ไม่พบผลการค้นหา
คุยกับ Rap is Now ผู้จัด Rap Battle ที่มีคนติดตามหลักล้าน และความคิดเบื้องหลังว่าด้วย ความเคารพ ความรับผิดชอบ และการมีส่วนร่วม

คุยกับ Rap is Now ผู้จัด Rap Battle ที่มีคนติดตามหลักล้าน และความคิดเบื้องหลังว่าด้วย ความเคารพ ความรับผิดชอบ และการมีส่วนร่วม

Rap is Now คือกลุ่มคนที่จัดกิจกรรมการแข่งขัน Rap Battle พวกเขาเริ่มต้นจากการจัดปาร์ตี้ฮิปฮอปในปี 2009 และขยับตัวเองมาเป็นผู้จัดการแข่งขันในปี 2012 ในพื้นที่ออนไลน์เป็นหลัก และเริ่มขยับเข้าสู่การแข่งขันบนสถานที่จริง ในปี 2015 ในชื่อ Rap is Now: The War is On โดยมีการจัดการ บันทึกภาพและเนื้อหาที่หวือหวาเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์ และทำให้มีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นจากหลักหมื่นถึงหลักล้านในเวลา 3 ปี

ในช่วงเวลาที่พวกเขากำลังยุ่งวุ่นวายในการตระเตรียมความพร้อมจะจัดงานแข่งขันนัดชิงของการแข่งขันในปีนี้ ที่จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคมนี้ (2017) ทีมข่าวออนไลน์ Voice TV ได้รับโอกาสในการพูดคุยกับ โจ้ ศวิชญ์ สุวรรณกุล หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Rap is Now และ ต้าร์ สักกพิช มากคุณ Creative Producer   เราได้คุยเกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ ของพวกเขา และพบว่าพวกเขามีความคิดและเรื่องราวเบื้องหลังที่น่าสนใจในหลาย ๆ ประเด็น

ความสนุกที่มีเป้าหมาย

โจ้ ได้เล่าให้เราฟังว่า Rap is Now เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2009 ในฐานะงานปาร์ตี้ฮิปฮอปที่มีผู้เข้าร่วมเพียงไม่กี่ร้อยคน การตัดสินใจจัดงานปาร์ตี้ฮิปฮอปขึ้นในเวลานั้นจึงอาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่จะประสบความสำเร็จมากนัก และ โจ้ เองก็มองว่าช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่เพลงฮิปฮอปในไทยได้รับความนิยมลดลงไปแล้ว อย่างไรก็ดีการจัดงานครั้งนั้นขึ้นมีที่มาจากความสนใจและหลงใหลในการแร็พและวัฒนธรรมฮิปฮอปของโจ้ที่มีมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2000 ที่ฮิปฮอปได้รับความนิยมอย่างมากในไทย โจ้ที่ได้ซึมซับบรรยากาศและประสบการณ์ในยุคนั้นได้เล่าถึงความตื่นตัวของวงการฮิปฮอปไทยที่ไม่เพียงแต่มีศิลปินที่เป็นที่รู้จักอย่าง ดาจิม ก้านคอคลับ ไทเทเนี่ยม เป็นแนวหน้า แต่ยังมีชุมชนออนไลน์ของชาวฮิปฮอปเกิดขึ้น และมีกิจกรรม rap battle ที่เกิดขึ้นตามแต่เทคโนโลยีขณะนั้นจะเอื้อให้เกิด เช่น text battle (การเขียนท่อนแร็พมาประชันกันบนเว็บบอร์ด) 

การจัดงานครั้งแรกของ Rap is Now นั้น อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ฮิปฮอปได้รับความนิยมนักในไทย แต่โจ้และทีมงานก็เล็งเห็นว่ายังมีคนที่สนใจฮิปฮอปอย่างพวกเขากระจายอยู่ในสังคม และงานครั้งนั้นแม้จะจัดขึ้นเพื่อความสนุกและความบันเทิง แต่โจ้ก็ได้บอกกับเราว่า เขาอยากทำให้ความนิยมของฮิปฮอปมันกลับมาอีกครั้ง และไม่อยากให้มันลดลงไปอีก พวกเขาจึงพยายามทำทุกอย่างที่ทำได้ ในปัจจุบันนอกจากการจัดกิจกรรม rap battle แล้ว พวกเขายังทำเพลงฮิปฮอปให้กับศิลปินและสื่อต่าง ๆ มีกิจกรรมเพื่อสังคมโดยใช้เครือข่ายชาวฮิปฮอปเป็นกำลังหลัก รวมทั้งยังทำเว็บไซต์ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อบอกเล่าข่าวสารต่าง ๆ ในแวดวงฮิปฮอปไทยและเทศด้วย

เติบโตไปพร้อม ๆ กับเทคโนโลยี

พวกเขาได้เล่าให้เห็นการเติบโตของชุมชนฮิปฮอปในไทยที่พวกเขามีโอกาสได้สัมผัสตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 จนกระทั่งทำให้เกิด Rap is Now ที่มีผู้ติดตามมากมายในปัจจุบัน ว่าสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารโดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ กล่าวคือ ในช่วงทศวรรษที่ 2000 นั้น แม้อินเตอร์เน็ตจะมีผู้ใช้งานในวงกว้างแต่ความเร็วในการส่งข้อมูลระหว่างกันนั้นยังไม่สูงมาก ชุมชนฮิปฮอปจึงเกิดขึ้นในรูปแบบของเว็บบอร์ดที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน หากจะมี rap battle ก็เกิดขึ้นในลักษณะของ text battle ที่เขียนเนื้อเพลงแร็พมาประชันกันไปมา หลังจากนั้นจึงขยับมาสู่ audio battle ที่ใช้การส่งคลิปเสียงมาประชันกันแทน โดยโจ้บอกว่าในช่วงเวลานั้นไม่มีใครได้เห็นหน้าตากันจริง ๆ บางกรณีก็มีเขม่นและไม่พอใจกันบ้าง จนกระทั่งเวลาผ่านไปความเร็วอินเตอร์เน็ตสูงขึ้น และมีโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook ที่ได้รับความนิยม ทำให้มีพื้นที่ในการจัดการแข่งขัน ที่สามารถส่ง Video มาประชันกันและมีผู้ติดตามชมได้ง่ายขึ้น นับเป็นการเปิดหน้าของ rapper หลาย ๆ คนเป็นครั้งแรก

แม้กระทั่งกระแสความนิยมของ Rap is Now เอง โจ้ก็ยังบอกว่า ต้องขอบคุณคุณสมบัติ video autoplay ของ Facebook ที่ทำให้ Rap is Now ได้รับความสนใจในวงกว้างในชั่วข้ามคืน เพราะเมื่อผู้คนปัดจอมาถึงคลิปวิดิโอ rap battle ผู้คนก็ได้รับชม รับฟังบรรยากาศของกิจกรรมทันที และได้รู้จักกับ Rap is Now 

เมื่อเปิดกว้าง จึงต้องรับผิดชอบ

Rap is Now: The War is On เป็นการแข่งขัน rap battle ที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง มีการจัดขึ้นมาแล้ว 3 ฤดูกาล ในเวลาสามปีที่ผ่าน (2015-2017) ถูกบันทึกภาพและเสียงอย่างมีคุณภาพ และเผยแพร่ผ่านช่องทางอย่าง youtube และ facebook การแข่งขันนี้ผู้ชมจะได้เห็นทั้งความสามารถทางภาษา ทักษะในการแสดงออกบนเวทีที่ทั้งดุดัน ทั้งยียวน ด้วยลักษณะของ rap battle ที่มุ่งสร้างความสนุก ความบันเทิงกับผู้ชมนี้ ผู้จัดงานจึงเลือกที่จะเปิดกว้างให้ผู้เข้าแข่งขันได้สร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่โดยเฉพาะเรื่องภาษา

โจ้ ได้แสดงความคิดเห็นถึงคำหยาบที่มักถูกใช้ในการแข่งขันว่า เนื่องจากเราเปิดกว้างให้ rapper ได้เลือกสร้างสรรค์งานของพวกเขาเอง และคำหยาบจริง ๆ แล้วก็เป็นสิ่งที่ใช้กันอยู่ เป็นคำที่เราใช้กับเพื่อน ๆ และคำเหล่านี้จึงกลายเป็นคำที่คุ้นเคย ทำให้เวลาจะสร้างบทแร็พ คำพวกนี้จึงถูกหยิบออกมาใช้เสมอ อย่างไรก็ดีโจ้เน้นว่าเรื่องคำหยาบยังคงเป็นเรื่องของกาละเทศะ ที่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม บริบท และสถานการณ์ในการใช้มัน โจ้ยังให้ข้อมูลอีกว่า ในกรณีของเวที rap battle พวกเขารู้ว่านี่คือการแข่งขัน ถ้อยคำที่รุนแรง ดุดัน หยาบคาย จะจบลงบนเวที เมื่อการประชันบนเวทีจบลง ทุกคนก็ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน

ในขณะที่ ต้าร์ Creative Producer ของ Rap is Now เล่าว่า เขาเล็งเห็นแล้วว่าตอนนี้ Rap is Now ต้องดูแลและรับผิดชอบต่อผู้คนจำนวนหนึ่ง ส่วนหนึ่งคือคนในชุมชนฮิปฮอป ที่กระจายตัวอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ของไทย พวกเขาก็ยังดำเนินกิจกรรมของพวกเขาไปอยู่ อย่างไรก็ดีเมื่อ Rap is Now เป็นที่รู้จักมากแล้วนั้น ก็ต้องทำหน้าที่ในการประสานให้เกิดกิจกรรมหรือความร่วมมือต่าง ๆ ขึ้นระหว่างกลุ่ม เขายังบอกติดตลกว่าว่า Rap is Now ทำหน้าที่เหมือนมูลนิธิ

เมื่อพวกเขารู้ว่าสิ่งที่พวกเขาทำมีผลต่อผู้อื่น และต้องรับผิดชอบต่อสิ่งเหล่านี้ จึงนำมาสู่แคมเปญและแนวความคิดต่าง ๆ ที่พวกเขาได้ใส่ไว้เพื่อสื่อสารและเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ความเคารพ ความพยายาม และการมีส่วนร่วม

สิ่งแรก ๆ ที่ผู้ชมคลิป rap battle ของ Rap is Now จะได้เห็นคือ คำเตือนเกี่ยวกับเรื่องความหยาบคาย โดยมีตัวย่อว่า ค ในลักษณะเช่นเดียวกันกับการแบ่งเรตของรายการโทรทัศน์ โดย โจ้ ได้เล่าว่า เรท ค.ควาย นี้ เขาตั้งใจย่อมันมาจากคำว่า "คิด" คือดูงานของเราแล้วก็ให้คิดไปด้วย อย่างไรก็ดีเขายังบอกติดตลกว่า แต่ด้วยบุคลิกกวน ๆ ของเรา บางทีคนดูก็คิดว่า ค.ควาย นี้อาจจะหมายความถึงคำอื่น

นอกจากการให้เรตและแสดงตัวตนชัดเจนผ่านคำบอก คำเตือนในผลงานของพวกเขา Rap is Now ยังต้องการสื่อสารในประเด็นอื่น ๆ อย่างชัดเจนผ่านแคมเปญต่าง ๆ ที่พวกเขาสร้างขึ้นมาด้วยไม่ว่าจะเป็น Respect หรือ การเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน แคมเปญดังกล่าวนอกจากจะสอดคล้องกับวัฒนธรรมฮิปฮอป และการประชันแร็พที่ดุดันและรุนแรง ซึ่งการเคารพและการให้เกียรติซึ่งกันและกันเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งแล้ว แคมเปญ Respect ยังเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ทำให้เขาดังเพียงชั่วข้ามคืนอย่างการถูกนำคลิปไปตัดต่อและเผยแพร่ซ้ำ แม้จะเป็นประโยชน์ต่อ Rap is Now แต่พวกเขาก็ยังสื่อสารไปถึงผู้ติดตามว่า เราควรจะเคารพในผลงานของผู้ผลิตเนื้อหา ศิลปิน และผู้อื่นด้วย มากไปกว่านั้น Respect ยังสื่อสารกับชาวฮิปฮอปหลากหลายกลุ่มที่มีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับสิ่งที่ Rap is Now ทำ ว่าเราต่างควรเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน และเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วเราก็สามารถสนุกไปด้วยกันได้

อีกหนึ่งความคิดคือเรื่อง "ความพยายาม" และกลายมาเป็นแคมเปญชื่อ Zero to Hero ในการแข่งขันซีซันที่ 3 ของพวกเขา โดยพวกเขาได้เรียนรู้จากเรื่องราวชีวิตของผู้เข้าแข่งขันในซีซันก่อน ๆ และพบว่า ผู้เข้าแข่งขันจำนวนมากหลายคนไม่ได้มีชีวิตที่สวยหรู หลายคนก็เป็นคนธรรมดาและดูห่างไกลกับการจะเป็นศิลปินแร็พ ทว่าพวกเขาแต่ละคนต้องจัดสรรชีวิตและเวลา เพื่อฝึกฝน เรียนรู้ และพยายามอย่างหนักเพื่อจะเข้ามาสู่เวที rap battle และก้าวเข้าสู่รอบที่ลึกขึ้นเรื่อย ๆ ในการแข่งขัน พวกเขาบอกว่าเรื่องความพยายาม และการตามฝันเช่นนี้ ไม่ได้ต้องการจะบอกว่าทุกคนต้องเป็น rapper แต่ทุกคนจะได้เห็นว่าไม่ว่าจะต้องการเป็นอะไร เราทุกคนสามารถพยายามอย่างหนักเพื่อมันได้

และสุดท้ายกับวลีเด็ดที่ถูกนำไปใช้ต่อในหลาย ๆ ที่อย่าง "Run วงการ" ที่พวกเขาได้เล่าว่า หากอยากให้วงการของคุณมันเดินต่อไปข้างหน้าได้ ทุกคนก็ต้องช่วยกันผลักดันมันโดยลงมือทำ และแม้ว่าการเริ่มต้นใช้วลีนี้จะเริ่มต้นพูดโดยหมายถึงวงการฮิปฮอป แต่พวกเขาก็ได้บอกกับเราว่าสิ่งนี้ควรใช้กับทุกวงการ

หากใครสนใจจะลองเปิดหูเปิดตาให้กับปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับวงการฮิปฮอปไทยก็สามารถเข้าไปรับรู้ประสบการณ์ได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของ Rap is Now ได้ทั้ง Facebook , Youtube และ Website

_________________________________

ขอบคุณภาพจาก Rap is Now

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog