ไม่พบผลการค้นหา
จากเด็กหนุ่มเมืองนครศรีธรรมราช สู่ปลัดกระทรวงยุติธรรม และตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับคำพิพากษากรณีสลายการชุมนุมพันธมิตร 7 ตุลาฯ

จากเด็กหนุ่มเมืองนครศรีธรรมราช สู่ปลัดกระทรวงยุติธรรม และตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับคำพิพากษากรณีสลายการชุมนุมพันธมิตร 7 ตุลาฯ

สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมายังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พร้อมกับผู้ที่ถูกกล่าวหาที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสมชาย ร่วมกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.

ท้ายที่สุดคดีมหากาพย์ทางการเมืองที่ขัดแย้งมากกว่า 10 ปีได้มาถึงวันพิพากษา ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำตัดสินว่ายกฟ้องจำเลยทั้ง 4 คน ในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปิดล้อมหน้ารัฐสภา โดยพิเคราะห์แล้วว่าเป็นคำสั่งที่เป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย และปฏิบัติตามหน้าที่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ดีพบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีอาวุธ และเป็นการชุมนุมโดยไม่สงบ

จากข้าราชการกระทรวงยุติธรรมสู่ถนนการเมือง

นายสมชาย เป็นคนพื้นเพจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้ามาเรียนระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนดังในกรุงเทพฯที่สร้างนายกรัฐมนตรีมาแล้วหลายท่านอย่าง "อำนวยศิลป์" ก่อนที่จะสอบเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิตยสภาเริ่มเส้นทางถนนสายยุติธรรมด้วยการบรรจุเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา

ด้วยความเป็นข้าราชการทำให้ต้องย้ายไปหลายจังหวัด เมื่อครั้งเป็นผู้พิพากษาศาลแขวงเชียงใหม่ พ.ศ. 2519 จากนั้นได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในครั้งนั้นเองได้พบรักกับ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ (นามสกุลเดิม ชินวัตร) น้องสาวของดร.ทักษิณ ชินวัตร จากนั้นเส้นทางชีวิตของนายสมชายเติบโตตามสายกระบวนการยุติธรรมไปเป็นลำดับขั้น

ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ตำแหน่งระดับบริหารเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม และขึ้นเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรมในปี 2542 ก่อนที่จะข้ามห้วยย้ายมาเป็นปลัดกระทรวงแรงงานและตัดสินใจครั้งใหญ่หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยการลาออกจากตำแหน่งและเบนเข็มสู่ถนนสายการเมือง เข้ารับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนในยุคนายสมัคร สุนทรเวช ในพรรคชนะการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาล

ในตอนนั้นนายสมชายได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในปี 2551 จนเมื่อชะตาพลิกผันครั้งใหญ่หลังจาก "อุบัติเหตุทางการเมือง"ที่ทำให้นายสมัครต้องหลุดออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากกรณี "ชิมไปบ่นไป"  7 กันยายน 2551 ได้รับการเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของประเทศไทย โดยโหวตชนะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ ท่ามกลางการก่อตัวของการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เริ่มชุมนุมตั้งแต่ยุคนายสมัคร สุนทรเวช

นายกฯผู้ไม่เคยเข้าทำเนียบ ยุบพรรค และคดี 7ตุลาฯพันธมิตร

การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯในตอนนั้นขยายวงล้อมตามยุทธศาสตร์ดาวกระจาย โดยมีฐานที่มั่นหลังจากยึดทำเนียบรัฐบาลและประกาศชัยชนะ ทำให้นายสมชายซึ่งได้เป็นนายกฯไม่สามารถเข้าไปทำงานบริหารราชการแผ่นดินที่ทำเนียบรัฐบาลได้ 

7 ตุลาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรฯพยายามจะเข้าขัดขวางการแถลงนโยบายเพื่อเปิดสภาของรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดยทางรัฐบาลได้ใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาควบคุมฝูงชน และใช้มาตรการตามขั้นตอนการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา เหตุการณ์ปะทะดังกล่าวมีผู้เสียชีวิต 2 คน วิกิลีกส์เคยมีข้อมูลเผยแพร่ว่าแกนนำผู้ชุมนุมท่านหนึ่งกล่าวกับอดีตทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยว่า "กลุ่มพันธมิตรฯเตรียมการยั่วยุเพื่อให้เกิดการปะทะในวันดังกล่าว เพื่อจะเปิดทางให้มีการยึดอำนาจรัฐประหารในคืนดังกล่าว แม้จะต้องมีผู้เสียชีวิตก็ตาม"

ความวุ่นวายยังไม่จบเมื่อกลุ่มพันธมิตรฯยกระดับการชุมนุมเข้ายึดสนามบิน 2 แห่งตามยุทธศาสตร์ดาวกระจาย และนายสมชายยังต้องรับแรงกดดันจาก "การปฏิวัติหน้าจอ" เมื่อพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ขณะนั้นนำผบ.เหล่าทัพไปออกรายการของนายสรยุทธ สุทัศนจินดา โดยบีบให้รัฐบาลลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งพรรคพลังประชาชนยืนยันในความชอบธรรมที่จะไม่ลาออก

 2 ธันวาคม 2551 นายสมชายจำเป็นต้องออกจากตำแหน่งหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 9-0 ยุบพรรคพลังประชาชน รวมไปถึงพรรคร่วมรัฐบาล คือ พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย และเกิดการเปลี่ยนขั้วการเมืองครั้งใหญ่โดยพรรคประชาธิปัตย์ชิงความได้เปรียบจากการที่กลุ่มนายเนวิน ชิดชอบแยกออกจากพรรคพลังประชาชนไปตั้งพรรคภูมิใจไทยในการจับตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

หลังจากถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี นายสมชายได้กลับมาสู่สนามการเมืองอีกครั้งโดยสมัครเข้าเป็นส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่การเลือกตั้งในครั้งนั้นเป็นโมฆะจากการพยายามขัดขวางไม่ให้มีการเข้าไปลงคะแนนในหลายพื้นที่ของกปปส. จนศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวเป็นโมฆะ

ทั้งนี้ในวันตัดสินนายสมชายให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า มีการเตรียมตัวในคำตัดสินมานานแล้ว โดยมีมวลชน และสมาชิกพรรคเพื่อไทย มาให้กำลังใจ พร้อมระบุส่วนกำลังใจก็ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ ต้องรอฟังคำตัดสินของศาล ก่อนที่คำตัดสินจะออกมาว่า ยกฟ้องในที่สุด

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog