ไม่พบผลการค้นหา
‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ คัด 10 นักผจญภัยไปปักธงชาติกลางขั้วโลกใต้ ล่าสุดซ้อมหนักลากยาง 50 กว่ากิโลกรัมใน 24 ชั่วโมง บนถนนสภาพต่างๆ จำลองความอดทนหากต้องลากสัมภาระ 100 กก.บนน้ำแข็ง ระยะทางกว่า 1,200 กม.ที่ขั้วโลกใต้ปลายปี61  

‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’  คัด 10 นักผจญภัยไปปักธงชาติกลางขั้วโลกใต้ ล่าสุดซ้อมหนักลากยาง 50 กว่ากิโลกรัมใน 24 ชั่วโมง บนถนนสภาพต่างๆ จำลองความอดทนหากต้องลากสัมภาระ 100 กก.บนน้ำแข็ง ระยะทางกว่า 1,200 กม.ที่ขั้วโลกใต้ปลายปี61    

Voice TV รวบรวมบรรยากาศการฝึกใน 24 ชั่วโมงของผู้สมัครที่เข้ารอบ 30 คน ร่วมฝึกความแข็งแกร่งทางร่างก่ายและจิตใจกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ(TJ) รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ผู้ก่อตั้ง TJ's True South Adventure to Antarctica หรือ TJ’s True South (#TrueSouthThailand) โครงการที่จะพาคนไทย 10 คน ไปปักธงชาติกลางขั้วโลกใต้ สร้างประวัติศาสตร์เป็น 1 ใน 19 ประเทศทั่วโลก 

ทั้งนี้ โครงการใช้เวลาเตรียมความพร้อมฝึกซ้อมถึง 2 ปี ก่อนเดินทางจริงในปลายปี 2561 ซึ่งจะเดินทางออกจากไทยโดยเครื่องบินเหมาลำและเริ่มเดินเท้าจากยูเนี่ยนกลาเซียร์ขอบทวีปแอนตาร์กติกาสู่ใจกลางขั้วโลกใต้ระยะทาง 1,200 กว่ากิโลเมตร ในเวลา 45 วัน ด้วยการลากสัมภาระคนละ 100 กิโลกรัมบนน้ำแข็งโดยไม่มีการสนับสนุนน้ำและอาหารจากภายนอก ต้องต้มน้ำแข็งกินเอง 

หากเพียง 1 ใน 10 นักผจญภัยได้ปักธงชาติไทยที่ขั้วโลกใต้จะส่งผลให้ทั้ง 10 คนได้รับรางวัลคนละ 1 ล้านบาทเพื่อนำไปบริจาคเป็นการกุศลให้แก่มูลนิธิใดก็ได้ตามความสนใจของแต่ละคน 

โดยมูลนิธิไทยซัมมิทพัฒนาจะเป็นผู้รับผิดชอบระดมทุนจากผู้สนับสนุนทั้งบริษัทฯ เอกชน และประชาชนทั่วไปกว่า 50 ล้าน เพื่อดูแลค่าใช้จ่ายการฝึก, การเดินทางและการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมเชิดชูเกียรติประวัติแก่ 10 นักผจญภัยทีมแรกของประเทศไทย รวมถึงระดมทุน 10 ล้านบาทสำหรับเป็นรางวัลให้นักผจญภัยนำไปบริจาคเพื่อการกุศลหากคนใดคนหนึ่งปักธงชาติสำเร็จ  

ล่าสุดผู้เข้าร่วมโครงการ 30 คน ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากผู้สมัคร 200 คน ได้ฝึกความทรหดระยะที่ 5 เมื่อวันที่ 13 - 14 ส.ค. 2560 ในกิจกรรมที่ 1 ภารกิจเดิน/วิ่ง ลากยางน้ำหนัก 50 กว่ากิโลกรัมใน 24 ชั่วโมง ที่พัฒนากอล์ฟคลับแอนด์รีสอร์ท อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

เพื่อทดสอบความความแข็งแกร่งโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ(TJ) ร่วมฝึกซ้อมเช่นเดียวกับผู้สมัครคนอื่นๆ ต้องลากยางรอบพัฒนากอล์ฟคลับฯ ซึ่งมีระยะทางรอบละ 5 กิโลเมตร ผ่านทั้งถนนลาดยาง ถนนที่เป็นทรายกลางป่าหญ้าและที่ยากสุดคือถนนบนสนามกอล์ฟ ที่แม้จะวิวสวยบรรยากาศดี แต่ผู้สมัครหลายคนบอกว่าเป็นจุดที่หนักสุดเพราะมีเนินขึ้นลงตลอดทางและมีลายขวางบนถนน ทำให้ยากต่อการเดินลากยาง  

ธนาธร พูดคุยกับผู้สื่อข่าว Voice TV ระหว่างเริ่มฝึกลากยางจำนวน 4 เส้นน้ำหนัก 54 กิโลกรัมว่า การฝึกครั้งนี้เพื่อจำลองการลากสัมภาระบนหิมะเพราะปัญหาตอนไปขั้วโลกใต้จะอยู่ที่การออกตัว จะหนักกว่านี้ แต่หลังออกตัวได้เอาชนะพลังงานสถิตได้ แรงต้านทานหิมะจะน้อยกว่า เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มเดินไปก็จะเบากว่าตอนฝึกลากยางในวันนี้   

หลังฝึกมาทั้งวัน ระหว่างหยุดพักที่สนามกอล์ฟในช่วงเย็น ‘ธนาธร’ กล่าวถึงความรู้สึกขณะนั้นว่า ยางหนักอย่างเหลือเชื่อ แต่ก็หนักอย่างเป็นไปตามคาด เพราะเราตั้งใจออกแบบมาให้หนัก เพื่อคัดกรองคนที่มีจิตใจแน่วแน่ที่สุด ปัญหาเมื่อไปขั้วโลกใต้ คือจะไม่ได้หนักแบบนี้วันเดียว ต้องทำแบบนี้ทุกวัน 45 วัน  เพราะฉะนั้น วันนี้ต้องผ่านให้ได้ ถ้าไม่ผ่านวันนี้ ก็ทำอย่างนี้ 45 วันไม่ได้ 

ทีมข่าวได้ติดตามการฝึกลากยางของผู้ก่อตั้ง TJ’s True South ไปถึงช่วงกลางคืน ได้พบกับเขากลางสนามกอล์ฟระหว่างเดินลากยางรอบที่ 2 ท่ามกลางความมืด  ‘ธนาธร’ บอกว่า ข้อดีของกลางคืนคืออากาศเย็นไม่ร้อน แต่ข้อเสียคือความล้ามาจากกลางวัน ส่วนตัวเขาเองยังเหลือพลังอยู่ 80% “ผมคิดว่า ทุกคนที่ยังลากยางอยู่ตอนนี้ต้องรู้สึกว่าร่างกายเริ่มแตกสลายบางส่วน”  

ในช่วงเช้ามืด ‘ธนาธร’ บอกว่า ตั้งแต่เริ่มรายการเมื่อเช้าวาน(13 ส.ค.) ลากยางได้ครบ 2 รอบ ตอนนี้ขึ้นรอบที่ 3 สำหรับการเดินตลอดทั้งคืน ได้นอนพักริมถนนอยู่ครึ่งชั่วโมงและมานอนบนโต๊ะอีก 1 ชั่วโมง ร่างกายแตกสลายไปหมด ต้องออกแรงหลังเยอะ 

ชุมพล ครุฑแก้ว ผู้เข้าร่วม TJ’s True South ให้สัมภาษณ์ระหว่างลากยางในสนามกอล์ฟช่วงเช้ามืดว่า รอบนี้เป็นรอบที่ 3 รู้สึกจะหนักไปหน่อย ลากยาง 4 เส้น น้ำหนัก 53 กิโลกรัม กับความฝืดของสนามกอล์ฟที่เป็นปูน มีเนินขึ้นต้องลากไปพักไปตลอด เป้าหมายไปขั้วโลกใต้ยังอยู่แน่นอน ต้องผ่านด่านนี้ให้ได้ แล้วก็มีวิ่ง 300 กม. หัดเล่นสกี ตัดตัวเหลือ 15 คน มีความมั่นใจในระดับหนึ่ง แต่ว่าด่านนี้ค่อนข้างโหด

 

 

ชุมพล เล่าว่า เดิมเป็นนักวิจัยอยู่ สวทช. เพิ่งลาออกเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อไปโครงการ True South Thailandเพราะมองว่าโอกาสอย่างนี้หาไม่ได้ในชีวิตแน่ๆ เป็นอะไรที่ท้าทาย ปกติเลือกจะทำโปรเจ็คอะไรบางอย่างปีละ 1 ครั้งที่ท้าทายตัวเองอยู่แล้วพอได้ยินโครงการนี้ ก็ไม่ลังเลที่จะรีบมาสมัคร


 


“ผมตัดสินใจลาออกจากงาน เพราะมีโครงการไปเนปาล 2 เดือน เดินวิ่ง 1,600 กิโลเมตรบนภูเขาหิมาลัย เดือน เม.ย. – พ.ค.เมื่อจบจากหิมาลัย ก็ต้องไปโครงการ True South Thailand ต่อ จึงตัดสินใจลาออกจากงานที่ทำมา 16-17 ปี เคยป็นนักเรียนทุนรัฐบาลและทำงานวิจัยใช้ทุนนานพอสมควร ก็ตัดสินใจยากเหมือนกันตอนนั้น”

      


สำหรับความรู้สึกหลังเดินลากยางมามา 24 ชั่วโมง ชุมพลบอกว่า “(หัวเราะ) จริงๆ แล้วผมเคยแข่ง 80 ชั่วโมง มากกว่านี้เยอะครับ ผมเป็นนักวิ่งอัลตร้าอยู่แล้ว แต่งานนี้คือมันต้องลากยาง จากปกติผมวิ่งแบกเป้เฉยๆ การลากยางมันเกินตัวเรามาก หนักมาก โดยเฉพาะผมตัวเล็กด้วย แค่ไม่กี่ชั่วโมง ก็หนักมากเกินสำหรับผม ฉะนั้น ครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่หนักมากๆ ที่สุดในชีวิตครั้งหนึ่งเลย เดินได้ 3 รอบ ไม่มีบาดเจ็บ มีปัญหาแค่เวียนหัว เพราะอาหารไม่พอกินไม่พอ ขณะที่การใช้พลังงานสูงมาก”ชุมพลกล่าว


ฉัตรชัย อนันต์ภัทรชัย ผู้เข้าร่วม TJ’s True South อาชีพผู้สอบบัญชี (CPA) ให้สัมภาษณ์ในช่วงเย็นระหว่างลากยางน้ำหนัก 54 กิโลกรัม พร้อมเสบียงและน้ำ 3-4 ลิตร รวมๆ เกือบ 60 กิโลกรัมว่า “ผมเห็นว่ามันมีความท้าทายและเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจมากที่พี่เอก(ธนาธร)เสนอไอเดียคัดคนไปขั้วโลกใต้ พออ่านดูแล้วน่าสนใจ ก็เลยลองเข้าร่วมโครงการดู คิดว่าคงสนุกและผมชอบวิ่งแนวผจญภัยอยู่แล้ว มันจะคล้ายๆ กัน เพียงแต่ว่า ต้องเพิ่มทักษะที่ไม่เคยมีมาก่อนขึ้นมา ซึ่งก็สนุกดีได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เช่น การปีนผา หรือเล่นไอซ์สเก็ต 

 

การเดินเท้าจากไหล่ทวีปไปสุดขั้วโลกปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ชาติที่ทำได้ เพราะฉะนั้น ทีมของเราไม่ว่าเป็นใครก็ตามที่ถูกคัดเลือกไป สามารถทำภารกิจนี้ได้สำเร็จ ผมก็ถือว่าสร้างชื่อเสียงให้ประเทศและเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นต่อไปของชาติเราได้
 


 
“ความเสี่ยงในการไปขั้วโลกใต้ ไม่ใช่แค่ความเสี่ยงไม่สามารถเดินถึงจุดหมาย แต่มีความเสี่ยงต่อชีวิตของตัวเราเอง กับของเพื่อนร่วมทีมมีค่อนข้างสูง ถ้าเราไม่พร้อม ถ้าเราตัดสินใจช้า เพราะฉะนั้น การฝึกฝน หรือการทดสอบที่เราทำอยู่ผมไม่ได้คิดว่ามันเหนื่อยยากหรือมากเกินไป มันมีความจำเป็นที่เราจะต้องทำ มันมีเหตุผลของมัน“

“เป้าหมายของคนเราแต่ละยุคสมัยมันค่อนข้างแตกต่างกัน ถ้าเป็นรุ่นพ่อรุ่นแม่ผมอายุ 60-70 เขาจะชอบความมั่นคงปลอดภัย แต่พอมาเป็นรุ่นลูก ผมไม่แน่ใจว่าเฉพาะเจนเนอเรชั่นนี้หรือเปล่า เรามีสิ่งที่พ่อแม่เราต้องการให้มี ผมว่าเรามีกันเกือบทุกคนอยู่แล้ว แต่ชีวิตมันค่อนข้างจะน่าเบื่อ เราก็เลยต้องหาเป้าหมาย หาความท้าทายใหม่ๆ ให้เราสามารถมีชีวิตอย่างมีชีวิตชีวาได้” ฉัตรชัยกล่าว


ธนกฤต อำนาจสถิตย์ ผู้เข้าร่วม TJ’s True South อดีตเจ้าหน้าที่พิธีการสินเชื่อธนาคารกรุงเทพ ให้สัมภาษณ์ระหว่างลากยางหนัก 53 กิโลกรัม ว่าเขา ลาออกจากงานตั้งแต่เดือน ก.พ. เพราะมีความตั้งใจอยากจะพยายามให้เต็มที่ ถ้าไม่ได้ตามเป้าหมายก็จะได้ไม่เสียใจเพราะลงมือทำแล้ว

“เดิมเป็นเจ้าหน้าที่พิธีการสินเชื่อ ของธนาคารกรุงเทพ หลังออกจากงาน มาซ้อมวิ่งอย่างน้อย10 - 20 กม. ฝึก body weight สร้างกล้ามเนื้อส่วนที่ต้องใช้งาน หรือวิ่งทางไกลที่เคยซ้อมคือ 100 โล ภายใน 24 ชั่วโมง เราต้องฝึกซ้อมหนักมากเพื่อจะไปขั้วโลกใต้ให้ได้ เรารู้ว่าตลอดระยะทาง 1 พันกว่ากิโลเมตร เจอแต่ความโหดร้าย เราต้องเตรียมความพร้อมค่อนข้างเยอะ เราไม่ใช่นักกีฬา ไม่ได้แข็งแรงมาตั้งแต่ต้น ก็อยากจะฟิตซ้อมให้เต็มที่ 


นอกจากทักษะทางร่างกาย ก็ต้องมีทักษะในการเอาชีวิตรอด ไม่ว่าจะเป็นทักษะการใช้เชือก การปีนผาและอีกหลายอย่าง ที่ต้องเรียนรู้จริงจังในรอบต่อไป คือช่วงนี้เราได้ฝึกในสิ่งที่เราฝึกได้ในประเทศ เช่น ทักษะไอซ์สเก็ต ซึ่งเป็นพื้นฐานการทรงตัว 


 
สภาพร่างกายกับจิตใจต้องแข็งแกร่งจริงๆ เพราะอุณหภูมิติดลบ 30 - 40 องศา ร้อนสุดคือติดลบ 20 องศา ตอนเราจะไป ฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนในเมืองร้อนจะไปอยู่ในสภาพอากาศแบบนั้น ทุกอย่างที่เราทำในชีวิตประจำวันจะยากหมดเลย  ไม่ว่าจะหุงหาอาหาร กางเต็นท์ จากที่เราทำง่ายๆ ทุกอย่างจะยากไปหมด และด้วยอุณหภูมิขนาดนั้น ก็มีความเสี่ยงเรื่องหิมะกัด เรื่องสาระพัดและพายุที่โน่นค่อนข้างแรงมากคือถ้าพายุเข้า อุณหภูมิอาจจะติดลบถึง 50 องศา สภาพแวดล้อมที่เรามองเห็นอาจจะแค่ 5 เมตร ซึ่งเสี่ยงชีวิตมาก 

 

 

“เป้าหมายปักธงไทยที่ขั้วโลกใต้ เป็นเป้าหมายส่วนตัว การที่เราได้เป็น 1 ในทีมไทยที่ได้นำธงไทยไปปัก เป็นความภาคภูมิใจที่เราจะได้เป็นตัวแทนของประเทศไปปักธงที่โน่น โครงการ True South เป็นโอกาสครับ เพราะเราไม่ได้มีโอกาสทำอะไรสุดขั้วแบบนี้บ่อยๆ ครั้งหนึ่งในชีวิต ก็อยากจะพยายามให้เต็มที่ ก็ไม่รู้จะมีโครงการแบบนี้มาอีกหรือเปล่า”

 


 
“ไปขั้วโลกใต้ต้องแบกหนักกว่านี้แน่นอน เพราะทั้งเสบียงอาหาร สัมภาระ อุปกรณ์การดำรงชีพ เต็นท์ทุกอย่าง เราต้องแบกหนัก100 กิโลกรัม แต่ลากบนน้ำแข็ง บนหิมะ น้ำหนักจะถูกหารไปเยอะมาก ส่วนการฝึกลากยาง 50 กว่ากิโลกรัมบนถนนที่ร้อนๆ มันหนืดมาก ตอนนี้ยังเทียบไม่ได้ นอกจากผ่านเข้าไปในรอบหลังๆ ซึ่งทางโครงการจะพาไปเดินบนธารน้ำแข็งที่ไอซ์แลนด์ ตรงนั้นจำลองสถานการณ์จริง เพราะเราต้องเดินข้ามธารน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในยุโป ประมาณ 700 กม. ซึ่งสภาพใกล้เคียงกับขั้วโลกใต้ที่สุด ถึงตอนนั้น เราจะรู้แล้วว่าเรารับกับสภาวะนั้นได้ไหม

เรื่องความเสี่ยงในการไปขั้วโลกใต้ เตรียมใจตั้งแต่ต้น ส่วนตัวชอบเดินทางคนเดียว ไปเนปาล ไปไหนคนเดียว เราต้องรับความเสี่ยงให้ได้  ไม่ว่าจะเกิดอะไรต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้และเตรียมใจที่จะตายล่วงหน้าอยู่แล้วครับ"ธนกฤตกล่าว  


พญ.สกุณา อุษณวศิน ผู้เข้าร่วม TJ’s True South  บอกว่า ปกติเล่นกีฬาอัลตร้า ออกกำลังกายหนักๆ ชอบความท้าทาย เข้าร่วมโครงการนี้เพราะมีโอกาสเป็นตัวแทนของประเทศไทยไปพิชิตขั้วโลกใต้ ไปปักธงชาติไทยที่ขั้วโลกใต้ ทำให้รู้สึกสนใจมาก 

 


“จริงๆ ออกกำลังกายตั้งแต่เด็ก เป็นนักกีฬาฯ ตั้งแต่สมัยเรียน ช่วงหลังทำงานก็ออกกำลังกายประเภทวิ่งแต่ไม่มาก จนกระทั่งเป็นหมอเดินดอย เป็นอาสาสมัครรักษาผู้ป่วยบนดอยที่ภาคเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร รถเข้าไม่ถึง เราต้องเดินเท้าเข้าไปรักษากับมูลนิธิ พอสว.ตั้งแต่ประมาณปี 2552 ตอนนั้นมีหน่วยพิเศษ พอ.สว. ที่สมเด็จย่าทรงให้จัดตั้งขึ้นให้ไปรักษาผู้ป่วยบนดอย เป็นอาสาสมัคร พอ.สว.

 

 

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาประมาณ 8 ปี แล้ว ครั้งแรกที่ไปนี่คือเราคิดว่าเราแข็งแรงแล้ว เราก็เดินขึ้นดอย มันขึ้นแล้วขึ้นอีก เพื่อไปรักษาคนไข้ที่ห่างไกลมากๆ เลย ทำให้เราต้องกลับมาฟิตซ้อมออกกำลังกายมากขึ้น เป็นต้นเหตุให้เริ่มมาสนใจ เพื่อที่เราจะไปรักษาคนไข้ได้ เริ่มจากมินิมาราธอน พอผ่านมินิได้ ก็อัพขึ้นเรื่อยๆ เป็นฮาล์ฟ จนกระทั่งจบมาราธอน พอมาราธอน แล้วประเทศไทยเพิ่งมีสนามอัลตร้าเทรลครั้งแรก ก็ลงสนามเทรลวิ่งในป่า ภูเขา

 

แล้วอัพระยะมาเรื่อยๆ ระยะไกลสุดของไทยคือ 100 ไมลล์ คือวิ่งจากแม่ฮ่องสอนไปปาย อันนั้นคือคนแรกที่จบ 100 ไมลล์ของประเทสไทย แล้วปลายเดือนนี้จะไปแข่งอัลตร้าเทรล เดอ มองต์ บลังค์ ระยะ 170 กม. คือเราไปอัลตร้ามาหลายสนามแล้ว มีวิ่ง 320 กม.ทั่วประเทศสิงคโปร์ ก็ลงสมัครไป ก็คิดว่ามีความแข็งแรงระดับหนึ่ง ก็เลยมาร่วมโครงการ แต่การลากยางนี่ อีกเรื่องหนึ่งเลยค่ะ 

 

 

ลากยาง 51 กก. ต่างจากวิ่งตัวเปล่า ต้องใช้กำลังมาก ถ้าเทียบกำลังแล้ว ผู้หญิงกับผู้ชาย เทียบเขาไม่ได้เลย แต่ต้องพยายามให้ถึงที่สุด ให้ลากยาง 24 ชม. โหดมากค่ะ แต่ไม่ท้อ เคยอดหลับอดนอนต่อเนื่องกัน เคยวิ่งทางไกล ปั่นจักรยานทางไกล 24 ชม.ถือว่าไม่มีอะไร เคยอดนอนต่อเนื่อง 3 วันกว่า ที่เราเคยแข่งมา ก็เลยโอเคอยู่” 

 

 

พญ.สกุณา ให้สัมภาษณ์ช่วงเช้าหลังเดินลากยางมาเกือบครบ 24 ชม.ด้วยว่า เดินได้รอบเดียว เวลาขึ้นเนินที่ไม่มีทรายจะหนักมาก พอเจอพื้นทรายจะไปเร็วกว่า ตั้งใจจะเดินให้ครบ 24 ชั่วโมง ยึดหลักความเพียรอย่างเดียว เป้าหมายปักธงไทยที่ขั้วโลกใต้ยังอยู่  ถ้าลากบนหิมะแรงเสียดทานน่าจะน้อย จะไหลลื่นกว่านี้ 

 

 

สว่างจิต แซ่โง้ว ผู้เข้าร่วม TJ’s True South  ครูสอนพละศึกษาโรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรูว์ส บอกว่า ส่วนตัวสนใจ ชอบการผจญภัย ชอบอะไรแปลกใหม่ ชอบความท้าทาย มีการทดสอบวิ่ง 100 กิโลเมตร ปีนผา เล่นไอซ์สเก็ต ชอบมาก วันนี้ลากยาง 51 กิโลกรัมใน 24 ชั่วโมง ทางชันมากทั้งขึ้นและลง บางช่วงก็หนืดมาก บางช่วงเป็นทราย ไม่ท้อ ไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก  

 


“การไปปักธงชาติเป็นสิ่งที่ท้าทาย เพราะมีคนจำนวนไม่มากเคยไปปักธงที่ขั้วโลกใต้ ก็เลยอยากไป อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีความสามารถไม่แพ้ชาติอื่น”

 

 

สว่างจิต ให้สัมภาษณ์ช่วงเช้ามืดว่า เดินครบ 2 รอบใหญ่แล้ว และกำลังจะไปต่อรอบเล็ก น่าจะพอดี 8 โมงเช้า ส่วนเพื่อนหลายๆ คนก็ยังลากอยู่ น้อยคนมากที่นอนพัก 

 

กัลยา ศรีนันทวงศ์ ผู้เข้าร่วม TJ’s True South  ให้สัมภาษณ์ช่วงค่ำหลังเดินลากยาง 12 ชม.ว่า ลากยางหนัก 51 กก.ครึ่ง แล้วก็มีพวกอาหารน้ำอีก หนักกว่าที่คิดไว้เยอะเลย เหนื่อยมาก แต่ยังสู้

 


เธอให้สัมภาษณ์ช่วงเช้ามืดซึ่งลากยางมาเกือบ 24 ชม.ว่า เดินเป็นรอบที่ 2 รู้สึกเหนื่อย หมดแรง น่าจะต้องซ้อมเยอะกว่านี้ เป้าหมายปักธงชาติที่ขั้วโลกใต้ยังอยู่ 

 

อรรถวุฒิ เลิศสาครศิริ ผู้เข้าร่วม TJ’s True South  พูดติดตลกระหว่างนั่งพักกับเพื่อนกลุ่มใหญ่ในช่วงกลางคืนว่า รู้สึกว่าแค่นี้ยังน้อยไป (หัวเราะ) จะฆ่ากันหรือไง , เดินกลางคืนดีกว่าเยอะ กลางวันนั่งเฉยๆ โดนแดด หัวใจก็เต้นแรงแล้ว เดินกลางวันกินน้ำเยอะ เท้าบวมน้ำ พอเท้าบวมน้ำรองเท้าจะแน่นไปหมด พอกลางคืนกินน้ำน้อยลง ชัดเจนว่าใช้น้ำน้อยลง

 

 


“แต่เมื่อได้ไปด้วยกันตอนกลางคืน  ก็ดีอย่าง บางทีจังหวะถอดใจ ก็ปลุกใจกันขึ้นมา คือช่วยคุยกัน ช่วยกันพากันไป ไม่งั้นถ้าลากคนเดียวมีโอกาสท้อได้ง่าย แต่เมื่อไปกับเพื่อนก็เห็นว่าเพื่อนยังไหว ก็พอไปได้เรื่อยๆ” อรรถวุฒิกล่าว

 

 

ขณะที่เพื่อนร่วมทาง กล่าวเสริมว่า กลางคืนมีปัญหาอย่างเดียวคือสู้กับความง่วงนอน ,สนามกอล์ฟโหดมาก เป็นเนินขึ้นลง และถนนมีแรงต้านกับหน้ายางเพราะถนนมีลายขวาง ปัญหาการเดินกลางคืนคือ มีอาการเหนื่อยล้า 12 ชั่วโมง ง่วงนอน 

 

 

อรรถวุฒิ พูดติดตลกอีกว่า เดินเกาะกลุ่มเพราะแรงพอๆ กัน คือช้าพอๆ กัน (หัวเราะ) 

 

 

วาทิน เฉลิมดำริชัย ผู้เข้าร่วม TJ’s True South  ให้สัมภาษณ์ช่วงเช้ามืดหลังเดินเกือบครบ 24 ชั่วโมงว่า การฝึกก็ต้องโหด เพราะที่ที่เราจะไปไม่ใช่ที่ธรรมดา เพราะฉะนั้น การฝึกก็ควรจะไม่ธรรมดา เพื่อที่จะได้คัดคนได้ ไม่อย่างงั้น ก็จะแยกคนไม่ได้ว่าใครพร้อมใครไม่พร้อม

 

 

"สำหรับการปักธงชาติที่ขั้วโลกใต้ เป็นอะไรที่น่าสนใจ เพราะว่า ประเทศกำลังพัฒนา ยังไม่เคยมีใครไปเลย ถ้าได้ไป ก็คงจะเป็นประสบการณ์ที่ดี สำหรับคนทั้ง 10 คนที่ได้ไป และน่าจะทำชื่อเสียงให้ประเทศไทยได้ เพราะเราจะมีการสำรวจด้วย ปกติการสำรวจจะเป็นเรื่องของประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่ เห็นว่าจะไปปีนเขาต่อหลังจากเดิน 1 พันกว่า กม. ไปปักธงแล้ว ก็ดูท้าทาย"วาทินกล่าว 

 

 

อภิชาติ นิ่มสาย ผู้เข้าร่วม TJ’s True South  ให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินลากยางเกือบครบ 24 ชั่วโมงในช่วงเช้ามืดว่า เหนื่อย ง่วง ตะกี้อาเจียน หมดแรง นอนพักครึ่งชั่วโมงเพราะอาเจียน ร่างกายมันต่อต้านก็เลยพักสักครึ่งชั่วโมง ก็ออกมาลากใหม่ 

 

 

ภาณุวัฒน์ เปรมธนารักษ์ ผู้เข้าร่วม TJ’s True South  ให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินลากยางเกือบครบ 24 ชั่วโมงในช่วงเช้ามืดว่า ไม่ได้นอนพัก แต่พักแบบนั่งพัก เพราะกลัวหลับแล้วยาว ตอนนี้กำลังจะเข้ารอบ 3 คาดว่าจะเดิน 3 รอบ สำหรับการเดินทั้งคืน มีทรายเข้าไปในล้อยาง ต้องวิดออก หนักเป็นกิโลกรัม 

 

 

ส่วนการไปปักธงไทยที่ขั้วโลก ตอนนี้ยังอยู่ในรอบคัดเลือก ไม่มั่นใจว่าจะผ่านหรือเปล่า เพราะคัดจริงๆ จะเหลือประมาณ 10 คน แต่ก็เต็มที่ อย่างน้อยก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ให้กับชาติไทย เป็นโครงการที่ดี โครงการนี้ไทม์ไลน์ ค่อนข้างยาว ไปขั้วโลกจริงปลายปี 62 เริ่มคัดตั้งแต่ปลายปี 59 จากประมาณ 200 คน ตอนนี้เหลือ 30 คน 

 

 

ทีมข่าว Voice TV พบกับ ภาณุวัฒน์อีกครั้งในช่วงเช้าระหว่างนั่งพักจุดที่กำลังจะถึงสเตเดียมใกล้ครบรอบ 3 เขาบอกว่า เดินจนเท้าขวาแตก แสบมาก ใส่รองเท้าพื้นบางมาซึ่งไม่เหมาะเป็นพื้นปูน กลางวันร้อนด้วย  

 

 

สัญญา มโนลีหกุล คอลัมน์นิสต์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมการฝึกของ TJ’s True South  บอกว่าเป็นฟรีแลนซ์ คอลัมน์นิสต์และกรรมการตัดสินรถแข่งดริฟท์ มาร่วมโครงการเพราะชอบความแปลกใหม่ ชอบความกล้าของคุณเอก(ธนาธร)ที่คิดโครงการนี้ขึ้นมา และคิดว่าตายกี่ชาติกว่าจะเจอโครงการแบบนี้มันไม่มีใครทำหรอก ส่วนตัววันนี้ลากยาง 53 กก. โคตรหนักเลย หนักมาก ยิ่งกลางแดด หนักมาก ขึ้นเนินก็เท่ากับคูณสอง แต่เหนื่อยก็พักนานหน่อย

 

มองความหมายการไปปักธงชาติที่ขั้วโลก แสดงถึงความเป็นที่สุดของนักเดินทาง คนอื่นไปภูเขา ไปวิ่งทางไกล แต่การจะไปแนวนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย เพราะคนไทยส่วนใหญ่จะไปปีนเขาไม่เคยมีใครไปแคมป์ในหิมะขนาดนี้ 

ความหมายของการปักธง แสดงถึงความพร้อมของนักเดินทางไทย ประเทศเราอยู่ตรงนี้ เราไม่ดังอะไรในหมู่ยุโรป แต่เราไปถึงตรงนั้นได้เป็นประเทศที่ 19 นั่นก็สื่อได้หลายอย่างแล้ว 

หลังฝึกครบ 24 ชั่วโมง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ก่อตั้ง TJ’s True South ให้สัมภาษณ์ Voice TV ว่า ทุกคนที่เข้าร่วมโครงการมีความสุดยอดมาก ทุกคนพยายามถึงที่สุดให้ได้ระยะทางมากที่สุด บางคนเท้าพุพอง บางคนอาเจียน ดังนั้น ภายใน 24 ชั่วโมงนี้มีเรื่องราวให้เล่าเยอะมาก 

“ผมคิดว่าเป็นความทรงจำของทุกคนและเป็นพลัง แสดงให้เห็นว่า พวกเราทุกคนมีพลัง ถ้าเรามุ่งมั่นผลักดันตัวเราเองเราก็จะ ได้รับรู้ถึงศักยภาพตัวเราเอง เราเดินทางจริงในเดือน พ.ย.ปี 2561 เหลือการฝึกในเมืองไทยอีก 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 คือ ฝึกสกีทางลง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Ski365 (สกี สาม หก ห้า) ที่ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ซึ่งให้บริการสถานที่ โดย Ski365 นี้ เป็นการจำลองการเล่นสกีจริงภายในตัวอาคาร ให้โอกาสผู้เข้าร่วมรายการ  True South เข้าไปใช้สถานที่โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ก็ต้องขอขอบคุณ Ski365 ด้วย

และอีกรายการคือวิ่ง 300 กม. ภายใน 88 ชั่วโมง โดยไม่มีการสนับสนุนจากภายนอกและนำทางด้วยตัวเอง ซึ่งรายการนี้จะจัดในเดือน ก.ย. หลังเราจบ 3 รายการนี้ ก็จะเอาคะแนนของผู้เข้าแข่งขันทุกคนจาก 3 รายการ มารวมกัน เพื่อที่จะคัดจาก 30 คนในรอบนี้ให้เหลือ 15 คนในรอบหน้า โดยรอบหน้าก็จะเป็นการฝึกในญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีความหนาวเย็น เราจะไปฝึกการใช้ชีวิตท่ามกลางความหนาวเย็น ในเดือน ธ.ค.ปีนี้ สำหรับผู้ที่เข้ารอบ 15 คนในระยะต่อไป” ธนาธรกล่าว  
 

 

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog