“ประกาศเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่ให้ผู้น้อยเลิก หมอบคลาน กราบไหว้ ต่อเจ้านาย และผู้มีบรรดาศักดิ์” เป็นส่วนหนึ่งของราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 1 วันจันทร เดือน 8 แรม ค่ำ 1 ปีจอฉศก 1236 แผนที่ 7 (อักขรวิธี และเว้นวรรคตามต้นฉบับ) ตรงกับปี พ.ศ. 2416 มีข้อความระบุถึงพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ที่มีต่อธรรมเนียมการหมอบคลาน กราบไหว้ เอาไว้อย่างโจ่งแจ้งที่สุดจนไม่รู้ว่าจะโจ่งแจ้งขนาดนี้ได้อย่างไรแล้วว่า
“...ตั้งแต่ได้เสดจเถลิงถวัลยราชสมบัติมา ก็ตั้งพระราชหฤไทย ที่จะทำนุบำรุงพระราชอาณาจักร ให้มีความศุกความเจริญแก่พระบรมวงษานุวงษ แลข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้น้อยทั้งสมณชีพราหมณ์ ประชาราษฎรทั้งปวงทั่วไป การสิ่งไรที่เปนการกดขี่แก่กันให้ได้ความยากลำบากนั้น ทรงพระดำริห์จะไม่ให้มีแก่ชนทั้งหลายในพระราชอาณาจักรต่อไป
ด้วยได้ทรงพระราชดำริห์เหนว่า ในมหาประเทศต่างๆ ซึ่งเปนมหานครอันใหญ่ ในทิศตวันออก ตวันตก ในประเทศอาเซียนี้ ฝ่ายตวันออก คือประเทศจีน ประเทศญวน ประเทศยี่ปุ่น แลฝ่ายตวันตก คืออินเดีย แลประเทศที่ใช้การกดขี่ให้ผู้น้อยหมอบคลานกราบไหว้ต่อเจ้านายแลผู้มีบันดาศักดิ ที่เหมือนกับธรรมเนียมในประเทศสยามนั้น บัดนี้ประเทศเหล่านั้นก็ได้เลิกเปลี่ยนธรรมเนียมนั้นหมดทุกประเทศด้วยกันแล้ว...”
แปลความหมายง่ายๆ จากข้อความข้างต้นได้ว่า รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริถึงการ “หมอบ” “คลาน” “กราบ” และ “ไหว้” ต่อเจ้านายและผู้มีบันดาศักดิ์ว่าเป็นการ “กดขี่กันให้ได้ความยากลำบาก” อย่างชัดเจน
แถมยังทรงระบุไว้ชัดๆ อีกด้วยว่า “ฝ่ายตวันตก คืออินเดีย แลประเทศที่ใช้การกดขี่ให้ผู้น้อยหมอบคลานกราบไหว้ต่อเจ้านายแลผู้มีบันดาศักดิ ที่เหมือนกับธรรมเนียมในประเทศสยาม” ดังนั้น การหมอบคลานกราบไหว้ในที่นี้ พระองค์จึงหมายถึงธรรมเนียมเดิมๆ ที่เคยมีมาก่อนในราชสำนักสยามนั่นแหละนะครับ ไม่ได้ทรงหมายถึงธรรมเนียมอื่นจากที่ไหนเลย
พระปิยมหาราชทรงบอกต่อไปในประกาศฯ ฉบับนี้อีกด้วยว่า
"...การที่เขาได้พร้อมกัน เลิกเปลี่ยนธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้นั้นก็เพราะเพื่อจะได้เหนความดีที่จะไม่มีการกดขี่กันในบ้านเมืองนั้นอีกต่อไป ประเทศใด เมืองใด ที่ได้ยกธรรมเนียม ที่เปนการกดขี่ซึ่งกันและกัน ประเทศนั้นเมืองนั้น ก็เหนว่ามีแต่ความเจริญมาทุกๆ เมืองโดยมาก...”
ข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริไปในทิศทางที่ว่า หากสยามยกเลิกธรรมเนียมการหมอบคลานกราบไหว้ที่มีมาแต่เดิมแล้ว ประเทศก็จะเจริญขึ้น เพราะได้ยกเลิกเอา “การกดขี่ซึ่งกันและกัน” ออกไปจากสังคม
พระองค์ยังทรงย้ำอีกด้วยว่า “การกดขี่ซึ่งกันและกัน” ดังกล่าวนั้นก็มีในประเทศสยาม และทรงเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม แถมสำหรับพระองค์แล้ว การหมอบคลานกราบไหว้ ยังไม่ใช่ธรรมเนียมเดียวที่ไม่ยุติธรรมนะครับ ยังมีธรรมเนียมอื่นๆ อีกด้วย ดังข้อความในประกาศฉบับเดียวกันนี้ที่ว่า
“...ก็ในประเทศสยามนี้ ธรรมเนียมบ้านเมือง ที่เปนการกดขี่แก่กัน อันไม่ต้องด้วยยุติธรรมนั้น ก็ยังมีอยู่อีกหลายอย่าง..."
ทั้งหมดนี้ พระปิยมหาราชก็ทรงใช้พระองค์เองเป็นตัวอย่างให้ประชาชน หรือใครต่อใครอีกบานตะเกียงได้เห็นถึงพระทัยอันแน่วแน่ ด้วยการออกพระราชบัญญัติในราชกิจจานุเบกษาฉบับเดียวกันโดยมีหลักใหญ่ใจความด้วยการระบุให้ “ไม่ต้องหมอบกราบพระองค์”
และเราก็อาจจะสรุปแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 จากข้อความตอนท้ายในประกาศฉบับเดียวกันนี้เอง ซึ่งมีใจความระบุว่า
“แลธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้ในประเทศสยามนี้ เหนว่าเปนการกดขี่แก่กันแขงแรงนัก ผู้น้อยที่ต้องหมอบคลานนั้น ได้ความเหน็ดเหนื่อยลำบาก เพราะจะให้ยศผู้ใหญ่ก็การทำยศ ที่ให้คนหมอบคลานกราบไหว้นี้ ไม่ทรงเหนว่ามีประโยชน์แก่บ้านเมืองแต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ผู้น้อยที่ต้องมากราบไหว้ให้ยศต่อท่านผู้เปนใหญ่นั้น ก็ต้องทนลำบากอยู่ จนสิ้นวาระของตนแล้วจึ่งจะได้ออกมา พ้นท่านผู้���ี่เปนใหญ่ ธรรมเนียมอันนี้แลเหนว่าเปนต้นแห่งการที่เปนการกดขี่แก่กันทั้งปวง เพราะฉนั้นจึ่งต้องละพระราชประเพณีเดิมที่ถือว่าหมอบคลานเปนการเคารพอย่างยิ่งในประเทศสยามนี้เสีย”
ที่สำคัญก็คือ ประกาศฉบับนี้ไม่ใช่ประกาศตามปกติทั่วไปนะครับ แต่เป็นประกาศในพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งที่ 2 ของพระองค์เลยทีเดียว
รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุได้เพียง 15 พรรษา จึงถือได้ว่าทรงเป็นยุวกษัตริย์ และทำให้ต้องมีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้ง เมื่อพระชนมายุครบ 20 พรรษา ซึ่งก็คือคราวที่ได้ทรงประกาศเปลี่ยนธรรมเนียมการหมอบกราบนี้เอง
ดังนั้นหากจะนับว่าประกาศฉบับนี้เป็น “ปฐมบรมราชโองการ” ของพระองค์ก็ไม่ผิดอะไรนัก และถ้าจะเปรียบเทียบให้ง่ายเข้า ประกาศฉบับนี้ก็คือ แนวทางในการปกครองของพระองค์ ซึ่งก็คือ “การไม่กดขี่ซึ่งกันและกัน” ที่เริ่มต้นด้วยการยกเลิกธรรมเนียมการหมอบคลานกราบไหว้
เราอาจจะเห็นแนวทางดังกล่าวได้จากพระราชกรณียกิจในรัชสมัยของพระองค์หลายต่อหลายอย่าง ที่สำคัญอย่างหนึ่งในนั้นก็คือ การเลิกทาส ซึ่งก็แน่นอนว่าเป็นเรื่องของ “การไม่กดขี่ซึ่งกันและกัน” ด้วย
สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนั้น รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้อาลักษณ์อ่านประกาศฉบับนี้ด้วย โดยผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในครั้งนั้นพระองค์หนึ่งคือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดวงศ์ ได้ทรงเล่าถึงเรื่องราวในครั้งนั้นเอาไว้ในหนังสือพระนิพนธ์ประชุมละคอนดึดำบรรพ์เอาไว้ว่า
"…พออาลักษณ์อ่านประกาศจบ เหล่าข้าเฝ้านับแต่กรมพระราชวังบวรฯ เป็นต้น บรรดาที่หมอบอยู่เต็มทั้งท้องพระโรงก็ลุกขึ้นยืนถวายคำนับพร้อมกันดูเหมือนกับ
เปลี่ยนฉากรูปภาพอย่างหนึ่งเป็นอย่างอื่นๆ ไป
ในทันทีอย่างน่าพิศวงอย่างยิ่ง...”
แต่การประกาศตรงนั้นยังไม่เพียงพอจะทราบทั่วถึงไปทั้งพระบรมมหาราชวังนะครับ เพราะบรรดาฝ่ายในซึ่งเป็นผู้หญิงยังไม่ทราบเรื่อง เจ้าฟ้านริศฯ จึงทรงเล่าต่อไว้อีกด้วยว่า
“...เมื่อเสด็จขึ้นข้างในไปประทับที่พระที่นั่งภัทรบิฐที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เจ้านายและข้าราชการผู้หญิงเฝ้า
ก็มีอ่านประกาศและลุกขึ้นยืนเฝ้า...”
จากนั้นเจ้าฟ้านริศฯ ก็ทรงสรุปด้วยว่า
“...ก็เป็นอันเพิกถอนระเบียบการเข้าเฝ้าอย่างเก่าซึ่งเคยใช้มาหลายร้อยปี..."
การลุกขึ้นยืนถวายคำนับแทนการหมอบกราบอาจจะดู “น่าพิศวงอย่างยิ่ง” สำหรับคนเมื่อครั้งกระนู้นอย่างที่เจ้าฟ้านริศฯ ทรงเล่าไว้ แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และก็เป็น “master plan” หรือแนวทางหลักในการการบริหารแผ่นดินของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงตั้งพระทัยมั่นมาตลอดช่วงระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ ไม่ว่าจะเป็นการเลิกไพร่ เลิกทาส หรือพระราชกรณียกิจอื่นๆ อีกมากมายเลยทีเดียวนะครับ
ตั้งนั้นจึงเป็นเรื่องตลกร้ายสิ้นดี ที่จะมีใครพยายามยกยอปอปั้นรัชกาลที่ 5 ด้วยการหมอบกราบ และทำร้ายผู้ที่เลือกจะยืนถวายคำนับพระองค์ เพราะสำหรับพระปิยมหาราชแล้ว การหมอบคลานกราบไหว้นั้นคือ “การกดขี่ซึ่งกันและกัน อันไม่ต้องด้วยยุติธรรม” จนต้องทรงประกาศยกเลิกเสียตั้งแต่ในปฐมบรมราชโองการ