ไม่พบผลการค้นหา
จะแต่งงานดีหรือไม่ในยุค 4.0 หรือ 'การเเต่งงานเป็นความใฝ่ฝันของผู้หญิงทุกคน' กำลังเป็นเรื่องล้าสมัยขึ้นเรื่อยๆ?

จะแต่งงานดีหรือไม่ในยุค 4.0 หรือ 'การเเต่งงานเป็นความใฝ่ฝันของผู้หญิงทุกคน' กำลังเป็นเรื่องล้าสมัยขึ้นเรื่อยๆ?

 

“ทำไมน้องไม่ แต่งงาน จะอยู่อีกนาน เท่าไหร่ จะครองโสด ความสาว ให้หนาวใจ ไว้คอยใคร เล่าหนา”

[เพลง “ชวนน้องแต่งงาน” ศิลปิน ยอดรักสลักใจ]

อาแอ๊ว ยอดรัก ได้ตั้งคำถามไว้อย่างน่าสนใจว่า “ทำไมน้องไม่แต่งงาน?” จะว่าไปแล้วก็เป็นเพลงจีบสาวที่น่ารักน่าหยิกดี เพราะถ้าไม่แต่งงานนี่ตายไปยมบาลไม่สงสาร ไม่ให้ขึ้นสวรรค์เลยนะเอ้อ และด้วยความเคารพต่อศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ วันนี้เราขออนุญาตมาตอบคำถามว่า “ทำไม (เรา) ไม่แต่งงาน?”

พิ้ง: ไม่รู้ว่าใครเป็นคนพูดไว้ว่า การเเต่งงานเป็นความใฝ่ฝันของผู้หญิงทุกคน ถ้าเป็นหลายสิบปีก่อน กับประโยคนี้ก็คงมีคนเออออตามๆ กัน เเต่สำหรับเรากลับพบว่าคำพูดนี้มันล้าสมัยขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในตอนนี้ที่ความเท่าเทียมทางเพศเป็นสิ่งที่สังคมเริ่มให้ความสำคัญกันมากขึ้น ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเเต่งงาน มีครอบครัวเท่านั้น เเต่สามารถอยู่ตัวคนเดียวได้ มีความสุขโดยใช้ชีวิตอิสระ สำหรับเราเอง ถึงแม้ทุกวันนี้จะมีพี่บ๊อบเป็นคู่ชีวิต แต่เรื่องการมีงานแต่งกลับเป็นสิ่งที่เราไม่ได้สนใจเลยอะ

บ๊อบ: แต่เดี๋ยวก่อนที่จะสรุปกันเลยเถิดว่าเราแอนตี้การแต่งงาน ก็ออกตัวเลยว่าเปล่า เรายังยินดีกับเพื่อนฝูงคนรู้จักที่เข้าพิธีวิวาห์อยู่นะ แต่การใช้ชีวิตของคนแต่ละคน ชีวิตคู่แต่ละคู่ มันไม่ได้มีตัวเลือกแบบเดียวที่ตายตัว แล้วสำหรับคู่เรา เราคุยกันและยอมรับตรงกันว่าพิธีแต่งงานนี่เป็นความสำคัญลำดับท้ายๆ ของชีวิตคู่ของเราเลย

พิ้ง: ทั้งนี้ต้องบอกว่าการไม่มีพิธีแต่งงานสำหรับคู่เรานั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เพราะญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝั่งด้วย พ่อแม่ของเรารับรู้และยอมรับการอยู่ด้วยกันฉันท์สามีภรรยาโดยไม่ต้องมีพิธีอะไร เพราะเค้าค่อนข้างเคารพการตัดสินใจของเราและมีความคิดที่เปิดกว้าง ซึ่งอาจจะเป็นไปไม่ได้สำหรับบางคู่ที่ญาติผู้ใหญ่ยังให้ความสำคัญกับการมีพิธีอยู่ สำหรับเราจึงไม่มีเหตุผลให้ต้องเข้าพิธีเพื่อให้ผู้ใหญ่รู้สึกสบายใจ ชิวเลยจ้า

บ๊อบ: พี่เองมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับพิธีแต่งงานอยู่ ทั้งไปงานคนอื่น หรือช่วยงานแต่งงานของพี่ชาย ได้ไปสัมผัสใกล้ๆ นี่ก็โอ้โห ต้องใช้เงินเยอะนะเนี่ย เหนื่อยนะเนี่ย เรียกได้ว่ามันเป็นการลงทุนเลยล่ะ แล้วก็ย้อนมานึกถึงฟังก์ชั่นทางสังคมแบบดั้งเดิมของพิธีแต่งงาน ที่โดยเนื้อแท้แล้ว มันคือการประกาศกับชุมชนที่ตัวเองสังกัดอยู่ ว่าฉันกับเธอคนนี้ เราอยู่ด้วยกันนะ สองครอบครัวนี้เกี่ยวดองเป็นเครือญาติกันแล้วนะ

พิ้ง: อันนั้นคือฟังก์ชั่นทางสังคม แต่เราก็เข้าใจว่าในทางศาสนาและความเชื่อ การแต่งงานก็ยังจำเป็นอยู่ที่จะต้องทำให้ถูกต้องตามหลักความเชื่อที่ตนยึดถึอ แต่เมื่อลองพิจารณางานแต่งหลายๆ งานที่เคยได้เข้าร่วม เราก็พบว่าการแต่งงานเองก็มีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย ยิ่งถ้าดูงานแต่งงานแบบไทย ถ้าจัดแบบฟูลคอร์ส มันมีพิธีที่ต้องทำเยอะมากเลย เเต่ให้เข้ากับความพร้อมของผู้จัด มันก็มีบางอย่างที่ลดทอนลงมา บ้างก็เพิ่มให้อลังการขึ้น หรือปรับเปลี่ยนตามสมควร และเมื่องานแต่งงานเองก็มีวิวัฒนาการอยู่เรื่อยๆ งานแต่งงานที่ไม่ได้ผูกติดกับเรื่องศาสนาเอง ก็น่าจะสามารถปรับให้เข้ากับความพร้อมของแต่ละคู่ได้เหมือนกัน

ารสวใ ฝfg623

บ๊อบ: ขอบคุณความเห็นของแมวปูตินที่ผ่านการเดินย่ำคีย์บอร์ดอย่างคมคาย โว๊ะ เข้าเรื่อง แล้วในเมื่อพิธีแต่งงานมันสามารถเพิ่มเติม ลดทอนตามความเหมาะสมได้ ไฉนเลยตัวเลือกอย่างการไม่จัดพิธีแต่งมันจะไม่เป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ อย่างแรกคือ นี่เราอยู่ในยุคไทยแลนด์ 4.0 กันแล้วนะ นิยามของ “ชุมชน” มันก็เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีและสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวด้วย อย่างโซเชียลเน็ตเวิร์คนี่เราก็แอดเฟรนด์ เป็นเพื่อนกับคนที่เรารู้จัก มีตัวตน พบปะพูดคุยกันผ่านตัวหนังสือแม้ว่าตัวจริงๆ ของเขาอาจจะอยู่อีกซีกโลกหนึ่งก็ได้ และเราต่างก็สามารถรับรู้ความเป็นไปของกันได้แค่เพียงนิ้วเลื่อนผ่านนิวส์ฟีด ฉะนั้นถ้าย้อนกลับไปถึงฟังก์ชั่นดั้งเดิมของพิธีแต่งงาน ในยุคสมัยนี้ก็อาจจะมีความจำเป็นน้อยลง เพราะการใช้ชีวิตร่วมกันโดยเป็นที่รับรู้ของชุมชนที่ตัวเองสังกัดนี่มันง่ายขึ้นเยอะ ราคาถูกลงด้วย

พิ้ง: ขอโทษนะคะที่หนูจน แต่จากที่ประเมินกันคร่าวๆ เอาเเค่จัดงานแต่งแบบประหยัดสุดคุ้มนี่อย่างน้อยๆ เราก็ต้องมีงบอยู่แสนกว่าบาทขึ้นไปแล้ว โดยส่วนตัวรู้สึกว่าเราเก็บเงินไว้เพื่อชำระหนี้สินตั่งต่าง ค่าใช้จ่ายในบ้าน เอาเข้ากองทุน เก็บไว้รักษาตัว ไว้ใช้ตอนเกษียณอายุ มันมีประโยชน์กว่า

บ๊อบ: แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่เราเห็นว่าสิ่งที่สำคัญคือ “การรับรองโดยกฏหมายของการใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน” อย่างการจดทะเบียนสมรส ที่คู่ชีวิตจะสามารถได้รับสิทธิ์ต่างๆ ของการอยู่ร่วมกัน ไหนจะเรื่องการจัดการมรดกในกรณีที่ผมอาจจะบังเอิญตายโหงขึ้นมา ถ้าไม่ได้จดทะเบียนกันมานี่เกมเลย ของที่เราสร้างด้วยกันมาจะได้จัดการง่ายๆ หรือในหลายๆ กรณี การให้ภรรยาตามกฏหมายเป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินการแทนเราได้นี่ยอดเยี่ยมมากๆ เพราะผมเป็นคนขี้เกียจ อิอิ

พิ้ง: เอาจริงๆ เค้าเห็นความสำคัญของการจดทะเบียนสมรสตอนทำเรื่องยื่นภาษีนี่แหละ เพราะการจดทะเบียนสมรสทำให้ได้รับการลดหย่อนค่าภาษีได้ด้วย เค้าขี้งกอะ อิอิ

บ๊อบ: แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอยู่เหมือนกันที่คู่รักที่มีเพศทางกายภาพตรงกัน (ชาย-ชาย / หญิง-หญิง) ยังไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ ไม่ว่าคู่นั้นจะรักกันมานานแค่ไหน จริงใจต่อกัน อยู่ร่วมกันจนตายจาก ณ วันนี้กฏหมายก็ยังไม่รับรองสถานะของกันและกัน

พิ้ง: เราอาจได้เห็นข่าวงานแต่งงานของคนเพศเดียวกันออกมาบ้างเป็นครั้งคราวนะ เเต่ขอบอกว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างเพศเดียวกันยังไม่ได้รับรองในไทย สำหรับหลายๆ คู่ที่อยากให้กฎหมายรับรองสถานะก็ต้องบินไปจดทะเบียนในประเทศที่ให้การรับรอง อย่างตอนนี้ ไต้หวันก็เป็นชาติแรกในเอเชียที่รับรองให้การสมรสระหว่างคู่รักเพศเดียวกันเป็นสิ่งถูกกฎหมายแล้ว โดยศาลรัฐธรรมนูญของไต้หวันเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งซึ่งกำหนดให้การจดทะเบียนสมรสทำได้แค่ระหว่างชายและหญิงนั้น ขัดต่อการรับรองเสรีภาพในการแต่งงานและความเท่าเทียมกันของประชาชนในรัฐธรรมนูญ เป็นคำตัดสินที่ดีต่อใจมากเลยอะ

บ๊อบ: ความรู้สึกพี่คือ คนสองคนรักกัน อยากอยู่ด้วยกันโดยมีการรับรองสถานะตามกฏหมาย ลองมองดูแล้วมันก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ไปละเมิดใคร ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใครตรงไหน มันเรื่องส่วนตัวของเขาเต็มๆ เลย ไม่ใช่เรื่องของคนอื่นสักนิด มันไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่ “คนอื่น” จะเป็นเดือดเป็นร้อนและไป “ห้าม” ไม่ให้คนสองคนจดทะเบียนสมรสกันเพียงเพราะเขามีเพศเดียวกัน

พิ้ง: ขอกลับมาเรื่องไต้หวันอีกนิดนึง ก่อนหน้านี้เค้าไปอ่านเจอเรื่องของ Jolin Tsai นักร้องนักแสดงชาวไต้หวัน โดยในบทความได้พูดถึงเพลงของ Jolin Tsai ที่บอกเล่าเรื่องราวความรักของคนเพศเดียวกันใน We’re All Different, Yet The Same เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะใน MV ที่เล่าเรื่องของคู่รักหญิงคู่หนึ่งที่อยู่ด้วยกันมาจนแก่ เมื่อถึงวันที่อีกคนป่วยอย่างหนักต้องเข้ารับการผ่าตัด แต่เจ้าหน้าที่รพ.แจ้งว่าญาติจะต้องลงนามยินยอมการผ่าตัดในเอกสารเสียก่อน แต่ตัวคู่รักเองกลับไม่สามารถลงนามได้ เพราะสถานะของคู่รักเพศเดียวกันไม่ได้การยอมรับตามกฎหมาย (ในตอนนั้น) มันน่าปวดใจนะ สำหรับคนสองคนที่รักกันแต่ในเวลาวิกฤตกลับไม่สามารถยืนยันความสัมพันธ์หรือใช้สิทธิ์ต่างๆ แบบคู่รักต่างเพศได้

บ๊อบ: ความรัก ความผูกพัน มันเกิดขึ้นกับใครก็ได้นะ คู่รักหรือความสัมพันธ์ใดๆ มันควรจะสามารถให้ตัวเขากำหนดได้ด้วยตัวเองว่ารูปแบบความส��มพันธ์แบบไหนที่มันเวิร์คสำหรับเขา ตราบใดที่มันไม่ได้ไปละเมิดสิทธิ ไม่ได้สร้างความรุนแรง หรือสร้างผลกระทบให้เกิดผลเสียกับใคร เราก็ควรเคารพการตัดสินใจกันนะ

พิ้ง: ใช่อะ มันไม่ง่ายหรอกที่เราจะเจอคนที่เราอยากอยู่ด้วยกันไปตลอดชีวิต ไม่ว่ายังไงก็เป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับคนที่เค้าเจอคนที่รักและพร้อมจะใช้ชีวิตคู่กันเเล้ว แต่อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ เมื่อเจอคนๆ นั้นเเล้ว จะอยู่ด้วยกันยังไงให้ความสัมพันธ์ยืนยาวและมีความสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย

บ๊อบ: แต่ถ้ายังไม่เจอใคร ก็ไม่เป็นไรหรอก การอยู่คนเดียวมันก็มีข้อดีของมัน มีเพื่อนมีฝูง มีคนมากมาย ถ้ารับผิดชอบตัวเองได้ อิสรภาพย่อมเป็นของคนโสด ความสัมพันธ์มันไม่ได้จำกัดอยู่ที่การเป็นคู่รักเสียหน่อย ถ้าตัวเองยังไม่เจอใคร แต่เจอวิธีการจัดการความสัมพันธ์กับคนรอบๆ ตัวได้อย่างดี มันอาจจะดีกว่าการเจอคนที่ถูกใจแต่จัดการความสัมพันธ์ไม่ได้ก็ได้นะ

พิ้ง: ซู๊ดดดดด เพลงมา! 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog