ไม่พบผลการค้นหา
เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี ตั้งคำถามกับเพลงต่างๆที่สร้างความชอบธรรมให้กับรัฐประหาร ไม่แตกต่างจากเนติบริกร หรือรัฐศาสตร์บริการ

นั่งร้านของคณะรัฐประหาร ไม่ได้มีแค่เนติบริกร หรือ นักรัฐศาสตร์บริการ เท่านั้น เพราะการสร้างประชากรที่เคลมเคลิ้มไปกับอำนาจเผด็จการ ต้องใช้หลายวิธีช่วยกัน ทั้งกฎหมายที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด และทั้งงานวัฒนธรรมที่ช่วยขับกล่อมผู้คนให้อยู่ในโอวาทของรัฐ

ละคร “ภารกิจรัก” ที่กำลังฉายทางช่อง 7 ในขณะนี้ มีเพลงประกอบละครชื่อเดียวกับละคร เนื้อเพลงระบุถึงภารกิจของทหารไว้ชัดเจน ว่าสำหรับพวกเขา ภารกิจการปกป้องแดนไทยมาเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนภารกิจหัวใจและรัก วางไว้เป็นลำดับที่สอง ทหารมืออาชีพตามบทเพลง วางความสุขส่วนตัวไว้หลังความสุขของชาวประชาเสมอ เนื้อเพลงอธิบายภารกิจการปกป้องแดนไทยไว้อย่างรวบรัด แต่ได้ใจความ และผูกโยงกับสารทางการเมืองของคณะรัฐประหาร ชนิดรับลูกได้ดี “น่านน้ำเราขอรักษา ท้องฟ้าเราจะดูแล แผ่นดินห้ามใครตอแย เพื่อความสุขชาวประชา” เรื่องเล่าของความสุข และการคืนความสุขนั่นเองที่สะพัดทั่วไทยในรอบสามปีมานี้

ละครเรื่องนี้อำนวยการสร้างโดย “ธงชัย ประสงค์สันติ” ธงชัย มีผลงานการกำกับละคร และอำนวยการสร้างละครมาแล้วไม่น้อยกว่า 36 เรื่อง ในจำนวนนี้ เขากำกับละครเพื่อผลิตซ้ำความเป็นไทยมาแล้วเป็นจำนวนไม่น้อย และรับงานอำนวยการสร้างละครชิ้นใหญ่ๆจากช่อง 7 อย่างต่อเนื่อง เช่น ลูกระนาด (2550),ลูกโขน (2553), ละครเทิดพระเกียรติ รักพระเจ้าอยู่หัว ตอน แผ่นดินมหัศจรรย์ (2554), ละครเทิดพระเกียรติ สองมือพ่อ (2558),ละครเทิดพระเกียรติ ตอน ครูของแผ่นดิน (2559) 

 

ก่อนหน้าเข้ามากำกับละครเต็มตัว ธงชัยนั่งเป็นพิธีกรรายการคุณพระช่วยที่ผลิตโดย เวิร์คพอยท์ (2547-2555) รายการดังกล่าว ขับเน้นและถ่ายทอดความเป็นไทยในหลากหลายมิติ ถ่ายทำอย่างละเอียดปราณีต ธงชัยได้รับรางวัลหลายชิ้นเพื่อเชิดชูการทำงานในรายการดังกล่าว เช่น พิธีกรแห่งปีจากเวที ไนน์เอ็นเตอร์เทนอวอร์ดในปี 2008  และรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นในปี 2552 ขณะที่รายการดังกล่าวยังคว้ารางวัลจากหลายสถาบันชนิดนับไม่ถ้วน มีเพื่อนในวงการตั้งข้อสังเกตกับผู้เขียนเมื่อนานมาแล้วว่า รายการบางรายการอาจไม่ได้ทำรายได้มากนัก แต่มีไว้รับกล่อง หรือรางวัล คุณพระช่วยเดินตามเส้นทางสายนี้ และยังคงเดินไปไม่หยุด ทั้งไม่ใช่แค่คุณพระช่วยรายเดียว แต่รางวัลทั้งหลายทั้งปวงดึงดูด ผู้ผลิตในวงการนี้ให้เดินไปสู่เส้นทางสายนี้  

เพลงภารกิจรัก ประพันธ์ทำนองและคำร้อง โดย “สุรพันธ์ ชาญวิชณานันต์” ชื่อของนักแต่งเพลงรายนี้ เป็นที่คุ้นตาเวลาขึ้นเครดิตในละครโทรทัศน์หลายเรื่องที่ฉายทางช่อง 7  ไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่า สุรพันธ์คือมือแต่งเพลงประกอบละครคนสำคัญของช่อง 7  เหมือนที่ “หนึ่ง - ณรงค์วิทย์  เตชะธนวัฒน์” ย้ายชายคาจาก ย่านอโศก มานั่งแท่นการผลิตเพลงประกอบละครเต็มตัวที่ช่อง 3 สุรพันธ์ไม่เพียงแต่แต่งเพลงประกอบละครได้ดี เขายังมีผลงานการประพันธ์เพลงเพื่อชาติบ้านเมือง เพื่อสถาบันฯ อีกจำนวนหนึ่ง เช่น เพลง “รอยเท้าพ่อ” “สองมือพ่อ”  และเพลง “แก้วตาในดวงใจ” ซึ่งช่อง 7 ประพันธ์ถวายหลังการสวรรคต

จากเพลงประกอบละคร “ภารกิจรัก" ที่ขับเน้นเรื่องเล่าการคืนความสุขของทหาร เราจะย้อนกลับไปทำความรู้จักแม่แบบของการแต่งเพลงในแนวคืนความสุข “วิเชียร ตันติพิมลพันธ์”  คือนักแต่งเพลงคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในรอบสามปีนี้ ซึ่งเป็นนั่งร้านทางวัฒนธรรมที่ค้ำยันคณะรัฐประหารได้เป็นอย่างดี เขาอยู่เบื้องหลังการประพันธ์เพลงสำคัญหลายเพลงที่ผ่านหูเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ เพลงเหล่านี้ถูกทำให้ผ่านหูเราอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก 

วิเชียร ทำหน้าที่เรียบเรียง คำร้องและทำนอง เพลง “คืนความสุขให้ประเทศไทย” ,เรียบเรียงคำร้อง เพลง “เพราะเธอคือประเทศไทย” ,เรียบเรียงคำร้องและทำนอง เพลง  “สะพาน” ทั้งสามเพลงนี้ผลิตโดย คสช. และขึ้นเครดิตว่าประพันธ์คำร้องโดย พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

เพลงแรก ไล่เรียงถึง ความจำเป็นที่ทหารต้องยึดอำนาจ เพื่อคืนความสุขให้คนไทย “วันนี้ต้องเหน็ดเหนื่อยก็รู้ จะขอสู้กับอันตราย ชาติทหารไม่ยอมแพ้พ่าย นี่คือคำสัญญา วันนี้ชาติเผชิญพาลภัย ไฟลุกโชนขึ้นมาทุกครา ขอเป็นคนที่เดินเข้ามา ไม่อาจให้สายไป” และเมื่อเข้ามาแล้วก็จะ “ทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน”  

เพลงที่สอง ออกมาในช่วงเวลาที่ดูเหมือน การทำตามสัญญาของทหารจะใช้เวลายาวนานขึ้นทุกที เนื้อเพลงบอกว่า “ชีวิตไม่จีรัง แต่แผ่นดินต้องยั่งยืน อยากเห็นเธอฟื้นคืนและสดใส” จะด้วยความอยากเห็นแผ่นดินฟื้นคืนก็ดี จะด้วยความพยายามในการตอบคำถามเรื่องเวลาก็ดี จะด้วยความอยากสื่อสารว่า ลำพัง นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว คงไม่สามารถดูแลประเทศไทยได้ทั้งหมด และคงไม่สามารถทำได้ด้วยเวลาอันสั้น จึงขอชวนคนไทยมาทำเพื่อชาติไทย “ฉันมีเพียงสองมือกับหนึ่งลมหายใจ พลังคงไม่พอจะสร้างฝันให้เป็นไป แต่หากเราร่วมมือต่อเติมลมหายใจ วันที่หวังนั้นคงไม่ไกล เพื่อประเทศไทยของทุกคน”

เพลงที่สาม ออกมาในช่วงเวลาที่ คสช. กำลังจะลงจากอำนาจ ? เนื้อเพลงเริ่มต้นด้วยการแก้ต่างเรื่องเวลาในการคืนความสุขที่นานออกไปเรื่อยๆ ว่า “อาจจะนานที่สู้เพื่อเธอ เพื่อแผ่นดินที่แสนรักมั่น นานแค่ไหนรู้ไว้ไม่หวั่น หัวใจ” และตลอดสามปีที่ผ่านมา อาจมีที่ คสช.ทำสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง แต่ “สิ่งที่ในวันนั้นสัญญา ที่ผ่านมายังสู้ด้วยใจ ต่อให้ล้มยังลุกขึ้นใหม่ ทุกครา” ปิดท้ายด้วยการย้ำเรื่องเวลา และการอาสาเป็นตัวกลางในการแก้ไขความขัดแย้งในสังคมไทย  “ฉันพร้อมจะเป็นสะพาน เพื่อให้เธอข้าม สู่ความร่มเย็นสดใส วันนั้นอีกไม่ไกล สิ่งที่ฝันไว้... จะกลายเป็นจริง”  

วิเชียร ให้สัมภาษณ์ไว้ถึงเบื้องหลังการแต่งเพลง คืนความสุขว่า “ภาคภูมิใจมาก เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมงานในเพลงนี้” ก่อนจะได้รับมอบหมายให้เรียบเรียงเพลงสำคัญของ คสช.  วิเชียร คว้ารางวัลชนะเลิศ ในโครงการประกวดแต่งบทเพลงรักชาติ กลุ่มที่ 1 เพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักของทหารที่มีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน จัดโดย กองทัพบก เพลงที่เขาแต่งชื่อ “ทหารแห่งแผ่นดิน” งานนั้นทำให้เขารู้จักกับ พ.อ.กฤษฎา สาริกา ผู้บังคับการกองดุริยางค์ทหารบก วิเชียรเล่าว่า “ท่าน (พ.อ.กฤษฎา) ได้รับมอบหมายจากทางท่านผบ.ทบ. (พลเอกประยุทธ์) ว่ามีต้นฉบับเนื้อเพลงที่เขียนเสร็จแล้ว อยากจะหาคนมาช่วยปรับคำ ใส่ทำนอง จึงได้ติดต่อให้ผมเป็นคนทำหน้าที่เรียบเรียงเพลง”

นอกเหนือจากการประพันธ์เพลงเพื่อชาติบ้านเมือง วิเชียร ยังอยู่เบื้องหลังการประพันธ์เพลงประกอบละครอีกหลายสิบเรื่อง ที่เมื่อฟังสักท่อนคนไทยต้องคุ้นหูหรือผ่านหูกันมาบ้าง เช่น เพลง “คนเดินดิน”(ซิตคอมเป็นต่อ), เพลง “เปลี่ยนไม่ได้”(รักแปดพันเก้า) , เพลง “ที่ปลายฟ้า” (สาปภูษา), เพลง “เสียรักไม่ได้”(บ่วง), เพลง “เงาที่มีหัวใจ”(แรงเงา) , เพลง “กว่าจะรัก” “สารภาพ” (อุ้มรัก) ,เพลง “ถามใจ” (บางรักซอยเก้า), เพลง “บางระจัน” “พรากรัก” “เสียไม่ได้” (บางระจัน),เพลง “กำไลมาศ” “จะรักจนวันสุดท้าย” “จนกว่าฟ้าจะเป็นใจ” (กำไลมาศ),เพลง “ดาวเกี้ยวเดือน” (ดาวเกี้ยวเดือน),เพลง “ดวงดาวในดวงใจ” (ดาวเคียงเดือน),เพลง “คนที่ร้ายคนที่รัก” (มัจจุราชสีน้ำผึ้ง) กระทั่งเพลงใหม่ล่าสุดที่เป็นเพลงธีมของเวที มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ในปีนี้ที่ชื่อเพลง “สู่จักรวาล” ก็เป็นผลงานของนักแต่งเพลงผู้นี้  

“วิเชียร ตันติพิมลพันธ์” ไม่เพียงอยู่เบื้องหลังการประพันธ์เพลงสำคัญของ คสช. เพลงเพื่อชาติบ้านเมือง เพลงเฉลิมพระเกียรติ และเพลงประกอบละครเรื่องดังๆ เป็นจำนวนมากเท่านั้น เขายังอยู่เบื้องหลังการประพันธ์เพลงประกอบละครเวที ที่อำนวยการสร้าง และกำกับการแสดงโดย “ถกลเกียรติ วีรวรรณ” อีกหลายเรื่อง เช่น ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล (2550),ข้างหลังภาพ เดอะมิวสิคัล (2551),แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล (2552),หงส์เหนือมังกร เดอะมิวสิคัล (2553),สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล (2555),เลือดขัตติยา เดอะมิวสิคัล (2556),ลอดลายมังกร เดอะมิวสิคัล (2559,2560) 

สังคมไทยขาดความสนใจต่อคนกลุ่มนี้  นักข่าวใช้ไมค์จ่อปากเนติบริกรเป็นระยะเพื่อขอคำอธิบายทางกฎหมาย เวลาเจอกฎหมายประหลาดๆ ที่คนเหล่านี้เขียนขึ้น แต่ไม่ค่อยมีใครสนใจ นักเทคนิคระเบียบวินัยในคราบนักแต่งเพลง ผู้กำกับละคร ผู้อำนวยการสร้างละคร และบุคลากรในแวดวงบันเทิงไทย  

สัปดาห์หน้า เราจะพูดถึงผลงานของนักแต่งเพลงผู้นี้ ที่มีในแวดวงละครเวที เพื่อต้อนรับการกลับมาของละครเวที “สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล” ที่จะกลับมาจัดแสดงรอบแรกในวันอังคารที่ 8 สิงหาคม 2560 นี้

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog