ไม่พบผลการค้นหา
สถิติผู้ต้องขังหญิงในประเทศไทยมีจำนวนมากติดอันดับ 4 ของโลก และเป็นสถิติที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมแนวทางบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขังหญิงเพื่อเพิ่มโอกาสในชีวิตหลังพ้นโทษ และลดจำนวนผู้ต้องขังที่จะกระทำผิดซ้ำในอนาคต

สถิติผู้ต้องขังหญิงในประเทศไทยมีจำนวนมากติดอันดับ 4 ของโลก และเป็นสถิติที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมแนวทางบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขังหญิงเพื่อเพิ่มโอกาสในชีวิตหลังพ้นโทษ และลดจำนวนผู้ต้องขังที่จะกระทำผิดซ้ำในอนาคต

จากการสำรวจข้อมูลของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือทีไอเจ พบว่าผู้ต้องขังหญิงในประเทศไทยมีจำนวนมากถึง 38,678 คนในปีนี้ โดยเป็นสถิติที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ต้องขังหญิงกว่า 26,000 เมื่อปี 2551 ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้ต้องขังหญิงมากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐฯ จีน และรัสเซีย แต่ถ้าเทียบสัดส่วนผู้ต้องขังหญิงกับจำนวนประชากร 100,000 คน จะถือว่าไทยเป็นประเทศที่มีผู้ต้องขังหญิงมากที่สุดของโลก

ผู้ต้องขังหญิงประมาณร้อยละ 80 ในเรือนจำทั่วประเทศไทยถูกลงโทษจากคดีเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือการค้าประเวณี ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเหยื่อที่ถูกบังคับล่อลวง แต่คดีเหล่านี้มีบทลงโทษที่รุนแรงแทบไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่กระทำผิดเล็กน้อยหรือผู้ที่กระทำผิดโดยเจตนา ทำให้จำนวนผู้ต้องขังหญิงเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาไม่ถึงสิบปี

นายนัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และที่ปรึกษาของสถาบันทีไอเจ ระบุว่าจำนวนผู้ต้องขังหญิงที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มีปัญหาอื่นๆ ตามมา ทั้งปัญหาเรือนจำแออัด เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ต้องขัง ทำให้บางครั้งเกิดปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากเรือนจำไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับผู้ต้องขังหญิง และการฟื้นฟูให้ผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคมได้อย่างราบรื่นหลังพ้นโทษ จำเป็นจะต้องมีการเตรียมความพร้อม เช่น การพัฒนาทักษะทางอาชีพหรือการศึกษา เพื่อให้ผู้ต้องขังมีศักยภาพในการประกอบอาชีพหรือพึ่งพาตัวเองได้ในอนาคต ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยลดการกระทำผิดซ้ำในอนาคตได้ด้วย

นายนัทธีระบุว่าแนวคิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) ซึ่งพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยผลักดันจนได้รับการรับรองจากสหประชาชาติให้เป็นข้อกำหนดว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ ซึ่งอาจจะมีผู้มองว่าเป็นแนวคิดตะวันตก ขัดแย้งกับแนวคิดในสังคมไทยที่มองว่าผู้กระทำผิดต้องถูกลงโทษ แต่นายนัทธียืนยันว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิทธิพิเศษสำหรับผู้ต้องขัง แต่เป็นการปฏิบัติต่อกันโดยคำนึงถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องทำในฐานะผู้ผลักดันข้อกำหนดกรุงเทพในเวทีโลก

ในช่วงปีที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์และสถาบันทีไอเจ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันส่งเสริมโครงการเรือนจำต้นแบบในหลายจังหวัด ซึ่งรวมถึงเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเน้นการบำบัดฟื้นฟูและส่งเสริมศักยภาพผู้ต้องขัง มีการดูแลสุขภาพกายและจิตใจของทั้งผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในทุกภาคส่วน และในอนาคตอาจมีการหารือกันด้านการส่งเสริมอาชีพแก่ผู้ที่พ้นโทษ และในกรณีของผู้ที่ไม่ได้กระทำผิดร้ายแรง อาจพิจารณาใช้มาตรการคุมประพฤติแทนการลงโทษจำคุก

ด้านนายณัฐนรินทร์ เนียมประดิษฐ์ นายกสมาคมการค้าส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นผู้อบรมแนวคิดผู้ประกอบการให้แก่ผู้ต้องขังหญิง เสนอว่าเครือข่ายธุรกิจเอสเอ็มอีอาจจะจัดทำข้อตกลงเอ็มโอยูร่วมกับกรมราชทัณฑ์เพื่อหางานรองรับแก่ผู้ที่พ้นโทษในอนาคต โดยจะต้องกำหนดเงื่อนไขในการติดตามผลร่วมกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการควบคุมประพฤติ และในขณะเดียวกัน สังคมไทยก็อาจจะต้องปรับทัศนคติเรื่องการให้โอกาสแก่ผู้พ้นโทษด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog