครอบคลุมทุกมิติต่อไป 

“ในขณะนี้ สพฐ. ได้มีการพัฒนาบุคลากรเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อพัฒนาครูอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ครูทุกคนสามารถพัฒนาการเรียนการสอนด้านเพศศึกษาด้วยตนเอง โดย สพฐ. ร่วมกับ ส.ส.ส. และองค์กรแพธทูเฮลท์ (Path2Health) ได้จัดทำชุดการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบหลักสูตรการพัฒนาตามนโยบาย และแหล่งเรียนรู้ศูนย์ (Teachers and Education Persinnels Enhancement based on Mission and Functional Areas as Major : TEPE Online) ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้พัฒนาครูได้ในปีการศึกษา 2562 นี้” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว 

 

รายงานโดย  :   วีรนันต์ กัณหา

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog