ไม่พบผลการค้นหา
หลังจากฮือฮาไปทั่วโลกออนไลน์กับการประมูลรูปถ่ายการกุศลของวงไอดอลกรุปน้องใหม่ BNK48 ที่มีคนประมูลรูป1ใบในราคา 7หมื่นกว่าบาท สะท้อนอะไรในสังคม?

หลังจากฮือฮาไปทั่วโลกออนไลน์กับการประมูลรูปถ่ายการกุศลของวงไอดอลกรุปน้องใหม่ BNK48 ที่มีคนประมูลรูป1ใบในราคา 7หมื่นกว่าบาท สะท้อนอะไรในสังคม?

จากการเดบิวท์ไม่กี่เดือนของ BNK48 วงน้องสาววงล่าสุดจากค่าย 48Group จากประเทศญี่ปุ่นที่มาเปิดในประเทศไทยในคอนเซปต์ "ไอดอลที่คุณสามารถไปพบได้" มีกระแสพูดถึงเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในโลกออนไลน์ กับวงไอดอลกรุปที่มีสมาชิกมากที่สุดในประเทศไทยคือ 30 คนถือว่าแปลกใหม่มากในยุคที่เกือบ 10ปีที่ผ่านมาธุรกิจบันเทิงจากเกาหลีใต้

กระแสมีตั้งแต่เรื่องการที่แฟนคลับสามารถ "เปย์"โดยการซื้อของขวัญให้กับศิลปินผ่านแอพฯ VooV ที่มีตั้งแต่หลักพันต้นๆจนเกือบหลักหมื่น  วัฒนธรรมการเชียร์ที่ส่งเสียงดังทั้งการยิงมิกซ์และโบกแท่งไฟอันเป็นเอกลักษณ์ และล่าสุดวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (6ส.ค.) กับการประมูลรูปการกุศลที่รูปใบเดียวพร้อมลายเซ็นของกัปตันทีมอย่าง เฌอปรางค์ อารีย์กุล มูลค่าถึง 77,700 บาท และมูลค่ารวมสมาชิก 6 คนในวงมากกว่า 2 แสนบาท เกิดคำถามว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนอะไรในสังคมไทย?

BNK48 จุดกระแสได้แต่จะไปต่ออย่างไรยังไม่มีความชัดเจน

ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวีได้พูดคุยกับนายณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล แฟนพันธุ์แท้ญี่ปุ่น คอลัมนิสต์ด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่นและผู้ดำเนินรายการท่องเที่ยว Journal Journey ถึงปรากฏการณ์ดังกล่าว ณัฐพงศ์เริ่มจากการเล่าถึงความแตกต่างระหว่างตลาดเพลงในญี่ปุ่นและไทย คือญี่ปุ่นมีตลาดเพลงภายในที่แข็งแรงยอดขายซิงเกิ้ลของ 48Group ต้นแบบของ BNK48 เฉลี่ยที่ 1 ล้านแผ่น แตกต่างจากไทยที่ตลาดแคบมาก อีกทั้งของญี่ปุ่นนั้นขายเพลงพ่วงกับสินค้าอื่นๆของศิลปินเช่น บัตรจับมือ หรือ ใบโหวตคะแนนสำหรับสมาชิกที่แฟนชื่นชอบ

ตลาดบันเทิงในประเทศไทยปัจจุบันมีศิลปินจากเกาหลีใต้เข้ามายึดครองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ณัฐพงศ์ มองว่าเป็นคนละกลุ่มแฟนกันแฟนเพลงเกาหลีส่วนมากจะเป็นผู้หญิง ต่างจากไอดอลกรุปที่ส่วนมากจะเป็นผู้ชาย แต่โจทย์สำคัญกว่าคือ BNK48 จะขยายสู่ตลาดแมสได้อย่างไร และผู้บริหารวางทิศทางของวงไว้อย่างไร เพราะถ้าหากจะต้องการไปสู่แมสจะต้องขายในเรื่องของเพลง ซึ่งยอดสั่งซื้อ 13,500 แผ่นของซิงเกิ้ลแรกถือว่าน้อย ส่วนงานโชว์นั้นก็มีข้อจำกัดด้วยปัจจุบันศิลปินไทยส่วนมากอยู่ได้ด้วยการขายงานโชว์ แต่วงแบบ BNK48 ไม่สามารถเข้าไปเล่นในผับหรือเธคได้เพราะศิลปินอายุไม่ถึงก็ตัดโอกาสสร้างรายได้และความรู้จักในส่วนนี้ไปอีก

ณัฐพงศ์ ตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า BNK48 นั้นดังอาจเป็นเพราะสื่อและกระแสในออนไลน์แต่ถ้าในวงกว้างยังถือว่ารู้จักน้อยมาก ยกตัวอย่าง เช่น การเกิดกรณีประมูลภาพราคา 70,000 บาท หลายคนอาจจะเพิ่งรู้จักวงนี้และสนใจอยากติดตาม แต่กลับพบว่าไม่มีมิวสิควีดีโอที่ให้ชมเพื่อทำความรู้จักได้ทำให้เกิดเป็นธุรกิจได้ยาก หรืออย่างกระแส "การเปย์" หรือการใช้เงินซื้อของขวัญให้ศิลปินผ่านแอพฯ VooV ก็ถือว่าต้องพิสูจน์ในระยะว่าจะมั่นคงและมีคนเปย์ตลอดหรือไม่

ในเชิงธุรกิจณัฐพงศ์ ชี้ว่าต้องยอมรับว่าทางบริษัทในประเทศไทยที่ถือสิทธิ์ BNK48 มีความไม่พร้อมหลายอย่าง เช่น การวางแผนผลิตสื่อต่างๆ หรือกิจกรรมอย่างานจับมือกับศิลปินที่ยังไม่ประกาศสถานที่เพราะต้องดูจำนวนผู้เข้าร่วมแทนที่จะมีการประกาศล่วงหน้า รวมไปถึงค่ายใหญ่ๆเองก็เลิกปั้นกลุ่มศิลปินวัยรุ่นไปนานแล้ว เช่น ค่ายอาร์เอสก็เลิกสร้างกลุ่ม KamiKaze แต่เมื่อเทียบกันกับออนไลน์ที่ผลิตศิลปินใหม่ๆ อย่างลำไย ไหทองคำ หรือ Ur BoyTJ ที่ไม่จำเป็นต้องออกแผ่นอัลบั้มแต่มีงานรับโชว์ตัว ก็ถือว่าทางค่ายของ BNK48 ต้องแบกรับความเสี่ยงเป็นอย่างมากที่จะต้องดูแลศิลปิน 30 ชีวิต และอาจจะไม่สามารถอยู่รอดในทางธุรกิจได้เกิน 2 ปี

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog