ไม่พบผลการค้นหา
รองปลัด กทม. เผยประเทศไทยมีสถิติคนตายบนท้องถนนสูงเป็นที่ 2 ของโลก ในกทม.พบผู้เสียชีวิตบนท้องถนนมากสุดในประเทศ เฉลี่ย 2 คนต่อวัน ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์

รองปลัด กทม. เผยประเทศไทยมีสถิติคนตายบนท้องถนนสูงเป็นที่ 2 ของโลก ในกทม.พบผู้เสียชีวิตบนท้องถนนมากสุดในประเทศ เฉลี่ย 2 คนต่อวัน ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์

นายวันชัย ถนอมศักดิ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย Mr.Kelly Larson ผู้อำนวยการมูลนิธิ Bloomberg Philanthropies แถลงผลงานความก้าวหน้าโครงการความปลอดภัยทางถนนของกรุงเทพมหานคร (Bloomberg Initiative For Global Road Safety) ซึ่งกรุงเทพมหานครร่วมมือกับมูลนิธิบลูมเบิร์ก (Bloomberg Philanthropies) โดย The Union North America ในการเป็นหนึ่งในสิบเมืองทั่วโลกที่มีการร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยทางถนน และหยุดยั้งการเพิ่มขึ้นของอัตราการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางถนน โดยโครงการฯ นี้ได้ริเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 มีระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 5 ปี (พ.ศ.2558-2562) 
 
รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตามที่องค์กรอนามัยโลกได้สำรวจพบว่า ประเทศไทยมีสถิติผู้เสียชีวิตบนถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก หรือราว 12,000 คนต่อปี  ในส่วนของกรุงเทพฯ พบว่ามีสถิติผู้เสียชีวิตบนถนนเป็นอันดับ 1 ของประเทศ กทม.ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยทางถนน ซึ่งในแต่ละวันมีคนเสียชีวิตบนถนนในกรุงเทพฯ เฉลี่ย 2 คนต่อวัน และในปี 2559 ที่ผ่านมาพบสถิติผู้เสียชีวิต 600 คน โดยเป็นผู้เสียชีวิตจากการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ในเขตชั้นนอกของกรุงเทพฯ กว่าร้อยละ 90 ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลพบว่ามี 12 เขตเสี่ยง ที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสูง เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ เขตลาดกระบัง บางขุนเทียน หนองจอก ประเวศ มีนบุรี ตลิ่งชัน สายไหม บางเขน ลาดพร้าว ดอนเมือง บางบอน และเขตจอมทอง
 
โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ มีจำนวนรถมอเตอร์ไซค์ที่จดทะเบียนราว 3.2 ล้านคัน และรถยนต์ราว 4.95 คน ซึ่งกล่าวได้ว่า ทุกคนใช้รถ ใช้ถนนในชีวิตประจำวัน และผู้เสียชีวิต เป็น เพศชายร้อยละ 85 ซึ่งร้อยละ 65 ของผู้เสียชีวิตเป็นประชากรวัยนักเรียน นักศึกษา และวัยทำงาน ช่วงอายุระหว่าง 16-55 ปี ทำให้เกิดความสูญเสียทรัพยากรทั้ง คน สิ่งของ และความรักความผูกพันของครอบครัว ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของผู้ใช้รถใช้ถนน ที่ทางกรุงเทพมหานครสามารถจะวางแผนช่วยคุ้มครองและปกป้องชีวิตของประชาชนจากอุบัติภัยทางถนนได้ คือ การจำกัดความเร็วที่เหมาะสม การรณรงค์และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นเรื่องเมาแล้วขับ การสวมหมวกนิรภัยที่เหมาะสมทุกครั้งในขณะขี่มอเตอร์ไซค์ และการคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งขณะขับขี่รถยนต์ รวมทั้งเรื่องการใช้ที่นั่งเด็กบนรถอย่างถูกต้อง
 
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวในตอนท้ายว่า ทางโครงการบลูมเบิร์กเพื่อความปลอดภัยทางถนน ร่วมกับสำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร สำรวจพบสถิติปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวของผู้ใช้รถใช้ถนน ดังนี้ 
1.ขับเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด กว่าร้อยละ 20  
2.เมาแล้วขับ หรือมีแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่ากฎหมายกำหนด ร้อยละ 20  
3.ผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ในกรุงเทพฯ สวมหมวกนิรภัยประมาณร้อยละ 50  
4.คาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับขี่ ประมาณร้อยละ 70  
5.การใช้ที่นั่งเด็กบนรถ ประมาณร้อยละ 20  

จากสถิติดังกล่าวทำให้วันนี้ทางกรุงเทพมหานครมีความเป็นห่วงในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน และไม่ต้องการให้เกิดความสูญเสียที่สร้างความเศร้าโศกเสียใจและความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และอยากให้ประชาชนชาวกรุงเทพฯ ทุกคนเดินทางสัญจรอย่างปลอดภัย กรุงเทพมหานครจึงได้สำรวจจุดเสี่ยงบนถนน รณรงค์และการสำรวจข้อมูลสถิติ เพื่อนำมาใช้วางแผนในการสร้างความปลอดภัยทางถนนทั้งระบบให้กับประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร โดยร่วมกับทางมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อความปลอดภัยทางถนนอย่างเข้มข้นต่อไป

 

ที่มา : กองประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog