ในขณะที่ทางการไทยระบุว่ายังไม่ทราบที่อยู่ของบอส วรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทกระทิงแดง ผู้ต้องหาในคดีขับรถชนคนตาย แต่สำนักข่าวต่างประเทศเปิดเผยว่า ที่พักในกรุงลอนดอนของอังกฤษซึ่งมีผู้พบเห็นนายวรยุทธเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนเมษายน เกี่ยวพันกับบริษัทในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ซึ่งอาจเข้าข่ายบริษัทเลี่ยงภาษี
สำนักข่าวเอพีรายงานว่าอาคารที่พักอาศัยในกรุงลอนดอนซึ่งผู้สื่อข่าวเอพีพบกับนายบอส วรยุทธ ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา เป็นที่อยู่เดียวกับที่นายเฉลิม อยู่วิทยา บิดาของนายวรยุทธ จดทะเบียนไว้ในฐานะที่อยู่ของบริษัท 'ไทย ไวน์เนอรี่ ลิมิเต็ด' ในอังกฤษ เมื่อปี 2002 (พ.ศ. 2545) และนางดารณี มารดาของนายบอส เคยใช้ที่อยู่ดังกล่าวเปิดธุรกิจอาหารในอังกฤษเมื่อปี 2006 (พ.ศ. 2549) แต่เจ้าของตึกดังกล่าวคือบริษัท คาร์นฟอร์ธ อินเวสเมนท์ ลิมิเต็ด ซึ่งจดทะเบียนในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน
เอพีรายงานว่าบริษัทคาร์นฟอร์ธฯ ยังเกี่ยวพันกับบริษัทนอมินีอีก 3 แห่ง ซึ่งจดทะเบียนในหมู่เกาะบริติชเวอร์จินเช่นกัน โดยหนึ่งในนั้นคือบริษัทเจอร์ราด คัมพานี ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของบริษัทกระทิงแดง หรือ 'เรดบูล จีเอ็มบีเอช' ในประเทศออสเตรีย และ เรดบูล จีเอ็มบีเอช เป็นผู้ส่งออกเครื่องดื่มเรดบูลไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยตระกูลวิทยาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ร้อยละ 49 และผู้ถือหุ้นอีกรายหนึ่งคือ นายดีทริช มาเตชิตส์ ชาวออสเตรีย ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเรดบูล จีเอ็มบีเอช ร่วมกับนายเฉลียว อยู่วิทยา บิดาของนายนายเฉลิมและปู่ของนายบอส วรยุทธ
นอกจากนี้ บริษัทคาร์นฟอร์ธฯ และบริษัทเจอร์ราดฯ ยังมีชื่ออยู่ในเอกสารลับปานามา หรือ 'ปานามา เปเปอร์ส' ซึ่งเป็นข้อมูลลับที่องค์กรสื่อระหว่างประเทศด้านการสืบสวนสอบสวน (ICIJ) ได้มาจากบริษัทมอสแซก ฟอนเซกา ที่ปรึกษาด้านกฎหมายในประเทศปานามา ซึ่งเกี่ยวพันกับการฟอกเงินและเลี่ยงภาษีให้แก่นักธุรกิจ นักการเมือง และกลุ่มทุนต่างๆ กว่า 400 รายชื่อใน 70 ประเทศทั่วโลก และเจ้าของบริษัทมอสแซก ฟอนเซกา เพิ่งถูกตั้งข้อหาฟอกเงินไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
เอพีรายงานว่าความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทนอมินีและตระกูลอยู่วิทยาอาจดูเป็นเรื่องซับซ้อน แต่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในแวดวงธุรกิจทั่วโลกซึ่งใช้วิธีก่อตั้งบริษัทตัวแทนหรือนอมินีในต่างประเทศ เพื่อจัดการโอนย้ายสินทรัพย์ในการทำธุรกิจ ซึ่งไม่ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ก็มีบุคคลและนิติบุคคลจำนวนมากใช้วิธีดังกล่าวเพื่อปกปิดบัญชีทรัพย์สินที่แท้จริง รวมถึงหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีในประเทศที่เป็นภูมิลำเนา
เมื่อปีที่แล้ว สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เปิดเผยว่าคนไทย 21 คนมีชื่ออยู่ในเอกสารลับปานามา และทาง ปปง.ได้ติดต่อเพื่อขอข้อมูลกับองค์กรสื่อระหว่างประเทศฯ แต่ ปปง.ระบุว่าจะไม่มีการอายัดทรัพย์สินใดๆ และจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ถูกระบุชื่อในเอกสารลับปานามาเข้าให้ปากคำต่อเจ้าหน้าที่ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการเปิดเผยความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมจาก ปปง. แต่อย่างใด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: