ไม่พบผลการค้นหา
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน เผยกับวอยซ์ทีวีออนไลน์ผู้ต้องหา 203 คน ศาลยกฟ้อง 1 คน อีก 1 คนติดต่อไม่ได้

7 ส.ค. 2559 คือวันลงประชามติรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรดแมปคืนสู่ประชาธิปไตยและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

ในระหว่างการรณรงค์รับ-ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญที่จะเป็นหมุดสำหรับการเดินตามโรดแมปหวนคืนสู่ประชาธิปไตยของไทยก็อยู่ภายใต้บรรยากาศและการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด มีผู้ถูกจับกุม ดำเนินคดีกว่า 200 คน คดีเหล่านี้ เกือบทั้งหมดยังคงอยู่ในสารบบ

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน เผยกับวอยซ์ทีวีออนไลน์ ว่า ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมและตั้งข้อหาเกี่ยวเนื่องกับการทำประชามติรัฐธรรมนูญนั้นมีจำนวนทั้งสิ้น 203 คน และในจำนวนนี้ ไอลอว์ ไม่สามารถติดต่อได้ 1 ราย ผู้ต้องหาเป็นผู้หญิงรายหนึ่งที่จ. นครราชสีมา 

สำหรับคดีทั้งหมด ประกอบไปด้วย ผู้ถูกดำเนินคดีฐานขัดพ.ร.บ.ประชามติฯ จำนวน 64 ราย ผู้ถูกดำเนินคดีฐานขัดคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่3/2558 และความผิดตามกฎหมายอื่น จำนวน 131 ราย 

ผ่านไป 1 ปี คดีทั้งหมดยังคงค้างดำเนินต่อเนื่องตามกระบวนการยุติธรรม มี 1 คดีที่พิจารณาเสร็จสิ้นและยกฟ้อง คือคดี นายสามารถ ขวัญชัย จ. เชียงใหม่ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความดำเนินคดี ในข้อหาตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61(1) และวรรค 2 จากกรณีการนำใบปลิวที่มีข้อความว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค. Vote No” พร้อมรูปสัญลักษณ์ชูสามนิ้วไปเสียบบริเวณที่ปัดน้ำฝนหน้ารถราว 10 คัน ในลานจอดรถของห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ในช่วงก่อนหน้าการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 

ศาลชี้ว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61(1) และ วรรค 2 ต้องมีองค์ประกอบด้วยกัน 4 ประการ คือ 1. เป็นการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย 2. มีการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด 3. มีลักษณะที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ และ 4. จะต้องมีเจตนาพิเศษ คือเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง การกระทำจะเป็นความผิดได้ ต้องเข้าองค์ประกอบความผิดทั้งสี่ประการ

ศาลยกฟ้องโดยพิเคราะห์ว่า ศาลวินิจฉัยว่าเมื่อพิจารณาข้อความจากใบปลิวที่ว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”แล้ว ตามพจนานุกรม คำว่า “เผด็จการ” หมายถึงการใช้อำนาจบริหารการปกครองประเทศอย่างเด็ดขาด และคำว่า “พินาศ” หมายถึง ทำให้หมดสิ้นไป สูญสลายไป เมื่อนำมารวมกันแล้ว มีลักษณะเป็นความหมายเชิงนามธรรมทั่วๆ ไป ไม่ได้มีความหมายถึงร่างรัฐธรรมนูญ และแม้จะตีความหมายว่าถ้อยคำดังกล่าวหมายถึงรัฐบาลที่บริหารประเทศในขณะนั้นได้ แต่ก็ไม่อาจตีความให้เกี่ยวข้องไปถึงการออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญได้ เพราะรัฐบาลไม่ใช่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ  ประกอบกับผู้มีสิทธิที่จะไปลงประชามตินั้นมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ ย่อมมีวุฒิภาวะพอที่จะตัดสินใจเองได้ ไม่จำเป็นต้องเกิดความเห็นคล้อยตาม ข้อความในใบปลิวจึงไม่อาจจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือไปใช้สิทธิออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง คำว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ยังเป็นคำที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และใช้กันทั่วไปในหมู่ผู้รักประชาธิปไตย ก่อนที่จำเลยจะนำมาใช้ในใบปลิว 

นักกิจกรรม/นักศึกษา แจกใบปลิว-ถูกจับ 
นอกเหนือจากนายสามารถแล้ว ไอลอว์มีข้อมูลว่าบุคคลอื่นๆ ที่กำลังต่อสู้คดี แม้จะเข้าถึงทนายตามสิทธิของผู้ต้องหาทั้งหลาย แต่บางคนก็ยอมยกธง เข้ารับการการปรับทัศนคติ หลายคนกำลังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดี หลายคนกำลังรอคำสั่งฟ้องอย่างใจจดใจจ่อ

คดีเด่นๆ นอกเหนือจากกรณีของนายสามารถ ก็ได้แก่ คดีของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งนักกิจกรรมหลายคนขณะนั้นยังเป็นนักศึกษา ถูกควบคุมตัวและแจ้งข้อหา ฐานขัดคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่3/2558 ผู้ต้องหาประกอบด้วย นายรังสิมันต์ โรม นันทพงศ์ ปารมาศ นายกรกช แสงเย็นพันธ์ นายวรวุฒิ บุตรมาตร น.ส. กรชนก ชนะคูณ เป็นต้น รวมถึงนักสหภาพแรงงาน และผู้สังเกตการณ์ก็ถูกแจ้งข้อหาไปด้วย  ขณะที่กลุ่มคนดังกล่าวกำลังแจกใบปลิวข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนจะต้องไปลงประชามติ โดยถูกควบคุมตัวที่ สน. บางเสาธง ก่อนนำมาฝากขังที่ศาลทหารและได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เหตุเกิดวันที่ 23 มิ.ย. 2559 

ทำข่าว ก็ถูกจับ 
อีกคดีที่ฮือฮาไม่แพ้กันก็คือกรณีที่ นายทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวของเว็บไซต์ประชาไท ซึ่งติดรถนักกิจกรรมไปทำข่าวประชาชนที่จ. ราชบุรี ถูกจับเนื่องจากแจกใบปลิวรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 

นายทวีศักดิ์ ซึ่งอาศัยรถของนายปกรณ์ อารีกุล ไปด้วย ถูกควบคุมตัวพร้อมนายปกรณ์และนักกิจกรรมอีก 2 คน และมีการจับกุมนักศึกษานักกิจกรรมมาเพิ่มเติมในภายหลัง รวมเป็น 5 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจชี้ว่าทั้งหมดมีพฤติการณ์ “น่าเชื่อว่าจะมาทำการแจกเอกสารบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ 2559” โดยถูกแจ้งข้อหา ขัดพ.ร.บ.ประชามติฯมาตรา 61 วรรค 2 และคำสั่งคสช.ที่3/2558  ทั้งหมดได้รับการประกันตัว โดยวางเงินประกันตัวคนละ 140,000 บาท  

จดหมายสนเท่ห์ วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุจับกุมคุมขังนักการเมืองดังพร้อมพวก 10 ราย 
คดีใหญ่อีกคดีก็คือ กรณีการตรวจพบจดหมายสนเท่ห์ ไม่ลงชื่อผู้ส่งจำนวนกว่า 10,000 ฉบับ ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำปางและลำพูน  โดยเนื้อหาจดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญโดยแยกวิจารณ์หมวดสำคัญๆ เช่น สิทธิเสรีภาพ และสวัสดิการ 

ต่อมามีการควบคุมตัวนักการเมืองชื่อดังของจ.เชียงใหม่ ได้แก่ 1) นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกอบจ.เชียงใหม่  2) น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ รองนายกอบจ.เชียงใหม่ และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย  3) น.ส.ธารทิพย์ บูรณุปกรณ์ อาชีพทันตแพทย์ และน้องสาวของน.ส.ทัศนีย์  4) นายไพรัช ใหม่ชมภู รองนายกอบจ.เชียงใหม่ 5) นายคเชน เจียกขจร นายกเทศมนตรีตำบลช้างเผือก 6) นายอติพงษ์ คำมูล ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่เทศกิจเทศบาลตำบลช้างเผือก 7) นางกอบกาญจน์ สุชีตา พนักงาน บริษัทเชียงใหม่ทัศนาภรณ์  8) นางสุภาวดี งามเมือง กรรมการ บริษัท เชียงใหม่ทัศนาภรณ์  9) น.ส.เอมอร ดับโศรก ผู้ช่วยนักวิชาการส่งเสริมสุขภาพเทศบาลตำบลช้างเผือก  10) นายกฤตกร โพธยา ผู้ช่วยบุคลากรเทศบาลตำบลช้างเผือก

ทั้งหมดถูกควบคุมตัวมายังมณฑลทหารบกที่ 11 กรุงเทพฯ เป็นเวลา 7 วัน โดยเจ้าหน้าที่ทหารอ้างคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ก่อนจะถูกนำตัวมาสอบสวนตามอำนาจของพนักงานสอบสวนที่กองบัญชาการตำรวจภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ จนครบ 48 ชั่วโมง 

ทั้งหมดถูกแจ้งข้อหา ขัดพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และมาตรา210 และไม่ได้รับการประกันตัว 

ผ่านมาแล้ว 1 ปี รัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงพระปรมาภิไธยแล้ว เมื่อวันที่ 6 เม.ย. ที่ผ่านมา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังดำเนินการร่างกฎหมายประกอบรธน. ในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และเชื่อกันว่าประเทศไทยน่าจะมีการเลือกตั้งได้อย่างเร็วที่สุดราวปลายปีพ.ศ. 2561 

สำหรับบุคคลกว่า 200 คนที่บางส่วนอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน บางส่วนถูกสั่งฟ้องไปแล้วนั้น พวกเขาต้องรอลุ้นชะตากรรมของตัวเอง ตามแต่ข้อหาที่ถูกตั้งและความผิดดังนี้ 

ขัดพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 5 ปีด้วยก็ได้ 

ขัดพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 59 ทําลายบัตรที่มีไว้สําหรับการออกเสียง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

ละเมิดประมวลกฎหมายอาญา ม. 116 หรือข้อหายุยงปลุกปั่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี 

ละเมิดประมวลกฎหมายอาญาม. 210 หรือข้อหาซ่องโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 โดยมั่วสุม ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ 

อ่านเพิ่มเติมที่ 
ประชามติจบแล้ว แต่คดีประชามติยังไม่จบ!
ตารางผู้ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับประชามติ 2559


 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog