ไม่พบผลการค้นหา
ย้อนรอยนาทีเหตุการณ์สลายการชุมนุม 7 ต.ค. 51 เมื่อมวลชนคนเสื้อเหลืองเคลื่อนพลปิดล้อมรัฐสภา เพื่อขัดขวางไม่ให้รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แถลงนโยบายต่อรัฐสภา 

ย้อนรอยนาทีเหตุการณ์สลายการชุมนุม 7 ต.ค. 51 เมื่อมวลชนคนเสื้อเหลืองเคลื่อนพลปิดล้อมรัฐสภา เพื่อขัดขวางไม่ให้รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แถลงนโยบายต่อรัฐสภา 

เหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ปี 2551 หน้าอาคารรัฐสภา เกิดขึ้นในช่วงที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากนายสมัคร สุนทรเวช และต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อนเข้าบริหารราชการแผ่นดิน

ชนวนเหตุที่ทำให้กลุ่มพันธมิตรต้องเคลื่อนมวลชนมาปิดล้อมหน้ารัฐสภาเมื่อ9ปีที่แล้ว เกิดขึ้นหลังจากพลตรีจำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯถูกจับกุมขณะไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2551

ความตึงเครียดของสถานการณ์จึงร้อนแรงขึ้นตามลำดับเหตุการณ์ ดังต่อไปนี้

6 ตุลาคม 2551

18.20  น. แกนนำพันธมิตรฯ ประกาศเชิญชวนประชาชนในทำเนียบรัฐบาลขยายพื้นที่ชุมนุม ไปหน้าอาคารรัฐสภา ยกระดับต่อต้านรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดยขอมติกลุ่มผู้ชุมนุม เคลื่อนพลไปปิดล้อมรัฐสภาเพื่อไม่ให้นายสมชายเข้าไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 7 ตุลาคม 2551

19.00 น. กองบัญชาการตำรวจนครบาลจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลจำนวน 2 กองร้อย เตรียมรักษาความปลอดภัยบริเวณหน้ารัฐสภา รวมกับกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลที่มีอยู่โดยรอบทำเนียบ รวมทั้งสิ้น 7 กองร้อย จำนวน 1,050 นาย

19.55 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางถึงหน้ารัฐสภา ปิดล้อมทั้งด้านถนนอู่ทองใน และถนนราชวิถี

ขณะที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีฉุกเฉินเป็นการด่วนที่ทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว สนามบินดอนเมืองกลางดึก โดยมี พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจโทสุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเข้าร่วมประชุม โดยที่ประชุมมอบหมายให้พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้รับผิดชอบคลี่คลายสถานการณ์การชุมนุมกลุ่มพันธมิตร

7 ตุลาคม 2551 

01.30 น. นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานกลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศไม่ให้มีการเปิดประชุมรัฐสภา

05.50 น. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยังคงถกเครียดประเมินสถานการณ์พันธมิตรปิดรัฐสภา หลังพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เดินทางมาหารือด่วนเมื่อคืนที่ผ่านมา ขณะตำรวจตระเวนชายแดนเริ่มตั้งแถวเตรียมพร้อมรับคำสั่งทันที

06.20 น. กองกำลังตำรวจซึ่งมีทั้งฝ่ายปฏิบัติการพิเศษ ตำรวจตระเวนชายแดน และหน่วยอรินทราช 26 นับพันนายเตรียมปฏิบัติการคลี่คลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา และมีการยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อเปิดทางให้คณะรัฐมนตรีเข้าไปแถลงนโยบาย ขณะที่กลุ่มพันธมิตรได้ตัดน้ำและไฟภายในอาคารรัฐสภา

09.30 น. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เดินทางถึงรัฐสภาเพื่อแถลงนโยบายรัฐสภา

10.00 น. พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะฝ่ายค้าน มีมติบอยคอตไม่เข้าร่วมประชุมรัฐสภา

10.40 น. การประชุมรัฐสภาเริ่มขึ้น นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ได้ให้สมาชิกรัฐบาลกดบัตรแสดงตน เพื่อนับองค์ประชุมมีสมาชิกเข้าร่วมประชุม 320 คนถือว่าครบองค์ประชุม การแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเริ่มต้นขึ้น ท่ามกลางกลุ่มผู้ชุมนุมปิดล้อมด้านนอกรัฐสภา

13.00 น.  นายสมชายแถลงนโยบายต่อรัฐสภากว่า 2ชั่วโมง เมื่อเสร็จสิ้นการแถลง นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาได้สั่งปิดประชุมทันที ขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ไม่สามารถออกจากอาคารรัฐสภาได้

14.00 น. นายสมชาย ต้องเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ออกจากรัฐสภาเพื่อไปกองบัญชาการกองทัพไทย ถนนแจ้งวัฒนะ หารือสถานการณ์กับผู้บัญชาการเหล่าทัพ

ทันทีที่เกิดเหตุการณ์ปะทะกันของฝ่ายตำรวจและกลุ่มผู้ชุมนุม พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงก็ยื่นหนังสือขอลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์สูญเสียที่เกิดขึ้น

16.00 น. เกิดเหตุระเบิดรถจิ๊ปเชโรกีที่หน้าที่ทำการพรรคชาติไทย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ พันตำรวจโทเมธี ชาติมนตรี หรือสารวัตรจ๊าบ แกนนำพันธมิตร จังหวัดบุรีรัมย์ 

17.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจระดมยิงแก๊สน้ำตาอีกหลายนัดเพื่อเปิดทางให้ ส.ส.และ ส.ว.ได้ออกจากรัฐสภา

18.00 น. พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี เพื่อนร่วมรุ่น จปร. 7 กับพลตรีจำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นแผนของพลตรีจำลอง เมื่อพลตรีจำลองจับกุมจึงต้องสร้างสถานการณ์ให้เหมือนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

18.57 น.  กลุ่มพันธมิตรเคลื่อนมวลชนออกจากรัฐสภากลับทำเนียบรัฐบาลและประณามรัฐบาลนายสมชายที่เข้าแถลงนโยบายรัฐสภาท่ามกลางเหตุการณ์ที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

เหตุการณ์ปะทะกัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 2 ราย คือ นางสาวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือน้องโบว์ และพันตำรวจโทเมธี  รวมทั้งมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 471 คน

ปี 2552 คดีสลายการชุมนุม 7 ตุลาคม 2551 คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์  พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ และพลตำรวจโทสุชาติ เหมือนแก้ว ตามความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และส่งสำนวนไปให้อัยการสูงสุด ทั้งนี้ สำนวนที่ส่งมาอัยการสูงสุดมีข้อไม่สมบูรณ์ทำให้ส่งเรื่องกลับไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.

สำหรับคดีนี้ มีโทษตามมาตรา 157 คือระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ปี 2553  วุฒิสภามีมติเสียงข้างมาก 76 ต่อ 49 เสียงไม่ถอดถอนนายสมชาย ออกจากตำแหน่งหลังจาก ป.ป.ช.ได้ชี้มูล

ส่วนคดีอาญาต้องรอจนถึงเมื่อวันที่ 7 มกราคม ปี 2558 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติส่งสำนวนฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

9 ก.พ. 2559 ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้องคดี ไต่สวนพยานนัดแรกวันที่ 8 เมษายน 2559 

2 สิงหาคม  2560 ศาลฎีกา นัดฟังคำพิพากษาคดีสลายการชุมนุม 7 ตุลาคม 2551

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog