ไม่พบผลการค้นหา
26 กรกฎาคมนี้ดีเดย์วันแรกการประกาศใช้ พ.ร.บ.การกู้ยืมทางการศึกษาฉบับใหม่ ซึ่งหลายฝ่ายวิตกว่าจะมีผลกระทบต่ออนาคตและโอกาสทางการศึกษาของเยาวชนไทย

26 กรกฎาคมนี้ดีเดย์วันแรกการประกาศใช้ พ.ร.บ.การกู้ยืมทางการศึกษาฉบับใหม่ ซึ่งหลายฝ่ายวิตกว่าจะมีผลกระทบต่ออนาคตและโอกาสทางการศึกษาของเยาวชนไทย

หลังจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ.มีผู้ที่ค้างชำระหนี้สะสมตั้งแต่ปี 2547 ถูกฟ้องร้องแล้วกว่า 900,000 ราย มูลหนี้รวมประมาณ 90,000 ล้านบาท ทำให้มีการพยายามปรับกฎหมายเพื่อให้สามารถการติดตามหนี้สินมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่เป็นสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ และได้กำหนดให้องค์กรนายจ้างมีหน้าที่หักเงินได้ที่มาจากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือนค่าจ้างฯ ของผู้กู้ยืมที่เป็นพนักงานลูกจ้างนำส่งกรมสรรพากรพร้อมกับการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเพื่อชำระหนี้คืนกองทุน นอกจากนี้ กองทุนสามารถขอข้อมูลหรือเปิดเผยข้อมูลเท่าที่จำเป็น   ของผู้กู้ยืม เพื่อประโยชน์ในการบริหารกองทุนและการติดตามการชำระเงินคืนเท่านั้น ซึ่งกฎหมายใหม่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงมิให้ผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้ต้องเสียเบี้ยปรับและถูกดำเนินคดี บังคับคดี เนื่องจากที่ผ่านมากองทุนมีฐานข้อมูลของผู้กู้ยืมที่ไม่เป็นปัจจุบันทำให้ยากต่อการติดต่อสื่อสารและไม่มีมาตรการเชิงบังคับในการชำระหนี้ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

ส่วนเกณฑ์การพิจารณาทุนก็จะมีการยากและซับซ้อนมากขึ้น โดยจำกัดจำนวนทุน และแบ่งประเภทเช่นหากเป็นนักศึกษายากไร้ก็จะขอให้ไปรับทุนอีกแบบ หรือหากเป็นสาขาสำคัญต่อประเทศก็จะได้รับทุนอีกแบบ รัฐเชื่อว่าจะเป็นการช่วยเหลือตรงจุดมากกว่า แต่แท้จริงแล้วรัฐควรคิดกำไร-ขาดทุนกับการดำเนินนโยบายสาธารณะมากแค่ไหน และจะมีทางอย่างไรให้ผู้กู้ยืมสามารถขำระได้ตามเป้าหมาย

กยศ. คือสิทธิ์ไม่ควรทำแบบสังคมสงเคราะห์

ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวีได้พูดคุยกับ อ.ศาสวัต บุญศรี อาจารย์ประจำสาขานิเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากรและอดีตผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา (กรุงเทพฯ)ผู้เคยผ่านการเป็นคณะกรรมการพิจารณาทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา แจงว่าในปัจจุบันจำนวนทุนของกยศ.ได้มีการจำกัดจำนวนและลดลงเรื่อยๆ โดยทางมหาวิทยาลัยจะได้จำนวนทุนมาก่อนจะแจกจ่ายไปยังคณะต่างๆ

อ.ศาสวัต ยกตัวอย่างกรณีนักศึกษาที่มากู้พบว่าส่วนมากเมื่อเข้าศึกษาปีที่1 เทอมที่1 มักจะกู้เงินนอกระบบมาจ่ายก่อนเพราะทุนจะเริ่มพิจารณาต่อเมื่อนักศึกษาเข้ามาเรียน นักศึกษาที่มากู้ยืมมีทั้งครอบครัวที่มีบุตรเยอะ ครอบครัวข้าราชการ รวมไปถึงกรณีคาดไม่ถึงคือผุ้ที่เคยมีรายได้ดีแต่ธุรกิจล้มเหลวจนต้องเป็นหนี้ โดยส่วนตัวอ.ศาสวัตมองว่าทุกคนมีความจำเป็นจึงเข้ามาสู่ระบบกู้ยืมของกยศ. ซึ่งมักจะบอกนักศึกษาที่ได้รับทุนเสมอว่า กยศ.ไม่ใช่ทุนให้เปล่าต้องใช้คืนในอนาคต

ด้านปัญหาที่มีคนค้างชำระหนี้จำนวนมาก อ.ศาสวัตอยากให้มอง 2 ด้าน ด้านแรกคือตัวของผู้กู้ยืมก็อาจจะขาดวินัยโดยคิดว่าเป็นเงินให้เปล่าจึงไม่ได้มีความรับผิดชอบในส่วนนี้จริงรวมไปถึงไม่ให้ความสำคัญกับการมาปฐมนิเทศทุนกยศ.ด้วย แต่อีกด้านก็คือระบบของกยศ.เองก็มีปัญหาในการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้กู้ยืม เช่น การส่งเอกสารเพื่อชำระเงินไม่มีความชัดเจน การเข้าถึงข้อมูลที่บกพร่องซ้ำซ้อน เช่นกรณีนักศึกษาคนหนึ่งไปชำระที่ธนาคารแล้ว แต่ยังมีการหักบัญชีซ้ำซ้อนอีก 

ส่วนระบบใหม่ที่จะนำมาใช้ อ.ศาสวัตเห็นด้วยในมุมของประสิทธิภาพในการติดตามหนี้สินเช่น การเชื่อมโยงข้อมูลเครดิตบูโรเพราะเชื่อว่าจะทำให้คนมาชำระมากขึ้นเพราะกลัวติดบูโร แต่ไม่เห็นด้วยในการที่รัฐพยายามจะจำกัดทุนให้เฉพาะกลุ่ม และให้บางกลุ่มไปรับทุนยากได้ เพราะกยศ.นั้นเป็น "สิทธิ์"มากกว่าระบบสังคมสงเคราะห์ ที่ทุกคนสามารถมีสิทธิ์ขึ้นกับว่าเลือกจะใช้หรือไม่ รวมไปถึงระบบที่คสช.นำมาใช้กับกยศ.ที่ให้มีการทำกิจกรรมจิตอาสาของนักศึกษาที่กู้ยืมเพื่อ "ปลูกฝังจิตสำนึก" ก็เป็นปัญหาเพราะในทางปฏิบัตินักศึกษาที่กู้ยืมไม่สามารถมาปฏิบัติจิตอาสาได้จริงเพราะต้องไปทำงานพิเศษเพื่อหาเงินมาเรียนมากกว่า จึงอยากให้ทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog