ไม่พบผลการค้นหา
ผู้อพยพชาวเกาหลีเหนือเดินทางผ่านจีนเข้ามายังไทยเพิ่มขึ้นช่วง 6 เดือนแรกของปี 2017 โดยองค์กรปกป้องด้านสิทธิมนุษยชนประเมินว่าผู้อพยพชาวเกาหลีเหนือส่วนใหญ่ ต้องการให้ไทยจับกุมและส่งตัวไปยังเกาหลีใต้

ผู้อพยพชาวเกาหลีเหนือเดินทางผ่านจีนเข้ามายังไทยเพิ่มขึ้นช่วง 6 เดือนแรกของปี 2017 โดยองค์กรปกป้องด้านสิทธิมนุษยชนประเมินว่าผู้อพยพชาวเกาหลีเหนือส่วนใหญ่ ต้องการให้ไทยจับกุมและส่งตัวไปยังเกาหลีใต้

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงแหล่งข่าวในหน่วยงานรัฐบาลไทย ระบุว่าสถิติผู้อพยพชาวเกาหลีเหนือในไทยเมื่อปีที่ผ่านมา มีจำนวนทั้งหมด 535 คน และในช่วงหกเดือนแรกของปี 2017 มีจำนวน 385 คน หรือเฉลี่ยสัปดาห์ละประมาณ 20-30 คน โดยที่ผู้อพยพชาวเกาหลีเหนือส่วนใหญ่อยากให้ทางการไทยจับกุม เพื่อจะได้มีการดำเนินเรื่องส่งตัวไปเกาหลีใต้ ซึ่งมีกฎหมายระบุว่าผู้ที่สืบเชื้อสายเกาหลีถือว่าเป็นพลเมืองของเกาหลีใต้ ทั้งหมด ทำให้ทางการไทยสามารถพิจารณาส่งตัวชาวเกาหลีเหนือไปยังเกาหลีใต้ได้

นาวาเอกชลทัย รัตนเรือง ผู้บัญชาการหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) เขตเชียงราย ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ว่า ผู้อพยพชาวเกาหลีเหนือส่วนใหญ่มักจะลักลอบข้ามแดนไปยังประเทศจีน ก่อนจะผ่านมายังประเทศลาว และเข้าสู่ประเทศไทยทางภาคเหนือ โดยเฉพาะที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำในเชียงราย แต่ก็มีแนวโน้มว่าผู้อพยพเกาหลีเหนือจะลอบเข้าสู่ประเทศไทยโดยใช้เส้นทางเชื่อมต่อบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้น รวมถึงหนองคายและนครพนม

อย่างไรก็ตาม ไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ ทำให้ผู้อพยพชาวเกาหลีเหนือที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยไม่ได้รับความคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัยหรือผู้ยื่นเรื่องขอลี้ภัย แต่มีความผิดในฐานะ 'ผู้ลักลอบเข้าเมือง' ซึ่งถ้าถูกทางการจับได้ ก็จะถูกดำเนินคดีและคุมตัวในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ก่อนจะดำเนินการส่งตัวกลับ

นางสาววิเวียน ตัน โฆษกประจำสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในประเทศไทย เผยว่าผู้อพยพเกาหลีเหนือที่ต้องการลี้ภัย ไม่ได้ยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือจากยูเอ็นเอชซีอาร์ในไทย เพราะผู้อพยพมีช่องทางอื่นที่จะขอความช่วยเหลือให้ได้รับการส่งตัวไปยังประเทศใหม่ ซึ่งนายฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำเอเชีย ระบุว่าไทยสามารถส่งตัวผู้อพยพเกาหลีเหนือไปยังเกาหลีใต้ได้ สืบเนื่องจากเงื่อนไขการรับรองสถานะพลเมืองแก่ผู้ที่มีเชื้อสายเกาหลี อย่างไรก็ตาม สถานเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ในประเทศไทยไม่ได้ยืนยันข้อมูลดังกล่าวกับรอยเตอร์

ส่วนคณะทำงานเพื่อการเปลี่ยนผ่านความยุติธรรม (Transitional Justice Working Group) ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวด้านความสัมพันธ์เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เปิดเผยกับสำนักข่าววีโอเอของสหรัฐฯ ว่า ระบอบเผด็จการที่กดขี่ประชาชนเกาหลีเหนืออาจจะคงอยู่ได้อีกไม่นาน โดยยกตัวอย่างประเทศอื่นๆ เช่น คิวบาหรือเมียนมา ซึ่งปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์และเผด็จการทหาร ท้ายสุดก็ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่เกิดจาก ปัจจัยภายในประเทศ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog