‘ทรัพย์สินจุฬาฯ’ เดินสายชวนเอกชนร่วมลงทุน ปั้น ‘Smart Intellectual Society’ มูลค่าโครงการ 8 หมื่นล้านบาท บนที่ดิน 291 ไร่ จุฬาฯ นำร่อง 4 พันล้าน ชูคอนเส็ปต์คุณภาพชีวิต ไลฟ์สไตลล์ การเรียนรู้ ย้ำไม่ได้มองรายได้สูงสุดแต่สร้างคุณค่าสูงสุดให้สังคม
มหาวิทยาลัยใจกลางเมืองมีที่ดินผืนใหญ่ในเขตปทุมวัน นอกจากจัดแบ่งเพื่อการศึกษาแล้วยังสามารถประกอบธุรกิจให้เช่าหรือให้สัมปทาน หารายได้เข้ามหาวิทยาลัย มีการพัฒนาที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่กำลังจะเกิดความเปลี่ยนแปลง
สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ เผยแต่ละปีทำรายได้เข้ามหาวิทยาลัย 27% ของรายจ่าย ขณะที่มหาวิทยาลัยรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล 30 % และค่าเล่าเรียน 15 %
Voice TV สัมภาษณ์ รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สินและนวัตกรรม ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-จุฬาฯ มีที่ดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยและทำธุรกิจของชุมชนใกล้มหาวิทยาลัยมาตลอด กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
วันนี้เราต้องบอกว่า ชุมชน เราขยายกว้าง คำจำกัดความ “ชุมชน” จึงไม่ได้มองแค่พื้นที่สามย่าน หรือสวนหลวงโดยรอบ เรามองชุมชนทั้งกรุงเทพฯ มองทั้งประเทศในองค์รวม ฉะนั้น แนวทางพัฒนาพื้นที่ เราต้องมองว่าจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับชุมชนในความหมายแบบกว้าง หมายถึงว่า จะใช้พื้นที่ที่ได้รับพระราชทานมา ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสังคมได้อย่างไร อันนี้คือโจทย์ที่ท้าทาย นี่คือสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไป
- ความเป็นสถาบันการศึกษากับความชอบธรรมในการประกอบธุรกิจหารายได้
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับที่ดินพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงมีวิสัยทัศน์กว้างไกลมาก พระราชทานให้ใช้ที่ดินส่วนหนึ่งเพื่อการศึกษา อีกส่วนหนึ่งใช้ในเชิงพาณิชย์เพื่อสนับสนุนการศึกษา
ฉะนั้นวันนี้รายได้ของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ทุกบาททุกสตางค์ เราส่งให้มหาวิทยาลัยหมด เป็นเงิน 27% ของรายจ่ายของมหาวิทยาลัย
ใน 100% ของรายจ่ายที่จุฬาฯ ใช้อยู่ เป็นเงินที่รัฐบาลสนับสนุนประมาณ 30 % เป็นรายได้สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ 27 % เป็นรายได้จากค่าเล่าเรียน โดยประมาณ 15 % ฉะนั้นตรงนี้จะเห็นว่า เราไปช่วยไม่ให้ค่าเล่าเรียนนั้นสูงขึ้น ยังคงค่าเล่าเรียนไว้ เราได้งบจากรัฐบาลเพียง 30 % เท่านั้น
-นิสิตจุฬาฯ โพสต์ลงโซเชียลมีเดียเรื่องหอพักนิสิตไม่เพียงพอ
เรื่องหอพักก็จะมีโครงการพัฒนาเพิ่ม แต่ต้องเข้าใจอย่างนี้ก่อน โครงการจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ต้องหารายได้ระดับหนึ่ง คือต้องเรียนว่าหอพักของจุฬาฯ ค่าเช่าถูกมาก ตอนผมเรียนต่างประเทศค่าเช่าหอเอกชนถูกกว่าในมหาวิทยาลัยอีก เพราะหอพักมหาวิทยาลัยมีความสะดวก ลงจากหอก็เข้าตึกเรียน แต่หอในของจุฬาฯ เป็นหอพักเพื่อสวัสดิการค่าเช่าจึงถูกมากๆ ราคาไม่แพง
ต้องแยกกันถ้านิสิตคนไหนมีความสามารถจ่ายเงินได้ ก็ควรจ่ายในราคาตลาด เพราะถ้าต้องไปsubsidize ค่าเช่าหอพักทุกคนเราก็ต้องเพิ่มค่าเล่าเรียน ขณะที่เขตพาณิชย์ที่เราหามา รายได้ส่งเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อไปแจกทุนการศึกษาสำหรับเด็กที่ขาดโอกาสเด็กยากจน มีเด็กถึง 15 % ที่รับทุนการศึกษา ฉะนั้น มีรายจ่ายพอสมควร ไม่ควรใช้ทุกอย่างเป็นรัฐสวัสดิการ
สำนักงานจัดการทรัพย์สินรับฟังปัญหาก็อยากจะสร้างหอพักตามความต้องการ แต่บนราคาที่อาจจะไม่ใช่เทอมละ 3,000 – 5,000 บาท อาจจะเดือนละ 8,000บาท ตามราคาตลาด วันนี้ไอดีโอคอนโดฝั่งตรงข้าม อาจจะมีนิสิตอยู่เต็ม ในค่าเช่า 15,000 บาท เราก็ต้องดูพื้นที่ที่เหมาะสม ในผังพื้นที่ 291 ไร่ เรากำหนดโซนนิ่งแล้วว่า จะอยู่ตรงไหน
อย่างโครงการบล็อก 33 จะมีที่อยู่อาศัย เราก็แยกกลุ่ม มีกลุ่มที่รองรับนิสิต แต่เรากำลังพิจารณาอยู่ว่าเป็นเช่าระยะยาว หรือเป็นหอพักนิสิตจริงๆ หรือจะเป็นเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ที่ใครๆ ก็ใช้ได้ อยู่ระหว่างพิจารณา
ส่วนบล็อกอื่นก็มี แต่ต้องทำเว้นช่วงกัน ในมาสเตอร์แพลนผังใหญ่มีส่วนที่อยู่อาศัย รูปแบบอาจจะให้เอกชนมาทำ เพราะเงินลงทุนเราอาจจะไม่มีและเรื่องบริหารจัดการเอกชนอาจจะทำได้ดีกว่าเรา
-โครงการ “Smart Intellectual Society”
เราต้องมาตั้งหลักดีๆ มองไปในอนาคตให้เยาวชน เพราะวันนี้ในกรุงเทพฯ เหลือที่ดินไม่กี่ที่ไม่กี่แปลงใจกลางเมืองที่จะสามารถทำอะไรที่มีขนาดใหญ่เกิดอิมแพคดีๆ กับสังคมได้ ก็เลยต้องกลับมานั่งรับฟังความคิดเห็นทั้งหมด
1 ปี ที่ผ่านมา ก็มีกระบวนการไปเดินสาย รับฟังความต้องการของคนในสังคมเรา Stakeholder ต้องการอะไร เราได้ข้อสรุปมา 3 ด้าน
1)ต้องการมีพื้นที่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี สะท้อนให้เห็นว่า โครงการที่เราทำตอบโจทย์สาธารณะให้มีคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เช่น สวนจุฬาฯ 100 ปี มอบเป็นของขวัญให้สังคม เป็นสวน 29 ไร่ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับ กทม.
2) คือเรื่องไลฟ์สไตล์ วิถีชีวิต ทำอย่างไรให้ประชาชนมีทางเลือกมาขึ้น ครอบครัวที่มีลูกเล็กๆ วันหยุดเสาร์อาทิตย์ มีทางเลือกอื่นนอกจากไปห้างได้ไหม คือวันนี้ทางเลือกเราเริ่มจำกัด โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเมือง เราอยากไปที่กลางแจ้งที่มีคุณภาพชีวิตดีๆ มีกิจกรรมที่ทำได้ทั้งครอบครัว แต่วันนี้เรามีทางเลือกน้อย
เราจึงมามองว่า พื้นที่ที่เหลือ น่าจะทำอะไรเสริมให้ตรงกับไลฟ์สไตลล์ของคนกรุงเทพฯ นอกจากมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้วต้องถูกจริตถูกกับการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพ เช่น การออกกำลังกาย เราจะมีโครงการพัฒนาพื้นที่ที่เป็นจุดนัดพบกัน วิ่ง ปั่นจักรยาน เล่นกีฬากลางแจ้ง
โดยเชื้อเชิญธุรกิจที่ประกอบการเกี่ยวกับกีฬา มาอยู่ในโซนพื้นที่แถวเจริญผล ซึ่งแต่เดิมขายอุปกรณ์กีฬาอยู่แล้ว เราก็ใส่อัตลักษณ์เข้าไปให้เป็นเทรนด์การวิ่ง ปั่นจักรยานและทำให้น่าสนใจ เกิดเป็นย่าน
นอกจากนั้น จะสร้าง creative and design village เป็นหมู่บ้านของนักคิด นักออกแบบสร้างสรรค์ มาอยู่ด้วยกัน ให้เกิดเป็นจุดนัดพบของดีไซน์เนอร์ ผู้ออกแบบ และขายของขายผลิตได้ด้วย รวมถึงเซอร์วิสทั้งหลาย อยากจะสร้างแรงบันดาลใจ ให้กับเยาวชน
ประชาชนทั่วไปมาเดินดูได้ มาดูการทำเวิร์คช็อป มีร้านที่น่าสนใจที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นย่านเดียวกัน เพื่อตอบโจทย์ การสร้างคุณค่าให้สังคม
เราไม่ได้ไปสร้างห้างดีพาร์ทเมนท์สโตร์ แต่เราสร้างย่านธุรกิจ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสังคมได้
3) การเรียนรู้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดกับมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว มหาวิทยาลัยมีความรู้มาก มีเครือข่ายขององค์ความรู้เยอะ เราจะทำอย่างไรให้องค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยได้มารับใช้สังคม ได้มาเชื่อมโยงกับสังคม ฉะนั้น กิจกรรมหรือธุรกิจในย่านนี้ ที่เราจะพัฒนาเมืองใหม่ขึ้นมา ก็จะใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ที่มีอยู่ของมหาวิทยาลัย มาต่อยอดให้กับธุรกิจของเขารองรับธุรกิจที่อยู่บนฐานองค์ความรู้
เพราะฉะนั้น พันธกิจของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ เราจะใช้พื้นที่นี้ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม เราไม่ได้มองเรื่องการสร้างรายได้สูงสุด แต่เรามองการสร้างคุณค่าสูงสุดให้กับสังคม
-ระยะเวลาที่เมืองใหม่จะแล้วเสร็จ
ถ้าไล่โครงการจากถนนพระรามที่ 1 มาถึง สวน 100 ปี ผมว่าปีหน้า จะเห็นการเปลี่ยนแปลงเยอะเพราะโครงการสเตเดียมวันเสร็จ สวน 100 ปี(อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เปิดใช้เต็มรูปแบบ มีโครงการต่างๆ น่าจะคึกคัก
โครงการสเตเดียมวันเกี่ยวกับการออกกำลังกาย คาดว่าจะเสร็จประมาณ ตุลาคมหรือพฤศจิกายน 2560 ตอนนี้กำลังก่อสร้างอยู่
โครงการสวนหลวงสแควร์เสร็จแล้ว มีผู้ประกอบการเข้าไปอยู่แล้ว เป็นเรื่องร้านอาหาร ก็จะปรับปรุงให้ดีขึ้น
โครงการ I’m park กับ โครงการสวนหลวงสแควร์ ตอบโจทย์เรื่องไลฟ์สไตล์ ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ข้างในมีความแตกต่าง สวนหลวงสแควร์ มีราดหน้า บะหมี่เป็ด เซ็งซิมอี๊ สุกี้ กาแฟก็มีอัตลักษณ์จากน่าน แก้วละ 40 กว่าบาทแต่รสชาติเหมือนร้อยสามสิบบาท มีก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ ร้านบัวลอยน้ำขิงก็ขายดี ผมเคยถามว่าทำไมไม่เปิดกลางวัน เขาบอกว่าทำไม่ทันขายดีเกิน
ส่วนสวนหลวงสแควร์เป็นอาคารพาณิชย์ด้านบนอยู่อาศัยได้เราไม่ได้ปิดกั้น สำหรับโครงการ I’m park เป็นคอมมูนิตี้มอลล์ติดกับอุทยาน 100 ปี สัมปทานไปแล้ว ไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม
โครงการซัยวอล์ค (Zy Walk) ให้สัมปทานเอกชนไป แต่ยังไม่ได้มีงานเปิดโครงการเพราะมีผู้เช่าจำนวนน้อยอยู่
ส่วน creative and design village อยู่ระหว่างทำ Market Sounding คือต้องไปเชิญชวนผู้ที่มีความสนใจว่ามีความสนใจมากน้อยขนาดไหน เราคิดคอนเส็ปต์ก่อน แล้วไปตระเวนหาพันธมิตรที่สนใจมาร่วมบนหลักการเดียวกันนี้ ก็จะมีโครงการพัฒนาอีกมาก
-โครงการที่ยังต้องใช้เวลาและปัญหาเจรจาผู้เช่า
ถ้าดูพื้นที่จากสวน 100 ปี ถึงถนนพระราม 4 ต้องใช้เวลาเพราะสัญญาผู้เช่าเดิมจะหมดสิ้นปีนี้ ฉะนั้น การปรับปรุงอะไรต้องปรับปรุงในปีหน้า ถ้าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงจริงก็คงปลายปีหน้า
การปรับปรุงบนพื้นที่ที่ผู้เช่ายังประกอบธุรกิจอยู่เป็นเรื่องไม่ง่าย คือเราก็อยากให้เขามีรายได้ด้วย นั่นคือความท้าทาย ตอนนี้เรากำลังออกแบบอยู่ และอยู่ในช่วงของการเจรจากับผู้เช่าเป็นรายๆ ว่า ร้านเขามีผลกระทบแบบนี้ ระหว่างปิดจะปิดช่วงไหนดี ระหว่างนั้นเราต้องชะลอให้ปิดช่วงปิดเทอม เพราะนิสิตมีจำนวนน้อยหน่อย เพราะฉะนั้น จะเข้าไปปรับปรุงเลย มันก็คงไม่ได้
- ทำไมบางจุดทุบตึกเก่าแล้วปล่อยเป็นพื้นที่โล่งเป็นปี เช่น จากสวน 100 ปี ไปถึงตลาดสามย่านใหม่ ใกล้ถนนพระราม 4
นั่นคือโครงการบล็อก 33 ทุบเป็นปี เพราะจะขึ้นโครงการใหญ่ต้องมีขั้นตอน สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ จะใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ ต้องผ่านบอร์ดทรัพย์สินฯ บอร์ดนโยบายการเงินของมหาวิทยาลัย ผ่านสภามหาวิทยาลัย ฉะนั้น การใช้เงินต้องรอบคอบ รัดกุม ต้องทำการบ้านเยอะ
-จุดที่เป็นเซียงกงเดิม รอบๆ ศาลเจ้าแม่ทับทิม
จะมี 2 โครงการใหญ่ คือ โครงการบล็อก 33 และบล็อก 34
โครงการแรกจะเป็นโครงการบล็อก33 จุฬาฯ ลงทุน 4 พันกว่าล้าน มีที่อยู่อาศัย 3 อาคาร แต่จะมีส่วนของพลาซ่า เรียกว่าเป็น co-creative business จะมีธุรกิจ 3 ประเภทที่เข้ามาอยู่ คือ ธุรกิจสุขภาพ โพลีคลีนิค คลีนิคแพทย์เฉพาะทาง รักษาโรคยากๆ เข้ามา ส่วนที่ 2 คือ ศูนย์นวัตกรรมศูนย์เรียนรู้ จะเชิญสตาร์ทอัพ จริงๆ ไม่อยากใช้คำว่าสตาร์ทอัพ ใช้คำว่า Technology Firms, Creative Firms บริษัทที่มีความคิดสร้างสรรค์ บริษัทที่มีนวัตกรรม บริษัทเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมาอยู่ด้วยกัน เป็นบริษัทเล็กๆ อยู่เป็นย่าน ส่วนที่ 3 เกี่ยวกับ Learning มีเวิร์คชอป ตอบโจทย์ว่า นอกจากเป็นธุรกิจแล้ว ต้องเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับองค์ความรู้ เรียกว่าบล็อก 33
ส่วนบล็อก 34 เป็นอีกโครงการหนึ่ง สภามหาวิทยาลัยยังไม่อนุมัติ คณะทำงานกำลังพัฒนาแนวความคิด คือจะเป็นการสร้างศูนย์แสดงนวัตกรรม คือ เราอยากเชื้อเชิญผู้ประกอบการ ทั้งไทยและต่างประเทศ ที่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการดีๆ นวัตกรรมดีๆ มาอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่เป็นบริษัท แต่มาร่วมแสดงผลงานของเขา ต้องนึกถึงว่า เราไปงานเวิล์ดเอ็กซ์โป เราไปงานบีโอไอแฟร์ แต่ละร้าน แต่ละบริษัทก็จะมาโชว์ของดีๆ ของเขา เราก็จะเชื้อเชิญมาอยู่ด้วยกัน
น่าจะเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจ จะเป็นแลนด์มาร์คที่ให้คนเข้าไปดูแล้วเกิดแรงบันดาลใจว่า เดี๋ยวนี้นวัตกรรมไปถึงไหน ทำอะไรได้บ้าง นี่คือ โครงการบล็อก 34
-ครบรอบ 1 ปี นับแต่อาจารย์วิศณุ มารับตำแหน่ง
นี่เป็นสิ่งที่เราคิดมา 1 ปีกว่าแล้ว เดิมจุฬาฯ จะพัฒนาทีละบล็อก เพราะเราจะให้เอกชนมาลงทุน ทีนี้ ต้องมองภาพว่า ถ้าให้เอกชนมาลงทุน ก็ต้องมีผลกำไร ธุรกิจอะไรที่ก่อให้เกิดผลกำไรได้บ้าง ก็เป็นข้อจำกัด แต่สิ่งที่ผมเล่าไป ถ้าเอกชนลงทุนเองธุรกิจเหล่านี้อาจจะไม่เกิด เขาอาจจะไม่ลงทุน เพราะไม่คุ้มค่า ได้ผลตอบแทนต่ำ
เราไม่ได้คิดทีละโครงการแล้ว ผมรับตำแหน่งมา 1 ปีเต็มๆ ก่อนเข้ารับตำแหน่ง เราต้องมีมาสเตอร์แพลน มีโรดแมปให้ชัด มีตัวตนให้ชัดว่าเราจะทำอะไร ฉะนั้น ในพื้นที่ 291 ไร่ ก็เลยเริ่มวางแผนมาก่อน ไม่ใช่เรื่องกายภาพอย่างเดียว เราวางแผนหาตัวตน หาคำตอบว่าจุดหมายปลายทางเราคืออะไร เราก็ได้คำตอบว่า เราอยากให้เมือง เป็นสังคมอุดมปัญญา ผมเรียกว่า “Smart Intellectual Society” เราอยากให้สังคมเรา อยู่บนองค์ความรู้ บนฐานความรู้ เพราะเป็นหน้าที่พันธกิจของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว เราอยากมี Social Engagement คือ เข้าไปรับใช้ประชาชนมากขึ้น นี่คือสิ่งที่เป็นคีย์เวิร์ด ที่อยู่ในนโยบายท่านอธิการท่านปัจจุบัน
ทีนี้ ถ้าเราไปมองทีละบล็อก การไปเชื้อเชิญเอกชนมา ก็อาจจะไม่น่าสนใจ เราทำเป็นเมือง แล้วเราเปิดกว้าง จุฬาฯ ลงทุนเองไม่ได้หรอกครับ จุฬาฯ เรามีงบประมาณจำกัดมีเงินจำกัด ฉะนั้น โครงการทั้งหลายที่ผมพูด เราต้องมีวางคอนเส็ปต์ วางแนวความคิดในภาพใหญ่ก่อน
ผมกับทีมงาน ก็ต้องเดินสายไปชวนนักลงทุนภาคเอกชนมาลงบล็อกต่างๆ บนคอนเส็ปต์ของเรา ยกตัวอย่าง สเตเดียมวัน ที่เป็นจุดนัดพบหรือรวมศูนย์ของธุรกิจกีฬาฯ
เราวางคอนเส็ปต์ เปิดสัมปทานให้เอกชน 7 ปี เขาก็มาลงไป มีการคัดเลือกกันก็ได้ไป แต่บนธุรกิจกรอบที่เราวางไว้
-งบการลงทุนบนทรัพย์สินที่ดินของจุฬาฯ ใน 291 ไร่ เขตปทุมวัน
ทั้งหมด ประมาณการน่าจะ 8 หมื่นล้าน แต่ว่าเราต้องให้เอกชนมาลงทุน เช่น สามย่านมิตรทาวน์ บนพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ทางโกลเด้นแลนด์ บอกว่าลงทุน 8 พันล้าน นั่นแค่บล็อกเดียว บนพื้นที่ 10 ไร่ แต่ลองจำลองภาพ 291 ไร่
ส่วนจุฬาฯ ลงทุน 4 พันล้าน ก็หมดกระเป๋าแล้ว ต้องเอารายได้ในอนาคตมาลงต่อ
- ร้านค้าในตำนานคู่จุฬาฯ
เมื่อกี้ที่ผมเล่าทั้งหมด ยังไปไม่ถึงสามย่าน ซึ่งมีโครงการดีๆ อีก 2 โครงการ สามย่านโอลด์ทาวน์ กับสามย่านคอร์ทยาร์ด เราจะคงอัตลักษณ์ ของตึกแถวแต่ให้ดูดีขึ้น ให้น่าเดินขึ้น ตรงจุฬาฯ ซอย 50 หรือริมถนนพระราม 4 คงอัตลักษณ์ตึกแถว ซึ่งเป็นเสน่ห์อีกแบบหนึ่ง เราไม่ได้ไปแข่งสร้างตึกสูง
คงอัตลักษณ์ไว้ให้มีของน่ารับประทาน ย่านน่าเดิน เป็น street food ที่อยู่ข้างใน เพราะมีข้อร้องเรียนว่าหาบเร่แผงลอยที่อยู่บนฟุตบาท ไปกีดขวางทางจราจร ไปกีดขวางทางเดิน
จริงๆ street food ไม่จำเป็นต้องอยู่บนถนนใหญ่นะ street food อยู่บนถนนในซอยก็ได้ เราก็จะเอา street food กลับเข้ามาถนนในซอย เพื่อไม่ให้กีดขวางทางเดินสาธารณะ แล้วก็เป็นเสน่ห์ เป็น walking street ได้ในบางช่วงเวลา
นี่จะเป็นโครงการ สามย่านคอร์ทยาร์ด รออีกแป๊บ ปีหน้าจะขึ้นโครงการ ตอนนี้อยู่ในช่วงออกแบบคอนเส็ปต์ แล้วเราต้องทำความเข้าใจกับผู้เช่าด้วย คือต้องยอมรับว่า ถ้าเราพัฒนาบนพื้นที่ที่มีผู้เช่าเดิมอยู่ มีตึกแถว มีคนประกอบธุรกิจอยู่ ก็ต้องขอความร่วมมือ เพราะบางครั้งก็มีการจับโยกย้ายบ้าง เพราะบางธุรกิจอาจจะไม่เหมาะ ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเป็นห้องเก็บของ มันก็ไม่เหมาะที่จะมาทำด้านนี้ ต้องขอความร่วมมือให้เขาขยับออก ส่วนร้านบางร้าน เราก็อยากให้อยู่ แต่อาจต้องขยับพื้นที่บ้าง เพราะเรามีการปรับปรุงอาคารให้เหมาะให้ทางเท้าน่าเดิน
เราดูตามสภาพ ถ้าตึกยังพอใช้ได้ เราก็จะรีโนเวท ให้น่าเดิน มีการทำทางเท้าให้น่าเดิน
-กิจการที่ จุฬาฯ จะอนุรักษ์ไว้
ขึ้นอยู่กับลักษณะธุรกิจที่เขาประกอบกิจการ อย่างตอนนี้ นโยบายชัดเจนว่า เราต้องขอความร่วมมือเซียงกงที่มีการเก็บของพวกคราบน้ำมัน เก็บของหน้าร้านแบบนี้อาจจะไม่เหมาะ เป็นธุรกิจที่ไม่เหมาะกับเมืองเรา (Smart Intellectual Society)
เราต้องขอความร่วมมือ ให้เขาย้ายพื้นที่ใหม่ เพราะตอนนี้ของเราเป็นเมือง เป็นเมืองในเมืองพื้นที่อาจจะไม่เหมาะ แต่ถ้าเป็นธุรกิจเดิมที่อยู่ได้ในชุมชนนี้ เราก็ยังอยากให้เขาอยู่นะ ต่อให้หมดสัญญา เราก็ยังอยากให้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นพวกร้านอาหารทั้งหลาย คลีนิค ร้านขายของ เราเชื้อเชิญให้อยู่ อย่างร้านขายตี่จู่เอี๊ยะยังอยู่เลยนะเป็นย่านหนึ่ง เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ แถวสามย่านอยู่แล้วว่าเป็นที่ขายตี่จู่เอี๊ยะ เราให้อยู่หมดเลย
แต่อาจจะต้องขอความร่วมมือบางร้าน เพราะเราเริ่มจัดโซนนิ่งแล้ว เราอยากทำให้คนน่าเดิน ฉะนั้น เรื่องผลิตภัณฑ์ก็ต้องเลือกบ้าง ว่าอยู่โซนต่างๆ
-อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความแตกต่างจากสวนสาธารณะอื่นๆ
คอนเส็ปต์การออกแบบอยากให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการใช้งาน ยกตัวอย่าง เช่น เลือกต้นไม้พื้นถิ่น คือต้นไม้ไทยเอง ไม่ใช่ต้นไม้อิมพอร์ต เพื่อให้ทนกับสภาพและเป็นแหล่งเรียนรู้ด้วยว่า ต้นไม้พื้นถิ่นมีอะไรบ้างเป็นลักษณะเด่นของสวน
นอกจากนั้น ยังเป็นพื้นที่รับน้ำ เพราะพื้นที่กลางเมืองกรุงเทพ ประสบปัญหาน้ำท่วมประจำ ทำยังไงให้เป็นพื้นที่ชะลอน้ำให้ออกท่อระบายน้ำของ กทม.
ข้อที่ 3 คือ นำน้ำกลับมาใช้ใหม่ จะเห็นว่ามีพื้นที่รับน้ำ มีบ่อน้ำ และมีการรีไซเคิล เอาน้ำกลับมารียูสใหม่ นี่เป็นคอนเส็ปต์
ข้อที่ 4 คนอาจจะคาดหวังว่าสวนต้องมีต้นไม้เยอะ แต่นี่เราปลูกต้นไม้ขนาดเล็ก เพื่อรอให้มันเติบโตเอง ที่สำคัญมากกว่าคือ มีพื้นที่กิจกรรม ไม่ใช่สวนร่มรื่นนั่งใต้ต้นไม้ แต่เป็นสวนกิจกรรมการเรียนรู้ เราจะมีลานกิจกรรมหลากหลาย มีลานใหญ่ 2 ลาน ลานเล็ก อีก 8 ลาน เพื่อให้คนมาทำกิจกรรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
‘ทวงหนี้ 4.0’ จุฬาฯ แจงหลังผู้ค้าโวยผิดหวังลงทุนเช่าที่สวนหลวงสแควร์
วิบากกรรมผู้ค้า เช่าที่ 'ทรัพย์สินจุฬาฯ' เจอคำโฆษณาสวนทางความจริง?